posttoday

เปิดใจ : เจ้าคุณประสารกับความตั้งใจ 3 เรื่อง

09 กุมภาพันธ์ 2563

โดย อุทัย มณี ( เปรียญ )

หลังจากพระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร ปรากฎชื่อเป็นอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ สภาผู้แทนราษฎร สังคมไทยก็ฮือฮาและเฝ้าคอยติดตาม พร้อมตั้งคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม พระคุณเจ้าจะไปทำอะไรบ้าง ทั้งมีคนเชียร์และคัดค้าน มีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ความจริงพระภิกษุเข้าไปนั่งเป็นอนุกรรมาธิการในรัฐสภา มิใช่เรื่องใหม่ ทุกยุคทุกสมัยก็มีแบบนี้เว้น ยุคเผด็จการ ที่ไม่ต้องการให้สังคมเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย คณะสงฆ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากสภาผู้แทนออกกฎหมายมาแล้ว อาจส่งผลกระทบได้ สภาผู้แทนราษฎรจึงนิยมให้พระสงฆ์เข้าไปส่วนร่วมเสนอแนะร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น

ผู้เขียนติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าคุณประสารแบบเงียบ ๆ ความเคลื่อนไหวของเจ้าคุณประสารได้รับความสนใจจากสื่อและชาวพุทธมาก เหตุผลเพราะ ในวงการคณะสงฆ์มิมีใครกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่เราเรียกว่าวิธีคิด เชิงรุก ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา เพื่อปกป้องสังฆมณฑลได้อย่างเจ้าคุณประสาร มิมีพระสงฆ์รูปใดกล้าที่ออกมารับแรงปะทะได้แบบนี้  “แต่พวกเราชาวพุทธกลับปล่อยให้บางศาสนาแผ่กระจายศาสนสถานรุกคืบเงียบ ๆ ทั่วประเทศไทย ค่อย ๆ กลืนภาษีและวิถีชีวิตชาวพุทธแบบไม่ต้องออกแรงอะไรเลย โดยมีชนชั้นปกครองบางคนและกฎหมายแบบเจ้าคุณประสารทำอยู่นี่แหละ เป็นเกราะป้องกัน”

เปิดใจ : เจ้าคุณประสารกับความตั้งใจ 3 เรื่อง

จำได้ว่าตอนที่เจ้าคุณประสารเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ สภาผู้แทนราษฎร ท่านพูดเอาไว้ว่าจะตั้งใจทำ 3 เรื่อง คือ 1.พ.ร.บ.คุ้มครองพุทธศาสนา 2.ธนาคารพุทธศาสนาและ 3.พ.ร.บ.แม่ชี

แค่ด่านแรก เรื่องพ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนานี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ความจริงการขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ.ส่งเสริมพระพุทธศาสนานี้ มิใช่เรื่องใหม่สำหรับเจ้าคุณประสาร สมัยทักษิณ สมัยอภิสิทธิ์ หรือแม้กระทั้งสมัยยิ่งลักษณ์ ก็เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตลอดและต่อเนื่อง

กระทั้งธนาคารพระพุทธศาสนา เจ้าคุณประสารก็เคยร่วมกับ กลุ่มชาวพุทธ และนักการเมือง เพื่อผลักดัน แต่สุดท้ายก็ “แท้ง” ทุกครั้ง เพราะวิธีคิดของชนชั้นปกครองหรือแม้กระทั้งนายทุน มิยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร “ยามศึกเราร่วมรบ ยามได้อำนาจเราขอความสามัคคีของคนในชาติ”

“ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำเพื่อคณะสงฆ์ พระศาสนาและส่วนรวม ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่มีการเมือง ไม่มีวัดใดวัดหนึ่งร่วมมือ และพร้อมจะรับฟังพระผู้ใหญ่และเคารพมติมหาเถรสมาคม

อย่าจับแพะชนแกะ อย่ามุ่งทำลาย  ให้มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

อาตมาเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ๆ รูปหนึ่งในสังฆมณฑลที่มีความห่วงใยอนาคตของพระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ช่วยกันพยุงรักษาพระศาสนาจะดีกว่าอย่ารังเกียจมีอคติแล้วมุ่งร้ายต่อกันเลย

ส่วนตัวอาตมานั้นอาตมาทราบดีมาตลอดว่ามีทั้งคนให้ดอกไม้และก้อนอิฐ แต่อยากให้ใช้สติมองเจตนาเป็นตัวตั้งอย่าใช้อารมณ์เอาความสะใจเข้าว่าโดยละเลยโยนิโสมนสิการตามหลักพระพุทธศาสนา...”

เป็นคำปรารภของเจ้าคุณประสาร คำพูดแรกที่เจอหน้ากับผู้เขียนในบ่ายวันหนึ่ง ที่ผู้เขียนขอนัดเปิดใจว่า ข้อสงสัยของสังคมไทยว่า จริงไหมเจ้าคุณประสารไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย เจ้าคุณประสารเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัดธรรมกายจริงหรือไม่ อยากเห็นชาวพุทธบ้านเรามองการเคลื่อนไหวในครั้งนี้อย่างไรบ้าง ผู้เขียนยิงคำถามแรกที่อยากรู้มานานว่า

เปิดใจ : เจ้าคุณประสารกับความตั้งใจ 3 เรื่อง

จริงหรือไม่ เจ้าคุณฝักใฝ่การเมือง

อย่างที่บอกว่า อาตมามีใจบริสุทธิ์ ทำทุกอย่าง เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เพื่อคณะสงฆ์ส่วนรวม ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ   อาตมาเชื่อดังที่สมเด็จพระพุฒาจารย์หรือสมเด็จเกี่ยวท่านว่าเอาไว้ว่า การรักษาสังฆมณฑล คือการรักษาสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ วันหนึ่งประเทศไทย หากไม่มีพระพุทธศาสนา ที่คอยคุ้มครองทางจิตใจของประชาชนให้ยึดมั่นภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร

การเสนอ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น หน้าที่ที่จะต้องเสนอนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่ารูปร่างหน้าตาควรจะออกมาอย่างไรนั้น อันนี้ละควรจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ไม่เพิกเฉย พระสงฆ์จึงสมควรยิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในส่วนของขั้นตอนนี้ องค์กรใหน หน่วยงานใดที่จะต้องเป็นผู้ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.นั้นๆคนในองค์กรและหน่วยงานนั้น ๆควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ ใครก็ไม่รู้มาตัดกางเกงให้อีกคนหนึ่งใส่ มันจะเข้ากันได้ใหม มันจะเหมาะจะสมใหม จะใช้ได้หรือไม่ อาตมาจึงเข้ามาในส่วนของขั้นตอนตรงนี้ ไม่ใช่ส่วนทางการเมือง

ในอดีตพระสงฆ์เรามีบทบาทต่อสังคมไทยมากทั้งเรื่อง เป็นศูนย์กลางในการแก้ความขัดแย้งในชุมชนหมู่บ้าน ทั้งเรื่องเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐกับชุมชน ส.ส.กับชุมชน หรือแม้ทั้งเรื่องการศึกษา มีเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางทั้งนั้น บทบาทนี้จะเห็นว่าในอดีตคณะสงฆ์เราก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวกับภาครัฐ

หากศึกษาประวัติศาสตร์วิวัฒนาการเมืองคณะสงฆ์เมืองไทย ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา พระสงฆ์เราล้วนเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองและมีส่วนร่วมในการสร้างชาติมาทั้งนั้น

“อาตมาไม่ยุ่งกับการเมืองอะไรเลย ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีนี้จะเห็นว่า อาตมาพยายามนิ่งมาตลอด วันหนึ่งเมื่อมีโอกาส รัฐบาลเขาให้เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนะอะไรต่ออะไรได้ เพื่อกิจการพระศาสนา เพื่อคณะสงฆ์ เป็นช่องทางที่ถูกกฎหมายและถูกต้อง อาตมาอยากก็ทำเพื่อคณะสงฆ์..”

การเสนอร่าง พ.ร.บ.คราวนี้ทำไมจึงมีแต่พรรคเพื่อไทย

อาตมาเคยชี้แจงไปแล้วว่า ผู้นำในการเสนอพระราชบัญญัติ ครั้งนี้ คือท่านนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ภูมิหลังท่านเป็นมหาเป็นนักบวช และเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพระสงฆ์สามเณรในทุกระดับรวมทั้งในมหาจุฬาฯด้วยท่านจึงเข้าใจและปรารถนาดีต่อคณะสงฆ์  ส่วนคำถามต่อไปว่า ทำไมมีแต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อสนับสนุนในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

เหตุเพราะท่าน นิยม เวชกามา ท่านเป็น ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองพรรคนี้ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดเมื่อจะเสนอพระราชบัญญัติใดๆในสภาจะต้องแสวงหาพรรคพวกในพรรคตัวเองเป็นหลัก เมื่อพบกันในที่ประชุมพรรคบ้าง นั่งในห้องเดียวกันบ้างก็ขอแรงช่วยเซ็นเสนอเพื่อให้ครบตามจำนวนชื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมชาติแบบนี้ด้วยกันทุกพรรค ทุกคน จึงไม่มีอะไรแปลกเป็นพิเศษอะไรในการเสนอกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร

เปิดใจ : เจ้าคุณประสารกับความตั้งใจ 3 เรื่อง

ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับวัดธรรมกาย

อาตมาเคยยืนยันกับสื่อและสังคมหลายครั้งแล้วว่า ในชีวิตนี้ไม่เคยเข้าไปที่วัดดังกล่าว ไม่เคยเป็นมือปืนรับจ้าง ไม่เคยรับงานใครมาทำ ยืนยันชัดเจน ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นมุ่งทำงานเพื่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ส่วนบางท่านที่มาเป็นคณะอนุกรรมาธิการร่วมกันนั้น ถูกจับตาว่าเคยเกี่ยวข้องกับวัดดังกล่าว อาตมาได้ยืนยันต่อคณะอนุกรรมาธิการว่า ไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยติดต่อกัน เคยพบครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง การเป็นอนุกรรมาธิการของท่าน อาตมาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการจับแพะชนแกะ เป็นการขัดแย้งขัดขากัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย

“ อาตมาขอร้องเพียงว่า อย่ากล่าวโจมตี ให้ร้าย มุ่งทำลายเพราะมีอคติเข้าครอบงำ บ้านเมืองของเราต้องการความสามัคคี เพื่อเดินหน้าประเทศไปสู่การกินดีอยู่ดีของคนทั้งประเทศ ท่านทั้งหลายตั้งสติและให้ความเป็นธรรมกับสิ่งที่อาตมาทำ อาตมามิได้ทำเพื่อตัวเอง สิ่งที่อาตมาทำ ๆ เพื่อส่วนรวม มีประโยชน์ต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา และประเทศชาติโดยรวม อย่ามุ่งทำลายล้างคนที่เราไม่ชอบโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น พอได้แล้วโยม”

ความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้เสนอให้เหตุผลว่า “โดยที่ศาสนาพุทธเป็นสถาบันหลักในสามสถาบันของราชอาณาจักรไทย คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้ใช้หลักธรรมในการสร้างศีลธรรมปัญญาและความเข้มแข็งของคนในชาติ อันเป็นหลักในการค้ำจุนมาตลอด สมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจกันในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไป รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีคาดว่าคงส่งให้มหาเถรสมาคมร่วมพิจารณา ส่วนจะออกทางไหน เป็นไปในทิศทางใด พวกเราชาวพุทธ คงต้องยอมรับ ไม่เว้นแม้กระทั้งเจ้าคุณประสาร

ต่อจากนี้ไปอีก 2 เรื่องที่สังคมจะต้องจับตามองคือ เรื่อง ธนาคารพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำหรับชาวพุทธมาเนิ่นนานว่า ต้องการมีธนาคารพุทธศาสนา และอีกเรื่องคือเรื่อง พ.ร.บ. แม่ชี ปัจจุบันแม่ชี เป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ เท่าที่ทราบ กระทรวงมหาดไทยจัดกลุ่มแม่ชีว่า เป็น นักบวช แต่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจัดว่า มิใช่นักบวช สิทธิต่าง ๆ จึงไม่มีอะไรเลย  คงต้องติดตามว่าการรุกคืบของพระเมธีธรรมาจารย์ในรัฐสภา ที่เป็นไปตามกฎหมายจะประสบความสำเร็จหรือไม่..กำลังใจจากชาวพุทธเป็นสิ่งสำคัญ