posttoday

พระพุทธเมตตา วัดสุวรรณภูมิฯ สงบเย็น โดดเด่น สง่างาม

26 สิงหาคม 2561

ในที่สุดพระพุทธเมตตา (จำลอง) ขนาดเท่าองค์จริงกับพระพุทธเมตตาที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์พุทธยา

โดย วรธาร ทัดแก้ว ภาพ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี

ในที่สุดพระพุทธเมตตา (จำลอง) ขนาดเท่าองค์จริงกับพระพุทธเมตตาที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาเจดีย์พุทธยา ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ ได้มีโครงการสร้างขึ้นเมื่อปี 2559 ก็ได้สร้างเสร็จและอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจำลองจากมหาเจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดียเป็นที่เรียบร้อย

พิธีอัญเชิญพระพุทธเมตตาขึ้นประดิษฐานบนมหาเจดีย์ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี มีการจัดงาน 2 วัน คือ วันที่ 24 และ 25 ส.ค. 2561 มีการจัดงานอย่างงดงามและสมเกียรติ โดยมีประชาชนและพระสงฆ์เดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก ในการนี้ พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล และพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล อีกหลายรูปเดินทางมาร่วมงานด้วย

วันที่ 24 ส.ค.ขบวนแห่พระพุทธเมตตา ออกจากอาคาร คิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ มาตามเส้นทางถนนสายศรีวารีน้อย เข้าสู่ซอยจระเข้น้อย 8 วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี โดยมี พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี ป.ธ.9) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุรรณภูมิพุทธชยันตี นั่งเจริญจิตตภาวนาบนขบวนรถอัญเชิญพระพุทธเมตตา โดยมีขบวนแห่ของเจ้าหน้าที่ พนักงานคิง เพาเวอร์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีแห่คับคั่ง

พระพุทธเมตตา วัดสุวรรณภูมิฯ สงบเย็น โดดเด่น สง่างาม

ขณะวันที่ 25 ส.ค.เป็นพิธีอัญเชิญพระพุทธเมตตาขึ้นประดิษฐานบนชั้นแรกของพระมหาเจดีย์ที่การก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ 100% ในเวลาอันใกล้นี้ ก็ดำเนินการผ่านไปด้วยความเรียบร้อยท่ามกลางรอยยิ้ม ความปีติของผู้ที่มาร่วมงาน ทั้งพระสงฆ์และประชาชน

การสร้างพระพุทธเมตตา (จำลอง) เท่าองค์จริง หน้าตัก 60 นิ้วนี้ เจ้าภาพใหญ่ คือ วิชัย และเอมอรศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมพระพุทธเมตตาจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่อาคาร คิงเพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการถาวรที่มหาเจดีย์ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี

“พระพุทธเมตตาองค์นี้ คุณโยมวิชัย คุณโยมเอมอร ศรีวัฒนประภา เป็นเจ้าภาพสร้าง การอัญเชิญไปประดิษฐานชั่วคราวที่ คิง เพาเวอร์ (วันที่ 8-24 ส.ค.) ก่อน ก็เพื่อต้องการให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้สร้าง และชาวคิง เพาเวอร์ ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้นได้กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต” พระครูปริยัติโพธิวิเทศ(ดร.พระมหาคมสรณ์) โฆษกพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล และเจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร กล่าว

พระพุทธเมตตา วัดสุวรรณภูมิฯ สงบเย็น โดดเด่น สง่างาม

พระครูปริยัติโพธิวิเทศ กล่าวว่า พระพุทธเมตตา (จำลอง) เท่าองค์จริงนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 2559 โดยช่างอินเดียตระกูลฐากูร เจ้าของร้านสกัดหินและแกะสลักพระพุทธรูป เทวรูป และบุคคลต่างๆ ในเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ในการนี้ พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และหัวหน้า
พระธรรมตทูตสายอินเดีย-เนปาล ได้เดินทางไปเลือกหินและตรวจงานด้วยตัวเอง

“หลวงพ่อเจ้าคุณฯ ต้องเดินทางไปเลือกหินถึง 4 ครั้ง กว่าจะได้หินตามที่ต้องการ เพราะหินบางก้อนแม้ขนาดจะได้ แต่สีไม่ได้ คือ สีไม่ดำสนิท บางก้อนลวดลายเยอะก็ไม่ได้อีก ต้องไปครั้งที่ 4 จึงได้หินอ่อนสีดำก้อนนี้ เรียกว่าหาหลายเดือนกว่าจะได้ พอได้มาก็ให้ช่างเมืองพาราณสีแกะสลัก โดยมีช่างแกะสลักจากไทยไปช่วยกำกับอีกชั้นหนึ่ง แล้วช่วงที่ช่างทำท่านหลวงพ่อเจ้าคุณฯ ก็ไปตรวจงานเป็นระยะ อาตมาก็มีโอกาสได้ติดตามไปด้วย”

โฆษกพระธรรมทูต กล่าวว่า ระยะเวลาการแกะสลักพระพุทธเมตตาใช้เวลา 1 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จ โดยได้มีการอัญเชิญกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา และประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่อาคารคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ จนถึงวันที่ 24 ส.ค.ก็อัญเชิญมายังวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี และประดิษฐานในมหาเจดีย์พุทธคยาจำลองในวันที่ 25 ส.ค.

พระพุทธเมตตา วัดสุวรรณภูมิฯ สงบเย็น โดดเด่น สง่างาม

สำหรับประวัติพระพุทธเมตตา คนไทยและชาวพุทธโดยเฉพาะผู้ที่เคยเดินทางไปแสวงบุญประเทศอินเดีย และผู้ที่ไปบวชภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ย่อมรู้จักดี เพราะพุทธคยา คือ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ที่ตรัสรู้ มีพระมหาเจดีย์สูงอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และตรงกลางระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์กับพระมหาเจดีย์เป็นที่ตั้งของวัชรอาสน์ (บัลลังก์เพชร) ที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้น

ภายในพระมหาเจดีย์พุทธคยาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตา พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาแต่ธรณีวัดจากพระเพลาซ้ายถึงขวากว้าง 155 ซม. สูงจากพระเพลาถึงพระเกตุ ประมาณ 160 ซม. ที่ฐานด้านหลังมีรูปสิงโต 2 ตัวซ้ายขวา ถัดจากสิงโตเข้ามาเป็นรูปช้าง 2 ช้างซ้ายและขวา ตรงกลางเป็นรูป
พระแม่ธรณีในท่าคุกเข่า

พระพุทธเมตตาแกะสลักจากหินสีดำเนื้อละเอียด ศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละ มีความงดงามยิ่ง ประดิษฐาน ณ ห้องบูชาชั้นล่างสุดของพระมหาเจดีย์พุทธคยา ทางประตูด้านทิศตะวันออก มีอายุกว่า 1,500 กว่าปี ไล่เลี่ยกับยุคสมัยหลวงพ่อองค์ดำ เมืองนาลันทา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธเคารพบูชาอย่างมาก

พระพุทธเมตตา วัดสุวรรณภูมิฯ สงบเย็น โดดเด่น สง่างาม

เหตุที่เรียก “พระพุทธเมตตา” เพราะมีพระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน ความเมตตากรุณา องค์พระเหลืองอร่ามสุกใสงดงาม ถ้าก้าวลงบันไดด้านหน้าพระมหาเจดีย์พุทธคยาข้างหน้าจะมองเห็นพระพุทธรูปนี้ประดิษฐานอยู่ในอิริยาบถนั่งสงบแต่โดดเด่นสง่างามอยู่ภายในพระเจดีย์ชั้นล่าง เข้าไปใกล้ๆ ยังใจให้เกิดปีติอย่างยิ่ง พระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตาเสมือนรอรับผู้มาเยือนจากทิศน้อยใหญ่