posttoday

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

17 มีนาคม 2562

เรื่อง: สมาน สุดโต

เรื่อง: สมาน สุดโต

มจร เยี่ยมบัณฑิตอาสา

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) ชื่นชมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาที่สนองพระพุทธดำรัส “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตายฯ” และช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ แก้ปัญหา-พัฒนาสังคมได้อย่างดี

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2562 คณะผู้บริหาร มจร ประกอบด้วย พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) อธิการบดี มจร พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสโร) รองอธิการบดี มจร ฝ่ายวางแผนและพัฒนา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ มจร พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร พระวิมลมุนี (นนทพันธ์ ปภสฺสโร) รองอธิการบดี มจร วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ ผศ.ดร.อภิรมย์ สีดาคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ พร้อมด้วย สมหมาย สุภาษิต หัวหน้าทีมงานประชาสัมพันธ์ มจร และสื่อมวลชน เดินทางขึ้นยังอาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่บนดอยสูง เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามงานพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา และมอบพระพุทธรูปแก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ โดยมี พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ (อนันต์ จนฺทาโภ) เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู ธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียง และวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) แม่ฮ่องสอน เข้าร่วม

งานบัณฑิตอาสาช่วยชาวบ้านอุ่นใจ

ในการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า กุศลเจตนาของพระบัณฑิตอาสาที่มาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงเหล่านี้ เป็นไปตามพระพุทธพจน์ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก” เมื่อมาเห็นพบว่าชาวบ้านมีความอบอุ่นใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยก่อนนั้นเรื่องของศาสนาหรือเรื่องของความเชื่อ เขาก็ปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่น เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่เป็นบรรพบุรุษ ต้นไม้ ภูเขา เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของเขาตามที่เคยเชื่อถือกันมา ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว เมื่อมีพระสงฆ์เข้ามาอยู่ด้วย ถ้ามีปัญหาชีวิตหรือมีข้อขัดข้องประการใดก็ยังมีที่พึ่ง ที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น เป็นการสื่อสาร 2 ทาง มีความอบอุ่นใจเชิงประจักษ์ได้มากกว่า

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

อีกประการหนึ่ง คือ การอนุรักษ์สืบทอดรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยก่อนที่พระบัณฑิตอาสาจะเข้าไปในพื้นที่ แม้ว่าเขาจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในท้องถิ่นดีอยู่แล้ว แต่เมื่อสังคมปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไป ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมก็อาจสูญหายไปได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่มีแบบอย่างในการใช้ชีวิต ก็ได้พระสงฆ์ที่ชักชวนชาวบ้านให้ได้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีท้องถิ่นซึ่งถือเป็นความมั่นคงด้านวัฒนธรรม

ช่วยอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ

อธิการบดี มจร กล่าวต่อว่า ประการที่สาม เป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เดิมที่คนในท้องถิ่นอยากใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ใช้ไป เช่น การตัดไม้ เผาป่า ล่าสัตว์ แต่เมื่อมีพระสงฆ์ท่านเข้าไปอยู่แล้วสิ่งใดที่ควรจะได้จากธรรมชาติก็เอาตามสมควร ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลด้วยการรักษาป่าบ้าง ปลูกป่าบ้าง อะไรบ้าง เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งนี้เห็นว่าดีขึ้นมากหลังจากพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้เรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็กเนื่องจากเวลากลางวันพ่อบ้านแม่บ้านก็ต้องออกไปทำมาหากิน ผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กเล็กพระสงฆ์ท่านก็เข้าไปช่วยดูแล เป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ทำให้ผู้ที่ออก ไปทำกินไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

ปัจจุบันพระบัณฑิตอาสามีอยู่ประมาณ 35 รูป ใน 35 อาศรม กระจายใน 4 จังหวัด มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับพระธรรมจาริกตามที่คณะสงฆ์ได้ดำเนินการอยู่แล้ว

ตนจึงให้แนวทางไปว่า ควรจัดกลุ่มให้เป็นกลุ่มงาน หรือกลุ่มกิจกรรม เพื่อจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น กิจกรรมส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรมในชุมชน กลุ่มอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

มจร ช่วยบรรเทางานรัฐ

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

“มจร เป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคมอยู่แล้ว แม้ว่างานบริการวิชาการจะเป็นงานที่โดดเด่น แต่ก็ได้วางมาตรฐานพื้นฐานไว้เพื่อเติมพลังสติปัญญาความรู้แก่พระสงฆ์ที่ทำงานด้านนี้ เป็นการแบ่งเบาภาระช่วยเหลือสังคมประเทศชาติ เพื่อรัฐบาลจะได้เบาใจว่าพระสงฆ์โดยเฉพาะมหาจุฬาฯ ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมในส่วนที่ยังเห็นว่าไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา ซึ่งแต่ละรูปมีประสบการณ์อยู่แล้ว อันนี้จะเป็นไปตามพระพุทธประสงค์อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แก่พุทธสาวกผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาชุดแรกว่า ‘จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตายฯ’ (ภิกษุทั้งหลายท่านจงท่องเที่ยวจาริกไปเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แก่ชนจำนวนมากและชาวโลก) ก็จะเป็นคุณูปการแก่สังคมและประเทศชาติสืบต่อไป” อธิการบดี มจร กล่าว

กราบหลวงปู่ทอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการเดินทางขึ้นสู่บ้านแม่ลิดป่าแก่ อธิการบดี มจร พร้อมคณะผู้บริหารส่วนกลาง วิทยาเขตเชียงใหม่และลำพูน ได้เดินทางเข้าถวายสักการะพระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง) ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

เปิดบ้านศีล 5 และธนาคารข้าว

เมื่อเดินทางถึงบ้านแม่ลิดป่าแก่ มีพระพิเดช จนฺทวณฺโณ พระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา อาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ พระปลัดสุชาติ สุวฑฺฒโก เลขานุการศูนย์ประสานงานโครงการฯ เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ คณะพระบัณฑิตอาสาจากอาศรมต่างๆ ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง พร้อมด้วย บุญเอง ปองบุญเกษม ชาวคริสต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านแม่ลิดป่าแก่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ร่วมถวายการต้อนรับ

พระราชปริยัติกวี เป็นประธานในการเปิดป้ายหมู่บ้านส่งเสริมศีล 5 จากนั้นได้ปลูกต้นอโศก ณ ด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเจดีย์ และเปิดป้ายธนาคารข้าวภายในอาศรม

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

สำหรับธนาคารข้าวนั้น พระพิเดช เจ้าอาศรมบ้านแม่ลิดป่าแก่ รายงานว่า บ้านแม่ลิดป่าแก่ มีประชากรทั้งหมด 1,010 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปะเกอกะเญอ การดำรงชีวิตอาศัยการทำนาปีละ 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่นาเป็นแบบขั้นบันไดตามไหล่เขา อาศัยน้ำฝน น้ำดีก็ได้มาก น้ำน้อยก็ได้ข้าวน้อย แต่ชาวบ้านยังคิดถึงพระบัณฑิตอาสา ได้นำข้าวมาถวาย ตามกำลังมากบ้างน้อยบ้าง แต่รวมกันก็มาก ท่านจึงคิดทำธนาคารข้าวเก็บไว้เพื่อชาวบ้าน ถ้าเขาไม่มี มาขอก็ให้ มายืมก็ยินดี

อยู่ในป่าเหมือนเพชร

ในการให้สัมภาษณ์แก่โพสต์ทูเดย์ พระพิเดช เล่าว่า ชาวเขาที่ท่านมาอยู่เป็นเพื่อน นับถือทั้งศาสนาคริสต์ พุทธ และผี แต่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบรักสามัคคี มีงานบ้านคริสต์ ชาวพุทธก็มาช่วย มีงานบ้านชาวพุทธ ชาวคริสต์ก็มาร่วมงาน ส่วนพระบัณฑิตอาสาเข้าได้ทุกกลุ่ม เพราะยึดหลักทำงานที่มีทั้งอนุเคราะห์และสงเคราะห์ เอื้ออาทร เพื่อเข้าถึงประชาชน และบางกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ผู้ที่นับถือผีมาก่อนขอสมัครเป็นชาวพุทธเพิ่มขึ้น เท่าที่ผ่านมา 5 ปี ครอบครัวที่นับถือผีประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา 3-4 หมู่บ้าน จากที่เคยมีเพียงหมู่บ้านเดียว

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

ส่วนที่ตัดสินใจมาทำงานบนดอย อยู่กับชาวบ้านชาวเขาต่อหลังจากครบเทอม 1 ปี จนเข้าปีที่ 5 เพราะประทับใจกับคำสอนของพระอาจารย์ว่าเราเป็นพระบ้าน อยู่ในเมืองก็เหมือนหิน
แต่ถ้าอยู่กับชาวบ้านในป่าเราก็เหมือนเพชร เพราะชาวบ้าน ชาวเขาต้องการพระ ตลอด 5 ปีที่ทำงานช่วยพัฒนาหลายอย่าง นอกจากชาวพุทธเพิ่มขึ้น ก็สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่อาศรมเพิ่มเติม เช่น ห้องน้ำ และพระธาตุเจดีย์ ขณะนี้จัดทอดผ้าป่าเพื่อหาปัจจัยมาเปลี่ยนหลังคาศาลาบำเพ็ญบุญที่เริ่มผุ ไม่รู้ว่าจะล่มเมื่อไร

ถ้าแบ่งแยกก็ไม่มีวันนี้

จันคำ พิชิตงาน ชาวปะเกอกะเญอ หมู่ 2 ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งประกาศตนเป็นพุทธมามกะอย่างเป็นทางการ วันที่ 9 มี.ค. 2562 พร้อมกับชาวปะเกอกะเญอ
อีก 300 คน กล่าวว่า ตนรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นที่พึ่ง เพราะประทับใจในคำสอนหลวงพ่อพระพิเดช ที่สอนให้รู้จักปรับตัว เช่น อย่าคิดมาก ถ้าตามเทคโนโลยีไม่ทัน และให้ข้อคิดเพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศาสนูปถัมภกทุกศาสนา หากพวกเราแบ่งแยกกัน ปะเกอกะเญอจะไม่เหลือแล้วก็ได้

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

พุทธมามกะ

วันที่ 9 มี.ค. เวลา 07.30 น. ได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ โดยพุทธศาสนิกชนจากหลายหมู่บ้านในเขต ต.แม่เหาะ ในชุดแต่งกายประจำชาติพันธ์ุทั้งชายหญิงจัดหาอาหารมาใส่บาตร ส่วนพระสงฆ์ที่ออกรับบาตรมีประมาณ 30 รูป นำโดย พระราชปริยัติกวี หลังจากฉันอาหารเช้า ได้นั่งเป็นประธานสวดมนต์ไหว้พระ และการแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวปะเกอกะเญอ 300 คน

อธิการบดี มจร นำคณะเยี่ยมบัณฑิตอาสา บนดอยแม่สะเรียง

ผู้ใหญ่ใจดี

ทั้งนี้ ได้มีผู้ใจบุญจากกรุงเทพมหานคร นำโดย ดร.สุพัตรา ชั้นสุวรรณ เป็นเจ้าภาพถวายเงินเพื่อเป็นทุนจัดงาน ถวายเครื่องกีฬา และถวายเครื่องกันหนาว นอกจากนี้ จตุรภัทร เดือนฉาย เป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว และ 9 นิ้ว จำนวนกว่า 300 องค์ เพื่อมอบแก่ผู้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะด้วย