posttoday

วัดสามพระยา เมื่อไม่มีเจ้าคุณเอื้อน 

08 กรกฎาคม 2561

วัดสามพระยา ที่เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปกครองคณะสงฆ์ กำลังเงียบ วังเวง

โดย...สมาน สุดโต

วัดสามพระยา ที่เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปกครองคณะสงฆ์ กำลังเงียบ วังเวง เมื่อไม่มีพระพรหมดิลก (ดร.เอื้อน กลิ่นสาลี ป.ธ.9 Ph.D.) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าสำนักเรียนวัดสามพระยา ที่ต้องถูกจองจำ เมื่อศาลท่านปฏิเสธที่จะให้ประกันตัว แต่ก่อนทุกอย่างจะเป็นอดีต ท่านสั่งเสียพระที่วัดสามพระยาด้วยความเป็นห่วงว่าอย่าทิ้งสำนักเรียนบาลี

สำนักเรียนบาลีวัดสามพระยา มีชื่อเสียงมานานว่ามีนักเรียนทั้งพระภิกษุ-สามเณร มีศักยภาพสอบบาลีได้ทุกปี บางปีมีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่ออุปสมบทได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ ให้เป็นนาคหลวง เป็นเกียรติแก่สำนักตลอด ที่มีผลงานระดับนี้ เพราะวัดสามพระยา เป็นทั้งสำนักเรียนและเป็นศูนย์กลางอีกหลายอย่างของคณะสงฆ์ไทย เริ่มมาจากอดีตเจ้าอาวาสหลายองค์ และที่ไม่มีใครลืมคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนคณะสงฆ์ทั้งการปกครอง และการศึกษา และเจ้าอาวาสรูปต่อมาคือพระพรหมดิลก ได้สานเจตนานั้นมาตลอด จนกระทั่งต้องมาตกเป็นผู้ต้องหา และต้องสละเพศสมณะโดยไม่คาดคิด เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561

วัดสามพระยา เมื่อไม่มีเจ้าคุณเอื้อน 

เปิดเฟซบุ๊กวัดสามพระยา พบข้อความวันที่ 24 พ.ค. 2561 ที่คณะศิษย์บรรยายว่า 

ขอพระไตรรัตน์ พระทั้งสาม พระพุทธรัตน์ เป็นประธานให้ท่านสู้ ความหดหู่ในใจไปให้พ้นธรรมรัตน์ ส่องสว่างทางชีวิตจงพิชิตสัพพะภัยให้ห่างหายรัศมีพระธรรมนำท่านไปสู่จุดหมายที่หวังอย่างอาจองค์สังฆรัตน์ จงปัดป้องคุ้มครองท่านให้ย่างทานกาลเวลา สง่าหงส์ให้แข็งแรงด้วยแรงสู้อยู่ดำรงถือธงชัยชนะนั้นมาครองหากใจดีมีธรรมประจำจิตใครจะคิดจะตอบมอบความเศร้าจิตไม่มองเพราะมีธรรมตามดั่งเงาธรรมจะเฝ้าเป็นเกราะเพชรเผด็จมาร

สิ่งใดที่อดีตเจ้าอาวาสเคยทำไว้ รุ่นหลังได้สานต่อ แม้กระทั่งการใส่บาตรทุกวันพระ ดังบทกลอนที่ศิษย์เขียนถึง (วันที่ 12 มิ.ย. 2561)

วันนี้เป็นวันพระแรม 14 ค่ำ จำได้ขึ้นใจถึงวันพระครั้งใดท่านออกมาใส่บาตรหนาพระหนุ่มเณรน้อยได้ก็เปรมปรีดิ์แสนดีใจถึงแม้จะแลเห็นแต่เงา พวกเราก็ยังอุ่นใจ

วัดสามพระยา เมื่อไม่มีเจ้าคุณเอื้อน 

ผู้เขียนไปในวัด ช่วงบ่ายวันที่ 3 ก.ค. พบว่าบรรยากาศทั่วไปค่อนข้างเงียบเหงา หอพักสงฆ์ หรือโรงแรมพระสงฆ์จากภูมิภาค 2 อาคารที่เคยมีชีวิตก็ซบเซา เพราะไม่มีผู้พักอาศัย ในบริเวณกุฏิที่เป็นอาคารทรงไทยโบราณ ตั้งอยู่อย่างสงบ เมื่อมาที่ศาลาอบรมสงฆ์ ที่ได้รับการปรับปรุงเป็นหอประชุมอเนกประสงค์ ถูกปิดล็อกทุกด้าน

ข้อมูลทางวัดเขียนไว้ว่า ศาลาอบรมสงฆ์หลังนี้สร้าง พ.ศ. 2495 ในสมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) มีขนาดความยาว 41 เมตร กว้าง 22 เมตร เป็นอาคารอเนกประสงค์ชั้นเดียวศาลานี้มีคุณประโยชน์มากมายนับแต่เริ่มสร้าง โดยใช้เป็นที่อบรมสงฆ์ทั่วประเทศ เช่น อบรมพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส ตำบล อำเภอ จังหวัด และภาค เป็นต้น และยังใช้เป็นสนามสอบบาลีประโยค ป.ธ.7-8 และ 9 ที่ตรวจข้อสอบบาลี และประกาศผลสอบธรรมสนามหลวง และบาลีสนามหลวง เป็นประจำทุกปี

ศาลาอบรมสงฆ์หลังนี้ยังสร้างประวัติศาสตร์แก่คณะสงฆ์อีกหลากหลาย เช่น เป็นที่ตั้งสำนักอบรมครูวัดสามพระยา ที่มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระปริยัติโสภณ เป็นผู้อำนวยการ เพื่อสร้างพระสงฆ์ให้ได้รับความรู้ ความฉลาด ความสามารถ และความประพฤติดี โดยมีวิทยากรที่ทรงความรู้ในยุคนั้นมาประสิทธิ์ประสาทความรู้

วัดสามพระยา เมื่อไม่มีเจ้าคุณเอื้อน 

บทบาทของสำนักอบรมแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาล จึงสร้างอาคารหลังหนึ่งชื่อว่า รัฐธัมมูปถัมภ์ แต่ความรุ่งเรือง มาสะดุดเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำในการอุปถัมภ์ ถูกรัฐประหาร  เมื่อ พ.ศ. 2500

เมื่อเดินไปที่อาคารเรียนที่พระพรหมดิลก สั่งเสียว่าอย่าทิ้งสำนักเรียนบาลี ด้านหน้ามีป้ายใหญ่ติดไว้ให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรมว่า เก้า ก้าวเพื่อเปรียญเก้า และ พระราชกระแสเกี่ยวกับเรียนของพระสงฆ์ในรัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานแก่ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ว่า “พัฒนาความรู้และคุณภาพพระสงฆ์ ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระมีความสำนึกและเป็นประโยชน์ในสังคมไทย”

ขึ้นไปที่ชั้น 2 ก็พบห้องเรียน ป.ธ.7 ป.ธ.8 และ ป.ธ.9 ที่หน้าห้องมีประกาศชื่ออาจารย์ผู้สอน รายชื่อนักเรียน และตารางเรียน เช่น ชั้น ป.ธ.9 มีอาจารย์สอน 2 รูป คือ พระศรีปริยัติดิลก และพระมหามนูญธมฺมธโร กำหนดเวลาเรียนเป็น 2 ช่วง คือ ภาคเช้า เวลา 09.00-10.15 น. และภาคค่ำ เวลา 19.00-21.00 น. ส่วนนักเรียน ป.ธ.9 มี 5 รูป ในจำนวนนั้นเป็นพระ 4 รูป สามเณร 1 รูป

ผู้เขียนไปเยี่ยมชมเวลา 14.00 น. ไม่มีนักเรียนเหลือ นอกจากพระมหาสมศักดิ์สุขเวสโก ที่ฝึกฝนวิชาแปลไทยเป็นมคธอย่างขะมักเขม้น เพราะสอบตก ป.ธ.9 มาหลายปี แต่ก็ไม่ท้อ โดยท่านฝึกแปลพระธรรมเทศนาเรื่อง มงคลวิเสสคาถาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ถวายเนื่องในวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อนหาสธมฺโม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2539-24 พ.ค. 2561

วันที่ 13 ก.ค.นี้ เป็นวันเกิดปีที่ 72 ถ้ายังมีอำนาจวาสนา วัดสามพระยาจะแน่นด้วยพระเถระและสัปปุรุษ