posttoday

ธรรมะกับความรัก (1)

17 กุมภาพันธ์ 2562

หากจะพูดว่าเดือน ก.พ.เป็นเดือนแห่งความรักก็น่าจะพูดได้ เพราะวันที่ 14 ก.พ.

หากจะพูดว่าเดือน ก.พ.เป็นเดือนแห่งความรักก็น่าจะพูดได้ เพราะวันที่ 14 ก.พ.เป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักที่ประเทศตะวันตกนับถือคริสต์ศาสนาได้กำหนดขึ้น ส่วนประเทศไทยเรานับถือพระพุทธศาสนาก็มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นวันแห่งความรักได้เช่นกัน คือ วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ก.พ.นี้ โดยสาระอันเป็นหลักการของวันมาฆบูชา คือ การไม่ทำความชั่วทุกชนิด การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจของตนให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ รวมถึงการไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน การไม่ว่าร้ายเสียดสีนินทาคนอื่น เป็นต้น

สัปดาห์นี้เลยถือโอกาสนำธรรมะเกี่ยวกับเรื่องความรัก ซึ่งแสดงโดยพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ประธานสมาคมวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ และประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย มาให้สาธุชนได้อ่านและนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันตามสมควรแก่โอกาส โดยเนื้อหาแห่งธรรม มีดังนี้

ความว่าความงดงามของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่มีความหลากหลายของธรรมเหมือนกับสวนไม้ดอกนานาพรรณมีดอกไม้หลากสีสันให้คนเลือกเก็บได้ตามต้องการ ซึ่งธรรมมีจำนวนมากมายหลายประเภท พร้อมที่จะให้แต่ละคนเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามความต้องการ ใครอยากไปนิพพานก็มีโลกุตรธรรมสำหรับคนที่ต้องการพ้นโลก ส่วนใครที่อยากประสบความสำเร็จในโลกนี้ก็มีโลกิยธรรมให้นำไปปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน

สำหรับสามีภรรยาที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการแต่งงาน ก็มีธรรมสำหรับคนครองเรือนให้เลือกปฏิบัติ เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน

ธรรมะกับความรัก (1)

การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆ ไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรม คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม

คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจ จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม

จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและทางวาจา ซึ่งคนอื่นสามารถรับรู้และประเมินได้ว่าเรามีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น การที่สามีภรรยาต้องให้เกียรติกันและกันเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่ง คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้ให้เกียรติกันและกันหรือไม่

ตรงกันข้ามกับคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจ ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะตรวจสอบได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความรักเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถจะมองเห็นความรักภายในจิตใจของเราว่ามีมากน้อยเพียงใด เท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ก็คือคาดคะเนจากพฤติกรรมภายนอกของเราว่าเรามีความรักในใจมากน้อยแค่ไหน

ธรรมะกับความรัก (1)

คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรมคือความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา

ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้

คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนามี 2 ประเภท ดังนี้

1.เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติก ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ (1) บุพสันนิวาส หญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน (2) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

2.เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆ ขึ้นไป

ชีวิตการแต่งงานจะยั่งยืนนานถ้ามีความรักทั้งสองอย่าง คือ มีทั้งความรักแบบโรแมนติกและความรักแบบเมตตาเป็นพื้นฐาน

ธรรมะกับความรัก (1)

ความรักแบบโรแมนติกสร้างความสุขความเพลินใจเมื่ออยู่ใกล้คนรัก แต่ไฟแห่งความรักใคร่มักโชติช่วงอยู่ได้ไม่นาน ความเคยชินเพราะอยู่ด้วยกันมานานมักทำให้ความรักใคร่จืดจางไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีความรักแบบเมตตาตามประกบความรักใคร่เพื่อให้ความรักยั่งยืนยาวนาน

ความรักแบบโรแมนติกถูกความน่ารักน่าปรารถนาของคู่ครองเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์รัก ความรักใคร่นี้มีธรรมชาติไม่แน่นอน เวลาใดคนรักทำตัวมีเสน่ห์น่ารัก เวลานั้นอารมณ์รักใคร่ก็จะเบ่งบานมีพลังเวลาใดคนรักเอาแต่ใจทำตัวไม่น่ารัก เวลานั้นความรักใคร่ก็จะอับเฉาร่วงโรย ความรักใคร่แบบโรแมนติกจึงมีสภาวะขึ้นลงตามปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอันได้แก่กิริยาอาการของคนรักเป็นสำคัญ

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังสำราญพระราชหฤทัยอยู่กับพระมเหสีชื่อว่าพระนางมัลลิกาเทวี พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระมเหสีว่า “เธอรักใครมากที่สุด”

การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามอย่างนี้ แสดงว่าทรงอยู่ในอารมณ์โรแมนติกและหวังว่าจะได้รับคำตอบแบบโรแมนติก แต่พระนางมัลลิกาเทวีกลับทูลตอบว่า “หม่อมฉันรักตัวเองมากที่สุด” พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับหมดอารณ์โรแมนติก ทรงนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายพระพุทธเจ้าและตรัสถามว่า ทำไม
พระมเหสีจึงกล่าวอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า เพราะพระนางมัลลิกาเทวีเป็นคนตรงจึงกล้าพูดความจริงที่ว่าคนทุกคนรักตัวเองมากที่สุด พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ในที่อื่นว่านัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง ไม่มีรักใดไหนเล่าจะเท่ารักตนเอง

ความรักใคร่แบบโรแมนติกเกิดโดยสิ่งเร้าภายนอกจากคนรักเป็นสำคัญ จึงมีสภาวะไม่คงที่ถาวร สามีภรรยาที่ประสงค์จะทำให้ความรักใคร่เข้มแข็งมั่นคงต้องผสมความรักแบบโรแมนติกด้วยความรักแบบเมตตา

ธรรมะกับความรัก (1)

ความรักแบบโรแมนติกเปรียบเหมือนรถยนต์ที่อาศัยคนอื่นคอยเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอจึงจะแล่นไปได้ แต่ความรักแบบเมตตาเปรียบเหมือนรถยนต์ที่เจ้าของผลิตเชื้อเพลิงได้เองอย่างไม่มีขีดจำกัดจึงแล่นไปได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพราะความรักแบบเมตตาเป็นสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองด้วยการฝึกมองให้เห็นความดีงามของคนอื่น

คนเราจะมีเมตตาในใจได้ต้องฝึกมองโลกในแง่ดี ถ้าสามีภรรยาสามารถฝึกใจให้มองแต่แง่ดีของคู่ครอง ต่างฝ่ายต่างจะรักกันและกันได้ตลอดเวลาแม้แต่ในยามที่อยู่ด้วยกันมานานจนข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มปรากฏออกมา สามีภรรยาต้องสามารถทำใจให้มองข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นและเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ความดีงามของคู่ครอง ดังคำประพันธ์ที่ว่า “มองโลกแง่ดีมีผล เห็นคนอื่นดีมีค่า ปลุกใจให้เกิดศรัทธา ตั้งหน้าทำดีมีคุณ”

การฝึกใจให้มองแต่แง่ดี อย่างนี้เรียกว่าการแผ่เมตตา ใจของคนแผ่เมตตาจะเต็มไปด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูกน้อยคนเดียว นั่นคือ แม่พร้อมที่จะรักลูกน้อยของตนโดยมองข้ามความบกพร่องของลูกได้ ฉันใด คนแผ่เมตตาก็สามารถที่จะรักและให้อภัยคนอื่นได้ ฉันนั้น

สามีภรรยาต้องฝึกแผ่เมตตาให้กันและกัน ความรักแบบเมตตาไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของคู่ครอง แต่เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้กำหนดความสนใจให้พุ่งเป้าไปที่ความดีงามหรือความน่ารักของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักแบบเมตตาจึงดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ เรียกว่า“อัปปมัญญา” คือไม่มีขีดจำกัด ตราบใดที่สามีภรรยายังนึกถึงความดีงามของอีกฝ่ายหนึ่ง ตราบนั้น ความรักแบบเมตตาก็ยังคงอยู่ตลอดไป

ความรักแบบโรแมนติกมีวันจืดจางไปเมื่อความสวยงามร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ความรักแบบเมตตายังคงที่คงทนเพราะไม่ได้ใส่ใจความสวยงามภายนอกที่ร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเพ่งความสนใจไปที่ความดีงามภายในจิตใจอีกด้วย นั่นคือความรักแบบเมตตาใส่ใจคนรักในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์และเป็นเพื่อนชีวิตของเรา

ในการแต่งงานตามประเพณีไทยต้องมีพิธีหลั่งน้ำสังข์ ซึ่งเป็นการสอนธรรมให้คู่บ่าวสาวมีความรักความเมตตาต่อกันและอยู่ครองคู่กันโดยไม่แตกแยก เหมือนกับสายน้ำสังข์ที่หลั่งรดมือนั้น คนโบราณได้ว่าคาถาหลั่งน้ำสังข์ให้พรคู่บ่าวสาวว่า “อิทัง อุทะกังวิยะ สะมัคคา อภินนา โหถะ ขอเธอทั้งสองจงปรองดองไม่แตกแยกกันเหมือนน้ำนี้เถิด”ดังคำประพันธ์ที่ว่า ขอเธอทั้งสอง อยู่ครองสมานดุจดังสายธาร สะอาดสดใส สายน้ำมิแยก แตกกันฉันใด ขอสองดวงใจ ดุจสายธารเทอญ