posttoday

อรัญประเทศโมเดล “สังฆะประชาปันสุข  : เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”

27 ตุลาคม 2562

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นหากไม่มีเงินออมเพื่อเลี้ยงตัวเองหรือดูแลสุขภาพยามสูงวัย ครอบครัวนั่น ๆ ย่อมประสบกับปัญหาแน่แท้

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

สหประชาชาติกำหนดไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ให้ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

จากข้อมูลประชากรของประเทศไทยปี 2558 จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของประชากรทั้งหมด แปลว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

อรัญประเทศโมเดล “สังฆะประชาปันสุข  : เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”

ประเทศใด ๆ ก็ตามมีจำนวนผู้สูงอายุมาก จำนวนคนทำงานลดลง อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดน้อย ประเทศนั่น ๆ ย่อมประสบกับปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นหากไม่มีเงินออมเพื่อเลี้ยงตัวเองหรือดูแลสุขภาพยามสูงวัย ครอบครัวนั่น ๆ ย่อมประสบกับปัญหาแน่แท้ ยิ่งหากครอบครัวใดประสบกับเจ็บไข้ได้ป่วยยามแก่ชราหรือไม่แก่ชราก็ตามที่เราเรียกกันว่า ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนในครอบครัวยิ่งเดือดร้อน ผู้ป่วยเองก็ทุกข์แสนสาหัสเพราะพึ่งตัวเองไม่ได้

ผู้เขียนมีกิจกรรมที่นำมาเล่า เป็นกิจกรรมของคณะสงฆ์อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่นี้คณะสงฆ์ได้ร่วมการจัดกิจกรรม สังฆะประชาปันสุขเพื่อผู้ป่วยติดเตียง” เพื่อขับเคลื่อนงาน "สาธารณสงเคราะห์เชิงรุก โดยมี พระมหาศราวุธ จิตฺตทนฺโต เจ้าคณะอำเภออรัญประเทศเป็นแกนนำ ร่วมกับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส และชาวบ้าน ออกเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงเดือนละครั้ง ซึ่งผู้ป่วยติดเตียงในอำเภอมีทั้งหมด 163 ราย เวลาออกเยี่ยมจะมอบแพมเพิส ข้าวสารอาหารแห้ง และสวดโพชฌังคปริตร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัว

อรัญประเทศโมเดล “สังฆะประชาปันสุข  : เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”

คณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศได้จัดกิจกรรมออกเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่หมู่บ้านของตนเอง ออกเยี่ยมญาติโยมผู้เคยใส่บาตร ผู้เคยดูแลคณะสงฆ์แบบนี้ จึงนับว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมการส่งเสริม "พลังบวร" เพราะมีความร่วมมือจากจากทุกฝ่าย ทั้งคณะสงฆ์ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม)ในพื้นที่, และพุทธศาสนิกชน

กิจกรรมนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่คณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศ ได้ร่วมกับฝ่ายบ้านเมือง ร่วมกันขับเคลื่อนงาน “สาธารณะสงเคราะห์”  ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ภารกิจหลักของคณะสงฆ์ไทย ทั้งยังได้ฟื้นความหมาย คำว่า “พลังบวร” ในการทำงานร่วมกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ด้วยความสามัคคีของพุทธบริษัททั้ง 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในฐานะชาวพุทธเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแล หรือแม้กระทั้งเด็กพิการที่อาศัยอยู่กับครอบครัว สิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดนอกจากการเลี้ยงชีพแล้วนั่นคือ ขวัญและกำลังใจ ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เห็นผู้ป่วยติดเตียงที่ยากจนพึ่งตนเองไม่ได้มีลูกสาวดูแลเพียงคนเดียว แต่ด้วยความยากจนลูกสาวต้องออกไปทำงานทุกวัน จึงปล่อยให้พ่อซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่บ้านอยู่ตามลำพัง โดยเตรียมอาหาร ผ้าแพมเพิส น้ำเตรียมไว้ข้าง ๆ รายนี้โชคดีพอขยับร่างกายได้ จึงไม่เป็นแผล แต่ลำบากตอนต้องไปห้องสุขา เพราะเดินไม่ได้ ด้วยความที่ไม่ได้ทำกายภาพขาจึงงอ เส้นยึด เวลาอาบน้ำต้องอุ้มไปอาบ ป่วยแบบนี้อยู่ประมาณ 3 ปี ตอนนี้ผู้ป่วยรายนี้ได้เสียชีวิตลงแล้ว

อรัญประเทศโมเดล “สังฆะประชาปันสุข  : เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”

การที่คณะสงฆ์อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทำกิจกรรม สังฆะประชาปันสุขเพื่อผู้ป่วยติดเตียง ด้านสาธารณสงเคราะห์เชิงรุกแบบนี้ ฝ่ายบ้านเมืองและคณะสงฆ์น่าจะเป็นนำเป็นโมเดล เพื่อขับเคลื่อนไปสู่อำเภอและจังหวัดอื่น ๆ

แน่นอนว่ากิจกรรมแบบนี้บรรดาพวกเคร่งครัดสุดโต่งอาจไม่เห็นด้วย แต่อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า คณะสงฆ์เมืองไทยมีหลายประเภท บางพวกบวชมาเพื่ออยากหลุดพ้นก็อาศัยอยู่ป่า บางพวกบวชตามประเพณี บวชเพื่อเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้าน บางพวกบวชมาเพื่อรับใช้ทำงานให้ศาสนา บางคนบวชมาเพื่อเรียนหนังสือแล้วลาสิกขาออกมารับใช้สังคม

การบวชมีหลายมิติ แล้วแต่ความสมัครใจ ชาวพุทธ นักการศาสนา นักวิชาการจะเอาความรู้สึกไปตัดสินการเป็นอยู่ของพระสงฆ์มิได้ และกิจกรรมด้านสาธารณะสงเคราะห์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงแบบนี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทยขาด ภาครัฐก็ดูแลไม่ทั่วถึง การที่คณะสงฆ์ทลายกำแพงวัด ดำเนินกิจกรรมแบนี้ สมควรร่วมกันอนุโมทนา..

อรัญประเทศโมเดล “สังฆะประชาปันสุข  : เพื่อผู้ป่วยติดเตียง”