posttoday

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

16 กุมภาพันธ์ 2563

โดย... อุทัย มณี  (เปรียญ)

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนไปร่วมการประชุมคณะกรรมการอบรมพระธรรมทูต ของวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ในฐานะ ประธานผู้กำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นประธาน มีพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระเทพพุทธิวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา มาร่วมพูดคุย ผู้บริหารมหาจุฬาฯ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นก็เป็นบรรดาเจ้าอาวาสในประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป รวมทั้งในเอเชียหลายประเทศมาร่วมประชุม

เริ่มต้น พระโสภณวชิราภรณ์ ในฐานะรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นแม่งานการอบรมครั้งนี้ เล่าว่า “ การอบรมพระธรรมทูตเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา ต่อมาในปี 2538 มหาเถรสมาคมได้อนุมัติให้ดำเนินการอบรมพระธรรมทูตเป็นมีหลักสูตรระดับวุฒิบัตร โดยในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมอบหมายให้กับมหาจุฬา ฯ เป็นแม่งานในการดำเนินการอบรม

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พระธรรมทูตสายอินเดีย -เนปาล องค์กรพระธรรมไทยในโอเชียเนีย และองค์กรพระธรรมทูตในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งการอบรมพระธรรมทูตได้อบรมไปแล้ว 25 ครั้ง มีพระธรรมทูตกระจายอยู่ทุกทั่วมุมโลกจำนวน 2,007 รูป

สำหรับปีนี้การอบอบรมตั้งเป้าไว้รับ 90 รูป แต่ปัจจุบันมีพระภิกษุมาสมัครเกินแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็คงต้องสอบคัดเลือก..โดยจะเปิดอบรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 26 พฤษภาคม 2563..”

นอกจากนั้นพระคุณเจ้าก็สะท้อนปัญหาการอบรมเพื่อให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้รับทราบ รวมทั้งคณะผู้บริหารมหาจุฬา

ผู้เขียนเคยไปเห็นพระธรรมทูตในวัดไทยต่างแดนและมีพระภิกษุที่รู้จักหลายรูปที่เป็นพระธรรมทูต การใช้ชีวิตพระธรรมทูตในต่างแดนค่อนข้างลำบาก ช่วงที่ผู้เขียนไปเป็นฤดูหนาว พระท่านต้องอยู่แต่ในกุฎิ ออกจากวัดไม่ได้ เพราะหิมะตก อาหารการฉันหากไม่มีโยมมาถวายก็ต้องทำเอง การซ่อมแซมวัดเบื้องต้นก็ต้องทำเอง คือ ต้องทำทุกอย่าง หากจิตไม่แข็ง ไม่สามารถอยู่ในต่างประเทศไทย ยิ่งบางประเทศที่มีคนไทยน้อย การสื่อสารลำบาก ต้องขับรถไปซื้ออาหารฉันเอง บิณฑบาตก็บิณเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญในบริเวณวัดเท่านั้น

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

บทบาทพระธรรมทูต นอกจากเผยแผ่ศาสนาแล้ว สิ่งหนึ่งที่พระธรรมทูตทำ คือ การอบรมสั่งสอนให้คนไทยและลูกหลานที่อยู่ต่างแดน ต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของไทยเอาไว้ทั้งภาษาพูด ทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย บางวัดพระธรรมทูตต้องสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ต่างชาติตามโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย อันนี้ไม่นับวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่ทางวัดจัดขึ้น และรวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

การไปร่วมประชุมในคราวนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พระธรรมทูตไทย 2 รูป  รูปแรกเป็นพระธรรมทูตรุ่นที่ 13 เดิมอยู่วัดเทวราชการกุญชร กรุงเทพมหานคร ชื่อ พระมหาวินัย วินยธโร ปัจจุบันจำพรรษาอยู่วัดเทวราชเวนิช ประเทศอิตาลี ซึ่งพระคุณเจ้าอยู่ประเทศนี้มาแล้ว 9 ปี

“ประเทศอิตาลีมีวัดไทยอยู่ 5 วัด สำหรับวัดเทวราชเวนิชมีอาตมาอยู่รูปเดียว เนื่องจากพระขอวีซ่าเพื่อไปจำพรรษาอยู่ในประเทศอิตาลีลำบากมาก แม้รัฐบาลอิตาลีรับรองให้พระพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาเดียวที่เผยแผ่ในอิตาลีได้ ก็ตาม..”

ประชาชนอิตาลีเป็นคนเคร่งศาสนา หากจะว่าไปแล้วประเทศอิตาลีเป็นประเทศแห่งเมืองศาสนา คนอิตาลีเขามาวัดเพื่อมานั่งสมาธิ ปฎิบัติธรรม เขาศึกษาธรรมะของพระพุทธศาสนา

“อาตมาค่อนข้างมีปัญหาด้านการสื่อสารกับคนอิตาลี เพราะคนอิตาลีสื่อสารด้วยภาษาถิ่น ไม่เน้นภาษาอังกฤษ สำหรับคนไทยในอิตาลีมีน้อย และวัดจะจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ วัดก็จะเป็นศูนย์รวมของประชาชนคนไทยที่อิตาลี ซึ่งส่วนใหญ่มีครอบครัวกับคนอิตาลี แต่ก็มีบ้างที่มาทำงานมีครอบครัวอยู่ที่นี่..”

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

ส่วนอีกรูปหนึ่ง พระมหาอาวิชญ์ อาวิชชญฺญู เดิมอยู่วัดมหาธาตุรวราชรังสฤษฎิ์ ปัจจุบันอยู่วัดพุทธวิหาร เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่านเล่าว่า ท่านจบปริญญาโทมาจากประเทศญี่ปุ่น แล้วจึงเข้ามาบวช เมื่อบวชแล้วก็ไปอยู่ประเทศอังกฤษ 2 ปี แล้วจึงเดินทางไปจำพรรษาวัดพุทธวิหาร เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

“วัดที่อาตมาอยู่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว ปัจจุบันมีพระอยู่ 11 รูป สำหรับอาตมาตอยู่เนเธอร์แลนด์มาแล้ว 10 ปี การใช้ชีวิตพระที่นี้ พระต้องทำได้ทำอย่างทั้งนำวัตรสวดมนต์ ทั้งรับสังฆทาน สอนหนังสือตามโรงเรียน ต้องเป็นช่างก่อสร้างได้พอสมควร พิมพ์หนังสือทำเอกสารได้ หรือแม้กระทั้งสอนกรรมฐานก็ต้องได้..”

สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์มีวัดไทยอยู่ 4 วัด ของคณะสงฆ์ธรรมยุต 1 วัด มหานิกาย 3 วัด คนไทยในประเทศนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร ตามสถิติประมาณ 15,000 คน

“พระธรรมทูตแบบอาตมาไม่มีเงินเดือน เรามาที่นี้เพื่อมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา มาดูแลญาติโยมให้มีขวัญและกำลังใจการใช้ชีวิตที่นี้ ในขณะเดียวกันวัดต้องเป็นศูนย์กลางในการที่จะเชิญชวนคนไทยมาร่วมทำบุญในเทศกาลสำคัญ ๆ วัดต้องเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนคนไทยที่นี่ต้องรู้จักศิลปะวัฒนธรรมไทย ต้องรู้จักพระพุทธศาสนา ต้องรู้ถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ เช่นพระมหากษัตริย์เป็นต้น..

บางคนบางท่านนึกว่าการเป็นพระอยู่ต่างแดนจะสบาย อยู่ดีกินดี ความจริงไม่ใช่ เวลาอยู่วัดแขกฝรั่งมาต้องคุย ต้องนำปฎิบัติ อย่างตัวอาตมานี้ ต้องทำเอกสารรายการประจำปีส่งให้กับสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศด้วย..”

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน

บทบาทพระธรรมทูตในต่างแดนหากจะว่าไปแล้วพระคุณเจ้าไปทำหน้าที่ใน 2 บทบาทด้วยกันคือหนึ่ง ในฐานะสาวกของพระพุทธเจ้าต้องเดินทางจากบ้านเกิดถิ่นกำเนิดไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศที่ตนเองไปจำพรรษาอยู่ อีกฐานะหนึ่งในฐานะพลเมืองไทย คือ เดินทางไปทำหน้าที่ในการสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนชาวไทยที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ  ทั้งทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนรักษาอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของไทยมิให้สูญหายไป

และทั้งหมดทั้งมวล..พระธรรมทูต ท่านทำด้วยจิตอาสา มิได้มีเงินเดือน มิได้มีรางวัลอะไรเป็นเครื่องล่อใจ ทำเพราะจิตสำนึกในความเป็นลูกพุทธะล้วน ๆ

ส่องวีถีชีวิต..พระธรรมทูตไทยในต่างแดน