posttoday

บัณฑิต มจร ต้องมีสองตา

13 พฤษภาคม 2561

วันนี้ (13 พ.ค.) เป็นวันที่ 2 และวันสุดท้ายของพิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 14

โดย  วรธาร ทัดแก้ว 

วันนี้ (13 พ.ค.) เป็นวันที่ 2 และวันสุดท้ายของพิธีประสาทปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 14 พุทธศาสตรมหาบัณฑิต รุ่นที่ 28 พุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 63 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ณ อาคาร มวก. 48 พรรษา มจร ต.ไทรน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทานปริญญาบัตร

ก่อนหน้าวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งเป็นวันพิธีซ้อมใหญ่รับปริญญา พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุณูปการพระพุทธศาสนากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” โดยมีพระภิกษุสามเณร เจ้าหน้าที่ บุคลากร อาจารย์ของ มจร รวมทั้งบัณฑิตที่จะเข้ารับประทานปริญญาร่วมรับฟังจำนวนมาก มีเนื้อหาหลายตอนที่น่าสนใจ

พุทธศาสนาเน้นพัฒนาจิตใจและสังคม

บัณฑิต มจร ต้องมีสองตา

พระพรหมบัณฑิต ปาฐกถาความตอนหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าระบบการเมืองแบบใดดีที่สุด ถ้าคน
ไม่ดีไปสู่ตำแหน่งในระบบนั้นๆ ย่อมเกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงต้องพัฒนามนุษย์ให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งเข้าสู่สังคมซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนามนุษย์ ตามแนวทางแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองระบุว่าการพัฒนาชาติเริ่มที่ประชาชน พัฒนาคนเริ่มที่จิตใจ จะพัฒนาอะไรพัฒนาที่ตัวเราก่อน คนจึงเป็นหัวใจของการพัฒนา แล้วพระพุทธศาสนาเรามุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจ พัฒนาสังคม นั่นจึงทำให้มหาจุฬาฯ จัดงานวันวิสาขบูชาโลก มุ่งเน้นการพัฒนามนุษย์

“ในการจัดงานวิสาขบูชาโลกได้ตั้งองค์กรรับผิดชอบ คือ สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (Internationl Council for the Day of Vesak) หรือ ICDV สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่มหาจุฬาฯ มีการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในคุณูปการพระพุทธศาสนาที่มีต่อการพัฒนามนุษย์ในมิติต่างๆ จนสหประชาชาติประกาศรับรองให้เป็นวันสากลของโลก ทำให้ชาวโลกคาดหวังจากเรา ซึ่ง IDDV มีภาระเป็นพันธกิจ 4 ประการ ซึ่งสอดคล้องกับมหาจุฬาฯ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การศึกษา การสร้างสันติภาพ (Peace Building) มหาจุฬาฯ ทำนั้นรวมอยู่ในคำเหล่านี้”

อธิการบดี มจร กล่าวต่อว่า การพัฒนามนุษย์เป็นการเตรียมความพร้อมให้ทำพันธกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องแปรสู่การปฏิบัติ ถ้าเราจะมีส่วนร่วมระดับโลกต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืน จะสร้างคุณูปการต่อชาวโลก งานวิจัยต้องนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติที่ได้ประกาศเป้าหมายตั้งแต่ปี 2558 ทำไปถึงปี 2573 เป็นพันธสัญญาของทุกรัฐบาลต้องทำและบอกได้ว่าทำอะไร

บัณฑิตต้องรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก

บัณฑิต มจร ต้องมีสองตา

พระพรหมบัณฑิต ยังพูดถึงการศึกษาโดยยกอันธสูตรมากล่าวว่า คนในโลกมี 3 จำพวก คือ คนตาบอด เป็นคนไม่มีความรู้ทางโลกและทางธรรมทางจิตใจ คนตาเดียว เป็นคนมีความรู้ทางโลกแต่ไม่มีความรู้ทางธรรม และคนสองตา เป็นคนที่มีความรู้ทางโลกและทางธรรม ทว่าการศึกษาที่ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จะต้องมีความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม

“บัณฑิตของมหาจุฬาฯ จึงต้องเป็นคนสองตา สอดรับกับปรัชญาของมหาจุฬาฯ คือ มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาและความรู้ศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ทำประโยชน์ให้ตนและสังคมสมกับเป็นบัณฑิต การเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์จะต้องมีดวงตาที่สมบูรณ์ เราเรียนปริญญาตรี เป็นสุตมยปัญญา รับข้อมูลจากคนอื่นมา คิด วิเคราะห์ ฟัง พูดอ่าน เขียน มีความรู้กว้าง ระดับปริญญาโท เป็นการคิดวิเคราะห์ทำวิทยานิพนธ์เน้นให้คิดเป็น พอปริญญาเอกต้องลงมือทำ ลงมือทดลอง ลงไปวิจัยในพื้นที่จริง เขียนตำราเอง ความรู้จากประสบการณ์ตรง ปริญญาเอกต้องมีความเชี่ยวชาญ เป็นภาวนามยปัญญา”

พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม

บัณฑิต มจร ต้องมีสองตา

ความตอนหนึ่งของปาฐกถา อธิการบดี มจร กล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนให้เรากตัญญูต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากพระพุทธองค์ตรัสไว้ในวนโรปสูตรว่า ชนเหล่าใดปลูกต้นไม้ ได้บุญทั้งกลางคืนและกลางวัน ตรัสอีกว่า ชนเหล่าใด นอนนั่งใต้ต้นไม้ ไม่ควรหักกิ่งไม้นั้น ใครกระทำ เลวแท้ๆ

พร้อมกันนั้น ยังพูดถึงศาสตร์พระราชา มรดกคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าเป็นพัฒนศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งการพัฒนาประเทศที่พระองค์ทรงเน้นการพัฒนามนุษย์ให้สามารถช่วยตนเอง โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มี 4 ประการ คือ 1.ที่ขาดเติมให้เต็ม 2.เต็มให้รู้จักพอ 3.พอให้แบ่งปัน 4.แบ่งปันให้เป็นธรรม เป็นมรดกที่ทรงสอนพวกเราบูรณาการกับพระพุทธศาสนา คือ กายจิตใจ สังคม ปัญญา เช่น สอนเรื่องมหาชนก ให้มีความเพียร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเน้นปิดทองหลังพระ พอมาถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเน้นให้เรามีจิตอาสา

พระพรหมบัณฑิต ได้กล่าวคุณลักษณะของจิตอาสาไว้ 4 ประการ 1.เสนอตัวเข้าร่วมช่วยกันทำกิจกรรมมีจิตอาสาในการมาช่วยกันทำ 2.เป็นประโยชน์สูงสุดแห่งประชาชนและสังคมส่วนรวม 3.ทำด้วยสมัครใจเต็มใจ 4.ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ถือว่าเป็นสังคหวัตถุธรรมที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงย้ำให้คนไทยมีจิตอาสา ช่วงสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ไม่คิดจะเอาชนะใคร แต่ต้องการเอาชนะความหิวโหยของประชาชน หมายถึงชนะความยากจน ทำให้คนในชาติเกิดความสามัคคีต่อกันและทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ เพราะทรงใช้หลักสาราณียธรรม คือ คิดพูดทำด้วยความรัก (เมตตา) เกื้อกูลกันและกัน (สาธารณโภคี) ปฏิบัติตามกฎหมายเท่าเทียมกัน (สีลสามัญญตา) ปรับความคิดให้มีเหตุผล (ทิฐิสามัญญตา)

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้พระพุทธศาสนามีชีวิต เราต้องสืบสานในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 เราทุกคนต้องตื่นในฐานะเราเป็นบัณฑิต ต้องนำหน้าคนอื่น ช่วยคนอื่น ต้องดำรงชีวิตไม่ให้ประมาทในการดำเนินชีวิตสืบไป” พระพรหมบัณฑิต กล่าว