posttoday

ตั้ง มส.ตามพระราชอัธยาศัย คือคำตอบ 

08 กรกฎาคม 2561

ผ่านการพิจารณาและการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเรียบร้อยด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 127 เสียง

โดย...วรธาร ทัดแก้ว 

ผ่านการพิจารณาและการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเรียบร้อยด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 127 เสียง สำหรับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ขั้นตอนต่อไปประธาน สนช.ก็จะส่งร่างฯ ไปให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์คงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการ
แต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

ขณะที่องค์ประกอบของ มส. ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุ ซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

แม้ร่างกฎหมายนี้จะผ่าน สนช.ไปแล้ว แต่ประเด็นการแต่งตั้ง มส. ที่ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น
ชาวพุทธและพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยยังต้องการความชัดเจนจากนักกฎหมายเพื่อจะได้หายกังวล เพราะตัวหนังสือในกฎหมายสามารถตีความได้ต่างๆ 

ตั้ง มส.ตามพระราชอัธยาศัย คือคำตอบ 

“ผมขอตั้งคำถามถึงท่านรองฯ วิษณุ หรือนักกฎหมายทั้งหลายว่า กรณีเช่นนี้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้หรือไม่” น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตั้งคำถามถึงนักกฎหมายทั้งหลาย 

น.อ.ทองย้อย กล่าวว่า ที่ถามเช่นนี้ไม่ได้ตีรวน แต่ต้องการความแน่ใจและความชัดเจน เพราะตามความเป็นจริงกฎหมายจะมีผลก็ต่อเมื่อมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อน แต่ถ้านายกรัฐมนตรีเกิดยึกยักเล่นแง่ ยังไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะเป็นไปได้ไหม

“อยากถามนักกฎหมายหรือผู้รู้ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้หรือไม่ หรือว่ามีหลักกำหนดแน่นอนว่านายกฯ ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการสถานเดียว ไม่ลงนามมิได้ ตรงนี้อยากให้ผู้รู้กฎหมายชี้ชัดไปเลย ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วนายกฯ ต้องลงนามสถานเดียว ไม่ลงไม่ได้ อย่างนี้ผมและชาวพุทธก็สบายใจ เพราะเราสามารถคาดหวังถึงความเจริญของพระพุทธศาสนาในอนาคต เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะอยู่แล้ว อีกทั้งทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกด้วย

ดังนั้น การที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งใครมาทำหน้าที่ ถือว่าทรงมีพระราชวินิจฉัยและกลั่นกรองมาดีแล้ว อีกทั้งในกฎหมายพระองค์จะทรงปรึกษากับสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ก็ได้ ซึ่งถ้าทรงปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชองค์ประมุขสงฆ์ก็อาจจะถามความเห็นจากคณะสงฆ์ก็เป็นได้ แต่ที่สุดแล้วการแต่งตั้งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยขึ้นกับพระองค์เอง ถ้าอย่างนี้เราชาวพุทธเคารพและไว้วางใจในพระราชอัธยาศัยของพระองค์เสมอ” น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กล่าวทิ้งท้าย