posttoday

เปิดใจ..พระนักปั้นวิศวกรสันติภาพ

20 ตุลาคม 2562

การเรียนสันติศึกษาความจริงไม่ได้เอาเครื่องมือไปจัดการคนอื่น แต่เรียนเพื่อจัดการตนเองให้มีความสุข สงบ เย็น มีสันติภายใน

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

หลายปีมานี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างน่าใจหาย ปัจจุบันแม้จะเบาบางลงไปบ้าง แต่เชื้อแห่งความขัดแย้งยังไม่จางหายไป และพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีทั้งมติทางการเมือง เศรษฐกิจและฐานะทางสังคม นักวิชาการบางคนบางกลุ่มเชื่อว่า มีปัจจัยจากภายนอกประเทศเข้ามาผสมโรงด้วยก็มี

เปิดใจ..พระนักปั้นวิศวกรสันติภาพ

สถาบันการศึกษาหลายสถาบันในประเทศไทย พยายามศึกษาวิจัยหาทางออก แต่เรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องที่พลเมืองไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อไร สิ่งที่เรามักนึกถึงคือ “สันติวิถี” 

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ พระอาจารย์ปราโมทย์  วาทโกวิโท พระอาจารย์จากหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำไมจึงสนใจเรื่องสันติภาพ และสันติภาพในสังคมไทยเราจะต้องร่วมมือกันหาทางออกกันอย่างไร

ทำไม พระอาจารย์จึงสนใจเรื่องสันติภาพ?

อาตมาจบปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลกรณราชวิทยาลัยหรือ มจร รุ่นแรกโดยมีสถาบันพระปกเกล้า ศาลยุติธรรมและมหาจุฬาฯร่วมมือกันเปิดหลักสูตรขึ้น ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเกิดความขัดแย้งที่เห็นชัดทางการเมือง และในตอนนั้นทำงานเป็นวิทยากรธรรมะโอดี ธรรมะพัฒนาองค์กร ฝึกอบรมบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จึงต้องการเครื่องมือแนวทางพระพุทธศาสนาและแนวทางตะวันตกเพื่อนำมาบูรณาการประยุกต์ในการฝึกอบรมในองค์กร จึงตัดสินใจเรียนสันติศึกษา ซึ่งเป็นสาขาที่ตอบโจทย์การทำงานเป็นวิทยากรและการดำเนินชีวิตที่มีความสุข

การเรียนสันติศึกษาความจริงไม่ได้เอาเครื่องมือไปจัดการคนอื่น แต่เรียนเพื่อจัดการตนเองให้มีความสุข สงบ เย็น มีสันติภายใน อันเป็นหลักการตรงกับความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ยอมรับเคารพในความแตกต่าง การเป็นวิทยากรฝึกอบรมเราพยายามจะไปช่วยผู้อื่นให้มีความสุขแต่เราเองยังขาดความสุขยังมีความเร้าร้อนอยู่ สันติศึกษาจึงสามารถตอบโจทย์ชีวิต

ที่สนใจเรื่องสันติภาพเพราะต้องการนำเครื่องมือด้านสันติภาพแนวพุทธศาสนาและสันติภาพแนวตะวันตก มาเยียวยาหัวใจตนเองให้มีสันติภายใน มีภูมิคุ้มกันป้องกันความรุนแรงภายในใจของตน และต้องการนำสันติภาพไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ออกแบบการเรียนรู้ที่ป้องกันความขัดแย้งและเสริมสร้างสันติภาพขึ้นในใจของผู้คนในองค์กรต่างๆ  เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี  การทำงานด้านสันติภาพจึงเป็นโอกาสในการช่วยเหลือมนุษย์ ”

เปิดใจ..พระนักปั้นวิศวกรสันติภาพ

จุดเริ่มต้นของสันติภาพ ฉบับมหาจุฬาคืออะไร ?

สันติภาพเป็นงานพระพุทธเจ้าโดยตรง เพราะพระองค์ตรัสไว้ชัดว่า “พึงศึกษาสันติเท่านั้น” ซึ่งหมายถึง พระนิพพาน โดยสันติภายในคือความสงบสุขภายในจิตใจ สันติภายนอกคือการไม่มีสงคราม ความสงบสุขของผู้คนในการอยู่ร่วมกันถึงจะมีความแตกต่างกันในวิถีปฏิบัติก็ตามทำให้ พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาจุฬา ฯ สนับสนุนให้เกิดหลักสูตรสันติศึกษาขึ้นในมหาจุฬา ฯ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าและศาลยุติธรรม โดยมี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ซึ่งเริ่มแรกจากการทำวิจัยในระดับปริญญาเอกเรื่อง “รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี” จึงมีการพัฒนาเป็นหลักสูตรสันติศึกษา เปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก มีผู้คนมาเรียนจำนวนมากเพราะต้องการความสุขจากภายใน เพราะจุดเด่นและเสน่ห์ด้านสันติภาพของมหาจุฬา ฯคือ มุ่งสันติภายใน มุ่งการจบภายใน ก่อนออกไปทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ เรียกว่า จบประโยชน์ตนนึกถึงประโยชน์คนอื่น

วิศวกรสันติศึกษา หมายถึงใคร?

ในโลกใบนี้มีเราวิศวกรในการสร้างภายนอกคือ อาคาร ตึก บ้าน วัตถุภายนอกจำนวนมาก แต่เรายังขาดวิศวกรในการสร้างภายในคือ สร้างจิตใจที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สร้างภายในที่แท้จริง หลักสูตรสันติศึกษามหาจุฬา จึงสร้างวิศวกรสันติภาพ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ วิศวกรสันติภาพจึงเป็นผู้พัฒนาตนให้มี #สติขันติสันติ แล้วเอาธรรมไปทำ ด้วยการลงมือทำ ผู้จะเป็นวิศวกรสันติภาพจึงต้องมีความสงบเย็น นุ่มนวล มีสันติภายใน มีความใจกว้าง ยอมรับต่อความแตกต่าง รับฟังผู้อื่น เป็นผู้จบภายใน แล้วไปสร้างประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ในจุดที่ตนเองยืน เรียกว่า เปลี่ยนแปลงสังคมในจุดที่ตนยืน

วิศวกรสันติภาพสามารถตอบโจทย์ในสังคมไทย?

เริ่มต้นจากการตอบโจทย์ตนเองก่อนด้วยการเป็นผู้สงบเย็นแล้วไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เพราะสันติส่วนบุคคลเป็นสันติภาพสากลของโลก สันติศึกษาจึงสร้างวิศวกรสันติภาพให้เป็นบุคคลที่มีความสุขจากภายในก่อนออกไปทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ งานวิจัยในระดับปริญญาเอกจึงเน้นภาคทฤษฏีและนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนต่างๆ วัด บ้าน โรงเรียน สังคม องค์กร และประเทศชาติ ล่าสุดงานวิจัยที่มีผลวิจัยเป็นนวัตกรรมเป็นงานวิจัยรับใช้สังคม คือ รูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธี เป็นงานวิจัยเชิงพัฒนา มีการทดลองจริง ได้องค์ความรู้ใหม่ เป็นนวัตกรรม นำไปพัฒนามนุษย์และสังคม จึงมีการพัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมบุคคลทุกช่วงวัยสามารถตอบโจทย์ผู้คนในสังคมและสนองนโยบายมหาวิทยาลัยและกระทรวงใหม่ที่มุ่งให้งานวิจัยตอบโจทย์บุคคลทุกช่วงวัย

การจัดฝึกอบรมด้านสันติภาพ สิ่งที่ผู้เรียนได้ไปคือ?

เครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งภายในตนเอง ผ่านการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ 3 คำ คือ สติ ขันติ สันติ มีสติเมื่อใดสันติเกิดเมื่อนั้น โดยมุ่งเน้นสันติภาพให้เกิดขึ้นภายในจิตใจก่อน เรียกว่า สันติภายใน จากนั้นผู้มาเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสันติภาพ ความขัดแย้ง  ความรุนแรง สันติวิธี และพุทธสันติวิธี เครื่องมือจัดการความขัดแย้งภายนอก เรียนรู้ที่จะฟังบุคคลที่มีความแตกต่างผ่านเครื่องมือสันติสนทนา สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือ การสัมผัสถึงความสุขที่แท้จริงและสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้มาเรียนจะได้เครือข่ายด้านสันติภาพจากทั่วประเทศและนานาชาติด้วย

เปิดใจ..พระนักปั้นวิศวกรสันติภาพ

สังคมไทยมีความขัดแย้งพร้อมใช้ความรุนแรง มีหนทางอย่างไร?

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของโลก ไม่มีที่ใดไม่มีความขัดแย้ง เราจึงต้องหาเครื่องมือเพื่อบริหารความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นมุมบวกคือ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ส่วนความขัดแย้งเป็นมุมลบคือ การใช้ความรุนแรงนำไปสู่การสูญเสียเวลาและชีวิต โจทย์คือเราต้องหาเครื่องมือเพื่อจัดการความขัดแย้งภายในตนก่อนเป็นบุคคลแห่งสันติภาพ เป็นวิศวกรสันติภาพ หนทางเดียวคือ เข้ามาเรียนในหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬา เพื่อนำเครื่องมือไปใช้กับตนเองและองค์กรสังคม เพราะทางออกของความขัดแย้งไม่จำต้องใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่พุทธสันติวิธีคือเครื่องมือหนึ่งที่พระพุทธเจ้าใช้มาแล้วได้ผลเป็นอย่างดี เรามีเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นภูมิปัญญาที่สุดยอด แต่เรายังไม่นำมาใช้อย่างจริงจัง หลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬา จึงเป็นคำตอบของสังคมไทย

ล่าสุดหลักสูตรสันติศึกษามหาจุฬา จึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์บุคคลทุกช่วงวัยที่มีความสนใจด้านสันติภาพภายใต้ หลักสูตร #วิทยากรต้นแบบสันติภาพ" รุ่นที่ 4 และกำลังเตรียมเปิดหลักสูตรวิทยากรต้นแบบรุ่นที่ 5 ในเดือนมกราคม 2563 นี้ หลักสูตรที่เปิดต่อไปเพื่อตอบโจทย์คนยุคดิจิทัล เช่น ศาสตร์แห่งความสุข โค้ชสติ การสื่อสารเพื่อสันติภาพ การฟังด้วยหัวใจ ขันติธรรมทางศาสนา ผู้นำพุทธสันติวิธี วิทยากรต้นแบบสันติภาพ เป็นต้น

ท่านใดที่สนใจเรียนรู้หลักสูตรการฝึกอบรมด้านสันติภาพที่นำไปใช้ในการทำงานและสร้างความสุขในชีวิต สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ที่ พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร  วิทยากรต้นแบบสันติภาพ รับผิดชอบหลักสูตรระยะสั้น โทรศัพท์ 098-1596542  ไอดีไลน์ 1596542

เรื่องสันติภาพเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบันที่ทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจกันหาทางออกหาทางบรรเทาความขัดแย้งที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ 10  ซึ่งพระองค์ต้องการเห็นพสกนิกรของพระองค์ รู้รักสามัคคี มีความปรองดองกันในทุกภาคส่วน  พวกเราในฐานะพสกนิกรที่มีความจงรักภักดี จึงต้องช่วยกันให้แผ่นดินนี้ร่มเย็นเป็นสุขทั่วทั้งแผ่นดิน..