posttoday

เหรียญพระพุทธชินวงษ์ พ.ศ.2478 หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง จ.เพชรบุรี

03 มิถุนายน 2562

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโศกนั้น นอกจากเหรียญพระพุทธชินวงษ์แล้ว ยังมีเหรียญพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระขรรค์ ปลัดขิก ผ้ายันต์และวัตถุที่เป็นมงคลอีกหลายอย่าง ทุกอย่างล้วนเป็นที่เสาะหาของลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด และนักสะสมพระเครื่องทั้งสิ้น

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

มาชมเหรียญพระพุทธจากเกจิอาจารย์เมืองเพชร ค่านิยมไม่ถือว่าแพงนักสำหรับเหรียญรุ่นนี้ แต่จะหาสวยแบบนี้ ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน มาชม เหรียญพระพุทธชินวงษ์ พ.ศ.2478 หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรีกันครับ

เหรียญพระพุทธชินวงษ์ พ.ศ.2478 หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง จ.เพชรบุรี

หยิบเหรียญขึ้นมาดูด้วยตาเปล่า สภาพกะไหล่ทองเดิมๆสีแห้งซีดเก่า ทำให้เห็นเสน่ห์ของเหรียญนี้ขึ้นมาในทันใด ดูพระพักตร์และภาพรวมขององค์พระพุทธมีความสวยงามเป็นธรรมชาติของการออกแบบเหรียญพระพุทธในสมัยก่อน ด้านหลังของเหรียญก็เช่นกัน ปรากฏร่องรอยความเก่าต่อสายตาเช่นกัน ความเก่าของกะไหล่ทองและสีแห้งซีดของกะไหล่ที่ปรากฎ ตัวหนังสือเป็นแท่งมีความคม ความงดงามในตัว

ลงกล้องส่องที่พื้นผิวด้านหน้า มีร่องรอยของการปั๊ม มีเส้นประกายบนพื้นผิวเหรียญอันเกิดจากการปั๊มกระแทกเป็นธรรมชาติของเหรียญปั๊ม ถ้าหากไม่มีเส้นต่างๆ บนผิวเหรียญสิ ดูช่างอันตราย

มาดูองค์พระพุทธเส้นสายสวยงาม ส่วนที่ควรลึก ก็ลึกคมเช่นบริเวณพระศอ เส้นสังฆาฎิ และฐานพระพุทธ ที่สำคัญในซอกต่างๆเห็นเส้นแซมที่เกิดเป็นธรรมชาติของเหรียญปั๊มยุคเก่าชัดเจน เส้นฐานพระพุทธก็คมชัด ตัวหนังสือคำว่า "พระพุทธชินวงษ์" เป็นแท่งคม ไม่เบลอเหมือนเหรียญปลอมที่ถอดแม่พิมพ์ออกมา ความคมพลิ้วของตัวอักษรที่เห็น ทำให้เหรียญดูง่ายทันที

พลิกมาส่องด้านหลังก็เห็นความคม ความเก่าของพื้นผิวเหรียญ สีกะไหล่ทองแห้งซีดเป็นธรรมชาติ สิ่งที่ควรมีเช่น เส้นประกายบนพื้นผิวก็มีเป็นธรรมชาติ ตัวหนังสือเป็นแท่ง คมชัด สวยงาม มีเส้นเสี้ยนแซมอยู่เป็นธรรมชาติ แค่นี้ก็เพียงพอแก่การตัดสินใจแล้วว่า แท้ดูง่ายแน่นอน

ด้านพุทธคุณพระเครื่องที่หลวงพ่อโศกท่านสร้างนั้น ก็ไม่น้อยหน้าเกจิอาจารย์ท่านอื่น ครบเครื่องเช่นกัน ทั้งด้านเมตตา มหานิยม แคล้วคลาดและคงกระพัน ตามแบบพระเครื่องเมืองเพชร

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโศกนั้น นอกจากเหรียญพระพุทธชินวงษ์แล้ว ยังมีเหรียญพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระขรรค์ ปลัดขิก ผ้ายันต์และวัตถุที่เป็นมงคลอีกหลายอย่าง ทุกอย่างล้วนเป็นที่เสาะหาของลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด และนักสะสมพระเครื่องทั้งสิ้น เนื่องจากได้นำไปบูชาติดตัวล้วนมีประสบการณ์มากมาย
พระพุทธชินวงษ์เป็นพระประธานที่หลวงพ่อโศก สร้างขึ้นมาเมื่อคราวขยายเขตอุโบสออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อแทนพระประธานองค์เดิมที่หล่อด้วยโลหะพร้อมด้วยอัครสาวก ชึ่งหลวงพ่อโศก พิจารณาเห็นว่า พระประธานองค์เดิมมีขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับอุโบสที่ขยายใหม่ จึงได้ย้ายอยู่ในวิหารพระพุทธบาทแทน

วัดปากคลองตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร แม่น้ำเพชรมาแยกเป็นสองสายทางที่หน้าวัดปากคลอง ทางหนึ่งไปบ้านแหลม ทางหนึ่งไปบางตะบูน จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดปากคลอง" ตั้งอยู่ เลขที่ 3 หมู่ที่ 4 ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ประมาณว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2328 มีเนื้อที่ที่ตั้งวัด 10 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา ส่วนชาวบ้านในพื้นที่นิยมเรียกชื่อวัดว่า วัดปากคลองบางครก

หลวงพ่อโศก หรือ พระครูอโศกธรรมสาร (สุวณฺณเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลอง และเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี นามเดิม โศก สกุล พันธุ์โพทอง เกิดเมื่อ วันอังคาร ปีวอก พุทธศักราช 2415 สมัยวัยอยู่ในปฐมวัย ชอบศึกษาหาความรู้ ชอบสนทนาวิสาสะ เป็นผู้เฉลียวฉลาดมีไหวพริบ จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี เข้าใจทุกเรื่องราว เป็นที่ชอบพอ และถูกอัธยาศัยของเพื่อนบ้าน และมิตรสหาย

เหรียญพระพุทธชินวงษ์ พ.ศ.2478 หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง จ.เพชรบุรี

เมื่ออายุครบปีอุปสมบท บิดามารดาได้จัดการอุปสมบทให้ ณ วัดปากคลอง เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2435 โดยมี พระอธิการคล้ำ วัดปากคลอง เป็นอุปัชฌายะ พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเพิ่ม วัดสวนทุ่ง เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า สุวณฺโณ

ตลอดระยะเวลาประมาณ 8 – 10 พรรษาแรก นับตั้งแต่อุปสมบท ด้วยวัตรปฏิบัติของท่านที่เรียบร้อย งดงาม ฉายแววเป็นผู้นำ อีกทั้งเรียนรู้เข้าใจในศาสนกิจ และระเบียบการคณะสงฆ์เป็นอันดี เมื่อท่านอธิการหลุบ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ลาออกจากตำแหน่ง ในปีพ.ศ.2447 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งจากทางคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบุรีโดย เจ้าคณะเมืองเพชรบุรี วัดคงคาราม ให้ท่านเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส วัดมหาธาตุ นับเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดนี้

แต่ท่านอยู่ในตำแหน่งนี้เพียงปีเศษก็ขอลาออก เพราะเจ้าอาวาสวัดปากคลองเดิม ได้ลาสิกขา ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงว่างลง บรรดามรรคของวัดปากคลอง เห็นพร้อมในกันว่า ควรไปอาราธนาพระอธิการโศก จากวัดมหาธาตุ มาเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากคลอง เมื่อปี พ.ศ.2448 ขณะนั้นมีพรรษาได้ 13 พรรษา

นอกจากท่านจะได้ศึกษาเล่าเรียนทางพระธรรมวินัย และปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ท่านยังได้ใช้เวลาว่างเท่าที่มีอยู่ ศึกษาศิลปด้านต่าง ๆ ที่นิยมกันอยู่ในสมัยนั้นด้วย เช่น วิชาโหราศาสตร์ เวชศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้ศึกษาอย่างจริงจัง และยังได้นำเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาช่วยเหลือผู้อื่นในโอกาสต่อมาด้วย

เมื่อท่านมาปกครองวัดปากคลองแล้ว ท่านก็ได้ใช้ความรู้ในด้านเวชศาสตร์ อันเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณที่ได้เล่าเรียนมารักษาผู้อื่น ช่วยเหลือประชาชนในด้านหยูกยาด้วยความเมตตา มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้ามีชาวบ้านมาพบเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านจะจัดยาให้ทันที เพราะท่านสะสมยาไว้มาก ทั้งยาสมุนไพรและยาสำเร็จรูป หลวงพ่อแจกเป็นทานทั้งสิ้น ไม่รับสิ่งตอบแทน เว้นแต่นำมาถวายตามปกติ

เหรียญพระพุทธชินวงษ์ พ.ศ.2478 หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง จ.เพชรบุรี

อีกด้านหนึ่ง ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า จึงทำให้ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของชนทุกชั้น ตั้งแต่สามัญชนไปจนถึงข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น พระยาสุรพันธุ์เสนีย์ (อิ้น บุนนาก) สมัยเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ก็ยังเคยมาค้างแรมสนทนากับท่านที่วัดปากคลองบ่อยครั้ง ครั้งละหลาย ๆ วัน

หลวงพ่อโศก ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลมอยู่เพียง 4 ปี ก็มรณภาพเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 เวลา 11.55 น. สิริรวมอายุได้ 67 ปี พรรษา 47 โดยครองวัดปากคลองอยู่ 34 พรรษา