posttoday

หัวใจพระพุทธศาสนา

24 มิถุนายน 2561

วันหนึ่ง มีคำถามปัจจุบันทันด่วนถึงผม ว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งพระสาวกชุดแรกออกไปประกาศพระศาสนาจำนวน 60 รูปนั้น

โดย สมาน สุดโต

วันหนึ่ง มีคำถามปัจจุบันทันด่วนถึงผม ว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งพระสาวกชุดแรกออกไปประกาศพระศาสนาจำนวน 60 รูปนั้น พระพุทธองค์เสนอแนะด้วยหรือไม่ว่า ให้ใช้หลักธรรมอะไรในการเผยแพร่ ผมให้คำตอบว่า ต้องเป็นเนื้อหาสาระในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นแน่แท้ เพราะธัมมจักกัปปวัตตนสูตรได้กล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ พร้อมทั้งตอบโจทย์ในเรื่องการปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ โดยลำดับแรกแสดงถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ว่าตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี ทางที่ดีที่สุดที่จะพ้นทุกข์ได้ คือมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่

1.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

2.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

3.สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต

4.สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต

5.สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต

6.สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

7.สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

8.สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

และอริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ได้แก่

1.ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

2.สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ

3.นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

4.มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่ฟังปฐมเทศนาแล้วดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ โกณฑัญญะ ต่อมาขออุปสมบท ถือเป็นพระภิกษุสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ในบรรดาปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้น พุทธประวัติได้กล่าวถึงอีกองค์หนึ่งคือ พระอัสสชิ ซึ่งฟังปกิณกะเทศนาแล้วบรรลุธรรม ขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อมาถึงกรุงราชคฤห์กลายเป็นพระเถระที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีกิริยามารยาทงดงาม วางตัวดี สำรวม จนกระะทั่งอุปติสสะปริพาชก ต่อมาคือพระสารีบุตร เกิดความเลื่อมใส จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

ท่านอัสสชิ ออกตัวว่า ท่านนั้นเป็นผู้บวชใหม่ ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ แต่จะบอกโดยย่อดังนี้ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณติ. คำแปล ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ อุปติสสะฟังแค่นี้ดวงตาเห็นธรรม แล้วชวนโกลิตะ หรือโมคคัลลานะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ต่อมาทั้งสองเป็นพระอัครสาวกซ้าย-ขวาของพระพุทธเจ้า

ผมพูดต่อว่า พระอัสสชิเถระนั้น เป็นนักปราชญ์โดยแท้ เพราะสามารถย่นย่อปฐมเทศนา หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ด้วยข้อความกะทัดรัด ที่เราชาวพุทธเรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คือ บท เย ธมฺมาฯ นั่นแล