posttoday

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

01 พฤษภาคม 2562

ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ที่มีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง มีอายุวัฒนมงคลครบ 90 ปี ในวันที่ 2 พ.ค. 2562

โดย สมาน สุดโต

ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ที่มีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง มีอายุวัฒนมงคลครบ 90 ปี ในวันที่ 2 พ.ค. 2562 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร.) สมาคมศิษย์เก่า มจร. มูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ จึงจัดงานวันจำนงค์ ทองประเสริฐ อย่างยิ่งใหญ่ ที่หอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อฉลองให้อาจารย์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ และปูชนียบุคคล ของ ชาว มจร.

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ เป็นงานที่ใครหลายคนรอคอยคือ การเดินทางมาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ในเวลา 13.00 น. ซึ่งหลังจากพิธีถวายการต้อนรับแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จจะกล่าวสัมโมทนียกถา ในงานนี้ด้วย ส่วนพิธีกรรมอื่นๆได้แก่ศาสนพิธี การทำบุญเลี้ยงพระ การแสดงมุทตาจิต และที่จัดพิเศษได้แก่ การเสวนาทางวิชาการ เรื่องแนวคิดและผลงานในทัศนะนักวิชาการร่วมสมัย โดยพระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร. จะกล่าวนำ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.สุรพล สุยะพรม ผู้บริหารมจร.โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ดร.สมพร พรมทา ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ดร.ชาย โพธิสิตา รศ.สิวลี ศิริไล และดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ

ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ในหลากหลายบทบาท เช่น เป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหาร เป็นอาจารย์สอน จึงเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เต็มบ้านเต็มเมือง ไปที่ไหนทั้งเมืองไทยและเมืองนอกจะมีบรรดาศิษย์คอยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอ

ในส่วนของศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์ มีความรู้ความสามารถที่โลกยกย่อง เจริญในสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต ป.ธ. 9) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ทั้งนี้ไม่นับผู้ที่ลาสิกขาไปรับราชการ มีความเริญก้าวหน้าทั้งข้าราชการทหาร และพลเรือน หรือศิษย์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่นธรรมศาสตร์จบแล้วเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีก้หลายคน เช่น นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นต้น

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

ท่านเล่าในฟื้นอดีต บางตอนว่า การไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ สร้างความแปลกใจให้แก่สังคมมาก ขนาดหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ยังทำสกู๊ป ที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย มจร. ทั้งๆ ที่เป็นสถาบันที่รัฐบาลไม่ได้รับรองวิทยฐานะใช่วงแรกๆ คือได้รับทุนไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ท่านไปเรียนขณะที่อยู่ในสมณเพศ และเป็นเจ้าคุณหนุ่ม ๆ เรียนจบ ได้เกียรตินิยม อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเยลว่า ให้ส่งพระที่เป็นิสิตมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาอีก เพราะประทับใจผลการเรียนของท่านนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อยากจะทราบว่า อาจารย์จำนงค์ต่อสู้เพื่อมหาวิทยาลัย มจร. จนมีวันนี้ได้อย่างไร ขอแนะนำให้อ่านหนังสือฟื้นอดีต ที่ มจร. พิมพ์เพื่อเป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ไปแสดงมุทิตาจิต ในปีนี้ หนังสือนี้นอกจากให้ความรู้ด้านต่างๆแล้ว อาจเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานและต่อสู้เพื่อสังคมได้อีกด้วย

ประวัติโดยย่อ- ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เป็นบุตรคนสุดท้องของนายจุ๊ย นางเปลี่ยน ทองประเสริฐ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ค.พ.ศ.2472 ตรงกับวันแรม 9 ค่ำ เดือน 5 ณ หมู่ที่ 6 ต.บ้านยาง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

ประวัติการศึกษา - เปรียญธรรม 9 ประโยค (2495) - ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต (รุ่นแรก) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2497) - ปริญญาโท (Philosoply and SEAsia Studies) มหาวิทยาลัยเยล (Yale) สหรัฐอเมริกา (2504)

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

ตำแหน่ง - อดีตเลขาธิการและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย - ผู้อำนวยการกองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน (2522-2532) - เลขานุการสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง (2529-2539) - เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน (2538-2542) - สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรมของวุฒิสภา (2539-2543) - ประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง (2546-2548) -ที่ปรึกษาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (22540-ปัจจุบัน) - อุปนายกสภามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (2543-2554) - นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย )

- กรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน - ประธานคณะกรรมการชำระพจนานุกรม - ประธานคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย - ประธานคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฎก - ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์ - ที่ปรึกษาคณะบรรณาธิการทำสารานุกรมปรัชญา - ที่ปรึกษาคณะบรรณาธิการทำนามานุกรมศาสนาสากล - กรรมการศัพท์วรรณคดีไทย - กรรมการศัพท์วรรณกรรมท้องถิ่น (อีสาน) - บรรณาธิการทำสารานุกรมไทย - กรรมการที่ปรึกษานายกราชบัณฑิตยสถาน - ประธานคณะกรรมการวิชาการ กรมอาชีวศึกษา - รองประธานคณะกรรมภูมิศาสตร์ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม - กรรมการที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- กรรมการวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย - อาจารย์พิเศษวิชาภาษาไทย แก่นิสิตปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกียรติคุณที่ได้รับ มีหลากหลาย ผลงานทางวิชการมีล้นเหลือ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงของผู้ศึกษา เช่น- วิชาศาสนา - บ่อเกิดลัทธิประเพณีจีน ภาค 1-5 บ่อเกิดลัทธิประเพณีญี่ปุ่น ภาค 1-4 บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย ภาค 1-3 ตรรกศาสตร์ - เชนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น - วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย - แผนการกู้อิสรภาพของเจ้าชายสิทธิธัตถะ - ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ - ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง - ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ - ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกา - ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์ - ปรัชญาประยุกต์ชุดจีน - ปรัชญาประยุกต์ชุดอินเดีย - ปรัชญาประยุกต์ชุดตะวันตก

ในส่วนที่เป็นปูชนียบุคคลนั้น พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) คณบดี คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ขอให้ศ.อาจารย์จำนงค์เขียนหนังสือเรื่อง ฟื้นความหลัง ได้ชื่นชมจารย์ ศ.พิเศษ จำนงค์ ว่าเป็นปูชนียบุคคล ข้อความดังกล่าว อยู่ในหนังสือ ฟื้นอดีต ที่พิมพ์ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2562) ดังนี้

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

ปูชนียบุคคล

เมื่อเราพบคนที่คุณธรรมสูงกว่า เรามักจะแสดงความนับถือท่าน เป็น 2 คำ คือ นับ กับ ถือ อันดับแรกนับคุณสมบัติก่อนว่า ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอะไร ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ซึ่งท่านมีคุณธรรมต่างๆ เช่น ให้เกียรติผู้อื่น, เป็นผู้อ่อนโยนมีเมตตา, เป็นผู้มีความกตัญูกตเวทีสูง, เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และ เป็นบัณฑิตแท้ เมื่อเราแจ้งประจักษ์ชัดเช่นนี้แล้ว จึงถือเอาคุณธรรม ของอาจารย์จำนงค์ นำมาประพฤติปฏิบัติตาม จึงกล่าวได้ว่านับถือ ท่านจริง ในปัจจุบันเราได้เห็นคนเป็นจำนวนมากนับถือแต่ปาก ไม่พ้นวันก็นินทาแล้ว ทำให้นึกถึงข้อคิดอยู่ข้อหนึ่งว่า คนอื่นที่มา นินทาคนอื่นให้เราฟังนั้น เราจะเป็นรายต่อไป เป็นข้อคิดเตือนสติ ตัวเองได้อย่างดี

คุณธรรมต่างๆ ของท่านอาจารย์จำนงค์ ที่กล่าวมาท่านได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิต 90 ปี ท่านจึงเป็นปูชนียบุคคลของชาว มจร. ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นลูกศิษย์ท่านในห้องเรียน แต่เมื่อได้มาทำงานที่ มจร. เมื่อปี 2540 ก็ได้รับเมตตาจากท่านเหมือนศิษย์ท่านหนึ่ง สิ่งที่ชอบเหมือนกันคือ รักหนังสือ เก็บสะสมหนังสือ การที่มีห้องสมุด อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ที่อาคารหอสมุดของมหาวิทยาลัยนั้น ข้าพเจ้ามีส่วนร่วม พบกันคราใดมักจะเรียนท่านว่า อาตมาอยากเห็น ห้องสมุดอาจารย์จำนงค์ที่ มจร. ทั้งๆ ที่รู้ว่าท่านรักหนังสือมาก

เพราะเคยไปที่บ้านท่าน แม้บันไดขึ้นบ้านชั้นสองก็มีหนังสือเต็มไปหมด แทบไม่มีทางเดิน แต่ท่านเก็บหนังสือเรียบร้อยดีมาก ในที่สุด ท่านได้มอบหนังสือทั้งหมด เป็นห้องสมุดอาจารย์จำนงค์ห้องหนึ่ง โดยเฉพาะ เหมือนกับพระยาอนุมานราชธนได้มอบหนังสือทั้งหมด ให้หอสมุดแห่งชาติ ทำให้นึกถึงอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ยามที่ท่าน มีชีวิตอยู่ ได้ไปเยี่ยมท่านที่บ้านได้เห็นหนังสือทางด้านภารตวิทยา จำนวนมาก ข้าพเจ้าถามเกี่ยวกับหนังสือ ท่านบอกว่า ผมจะให้ มหาจุฬาฯ กับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป แต่จะให้ท่านเลือกเล่มที่ต้องการก่อน เนื่องจากรับรู้กันแค่ 2 คน ทายาทท่านไม่รับทราบ ในปัจจุบันไม่ทราบว่า หนังสือท่านอยู่ที่ไหนหลังจาก อาจารย์กรุณาถึงแก่กรรม

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่

นับว่า เป็นความโชคดีของ มจร.ที่มีห้องสมุดอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ที่ท่านได้เห็นและร่วมพิธีเปิดห้องสมุด ชของท่าน เพราะ มจร. คือพ่อ - แม่ คนที่สองของท่าน ท่านเป็นทุกอย่าง ของ มจร. ใครที่อ่าน ฟื้นอดีต : อัตชีวประวัติของท่านจะได้รับรู้ ความรักปรารถนาดีต่อสถาบันที่สร้างตัวท่านมาทุกวันนี้ ข้าพเจ้า มีความภูมิใจที่ได้เรียนเชิญท่านเขียนฟื้นอดีตให้พวกเราชาว มจร. ได้ทราบชีวิตการต่อสู้กว่าจะมีวันนี้ และมจร. ในอดีต ส่วนวันที่ 2 พ.ค. เดิมทีทำบุญวันเกิดท่าน ข้าพเจ้าจึงเสนอว่า วันที่ 2 พ.ค.ทุกปี ควรเป็นวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ทุกวันนี้จึงรับรู้กันว่าวันที่ 2 พ.ค. เป็นวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ไม่ว่าท่านจะอยู่ใน สถานะใดก็ตาม อาจารย์จำนงค์ ถือว่าเป็นสารานุกรมเคลื่อนที่ ถามอะไรไม่ติดขัด ท่านตอบได้ทุกเรื่อง ไม่ทราบ ท่านก็บอกว่า ไม่ทราบ ทำให้นึกถึงโลกนีติ (คาถา 13)

โปฏฺฐเกสุ จ ยํ สิปฺปํ ปรหตฺเถสุ ยํ ธนํ ยถา กิจฺเจ สมุปฺปนฺเน น ตํ สิปฺปํ น ตํ ธนํ ฯ (มีความรู้อยู่ในตำรา 1 มีทรัพย์อยู่ในมือผู้อื่น 1 เมื่อถึงคราว ต้องการใช้ ทั้งความรู้และทรัพย์นั้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไร) ฯ บางท่านมีความรู้อยู่ในตำรา เมื่อถึงเวลาใช้ไม่มีตำราก็สอน ไม่ได้ ตอบไม่ได้ ต่างกับอาจารย์จำนงค์ สมกับเป็นบัณฑิตแท้ ในวาระศุภมงคลอาจารย์จำนงค์มีอายุยืนถึง 90 ปี ขอให้ บุญรักษาสุขภาพของอาจารย์ และเป็นที่พึ่งของศิษยานุศิษย์สืบต่อไป

ครับนี้คือประวัติบางส่วนของปูชนียบุคคล ที่ชาวมจร. ภาคภูมิใจ

มจร.จัดงานฉลองอายุ 90 ปี ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อย่างยิ่งใหญ่