posttoday

ผู้นำต้องมีธรรมในใจ

06 มกราคม 2562

เรื่อง: ราช รามัญ

เรื่อง: ราช รามัญ


ธรรมของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน แม้แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็นำเอาไปใช้ได้ ดังที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับที่มาของคุณธรรมผู้นำ เนื้อความว่า

ในอดีตกาลในเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า สังยมะ หรือว่าสังยมนะ หรือว่า สัญยมนะ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหงส์ทอง คือหงส์ที่มีขนสีทอง มีหมู่หงส์บริวารเป็นอันมาก อาศัยอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ นามของพระยาหงส์โพธิสัตว์มีชื่อว่า ธตรัฏฐ เมื่อจะเรียกในฐานะเป็นหัวหน้าฝูงหงส์ก็เรียกว่า พระยาหงส์ธตรัฏฐ และมีหงส์ทองอีกหนึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ หรือสุมุข ในครั้งนั้นพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่มีพระนามว่า เขมา ได้ทรงพระสุบินว่ามีพระยาหงส์ทอง 2 ตัวมาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์

พระเทวีดำริว่า พระยาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจะมีอยู่ในโลกนี้ จึงได้ทูลพระราชาพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทรงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ครรภ์ ต้องการที่จะได้เห็นหงส์ทอง ได้ฟังหงส์ทองแสดงธรรม

พระราชาจึงให้สืบว่ามีหมู่หงส์อาศัยอยู่ที่ไหน พวกพราหมณ์ก็ไม่ทราบ แต่ก็ทูลว่าพวกพรานคงจะทราบ จึงได้โปรดให้เรียกพวกพรานป่ามาตรัสถาม พรานคนหนึ่งก็กราบทูลว่า ได้ทราบต่อๆ กันมาว่า หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในประเทศหิมวันต์ พระราชาก็ตรัสถามว่า จะพอรู้อุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือไม่ พวกพรานก็กราบทูลว่าไม่ทราบ จึงได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์บัณฑิต

พราหมณ์บัณฑิตก็กราบทูลว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับที่เขาคิชฌกูฏ ขอให้ทรงขุดสระใหญ่ชื่อ เขมะ ทางทิศเหนือของพระนคร ให้เต็มด้วยน้ำ ปลูกธัญชาติต่างๆ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่งอยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ และให้ประกาศเป็นเขตให้อภัยแก่สกุณชาติต่างๆ ที่จะมาหากินที่สระนั้น

เมื่อพรานผู้รักษาสระได้เห็นหงส์ทองลงมา ก็ได้เฝ้าดูอยู่ถึง 6-7 วัน ว่ามาจับที่ไหน และเมื่อสังเกตที่ได้แน่นอนแล้ว ก็วางบ่วงดักไว้ใต้น้ำ พระยาหงส์ทองนั้นมาก็ลงไปในน้ำตรงบ่วงนั้น ก็ติดบ่วงของนายพราน จากนั้นนำหงส์ไปถวายพระราชา

ฝ่ายพระราชาเมื่อได้เห็นหงส์ก็มีความดีใจ และก็บอกว่าให้พักอยู่ระยะหนึ่งก็จะปล่อยไป และให้พระยาหงส์อยู่ในที่อันสมควร และก็ได้พระราชทานอาหาร เป็นต้น

ฝ่ายพระยาหงส์นั้นก็ได้ทูลแก่พระราชาเป็นการปฏิสันถารว่า พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีโรคาพยาธิ มีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม

พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า โทษอะไรๆ ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์ละหรือ และอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีอาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา

พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉม พระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉม และพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา

พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแก่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ

พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม

พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ พระราชา
ก็ตรัสตอบว่า เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม 10 ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่พิโรธ คือความกระทำไม่ให้ผิด แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา ดั่งนี้

เมื่อพระราชาได้ตรัสตอบดั่งนี้แล้ว พระยาหงส์ก็ถวายอนุโมทนาแก่พระราชา และก็ได้พระราชทานทรัพย์แก่นายพราน ทรงให้พระยาหงส์กับเสนาบดีพระยาหงส์พักอยู่ ทรงพระราชทานเลี้ยงดูให้มีความสุข แล้วก็ทรงปล่อยพระยาหงส์และหงส์เสนาบดีนั้นให้กลับไปสู่ภูเขาคิชฌกูฏ

เรื่องนี้แสดงทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมของผู้ปกครอง

เนื้อความในมหาหังสชาดกมีดั่งที่เล่ามานี้ และเรื่องทศพิธราชธรรม ก็มาจากคำตอบ หรือพระราชดำรัสตอบของพระราชาตอนที่ว่า เราตั้งอยู่ในธรรม 10 ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ-การบริจาค อาชชวะ-ความซื่อตรง มัททวะ-ความอ่อนโยน ตบะ-ความเพียร อักโกธะ-ความไม่โกรธ อวิหิงสา-ความไม่เบียดเบียน ขันติ-ความอดทน อวิโรธนะ-ความไม่ทำให้ผิด รวมเป็น 10 ประการ

นี่คือธรรมที่สำคัญ ที่ผู้นำทั้งหลายควรจะมี