posttoday

วัดเจ็ดยอด ที่ทำสังคายนาครั้งแรกของไทย

06 พฤษภาคม 2561

เรื่องฝรั่งในล้านนา จ.เชียงใหม่ ช่วงสุดท้าย แต่ไม่มีเรื่องฝรั่งเข้ามาเกี่ยว

โดย สมาน สุดโต

เรื่องฝรั่งในล้านนา จ.เชียงใหม่ ช่วงสุดท้าย แต่ไม่มีเรื่องฝรั่งเข้ามาเกี่ยว หากเป็นเรื่องของวัดไทยในล้านนามากกว่า วัดที่ว่านี้ได้แก่ วัดเจดีย์เจ็ดยอด พระอารามหลวง ซึ่งเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่

ความสำคัญของวัดนี้น่าจะมีมาก มิเช่นนั้น กรมศิลปากร คงไม่ขอรับผ้ากฐินพระราชทานมาทอด เมื่อฤดูกาลกฐินที่ผ่านมานี้แน่นอน

มีอะไรดีในวัดนี้ อาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่เป็นผู้ชำนาญด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้กล่าวแนะนำขณะโดยสารรถบัสว่า วัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจและชวนชมอยู่มาก ได้ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปที่ศิลปะปูนปั้นรูปเทพต่างๆ ซึ่งประดับโดยรอบพระเจดีย์พุทธคยา (จำลอง) โดยบอกว่าเป็นศิลปะน่าทึ่ง และงามมาก ทั้งความประณีตในเชิงศิลปะและการสื่อถึงศิลปะการแต่งกายในสมัยโบราณ

วัดเจ็ดยอด ที่ทำสังคายนาครั้งแรกของไทย

เมื่อถึงสถานที่จริงๆ ก็ต้องตื่นใจกับสิ่งที่พบเห็นกับตา ก่อนอื่นผมนับเจดีย์ก่อนว่า ทำไมจึงเรียกว่า เจ็ดยอด นับได้ 7 ยอดจริงๆ ครับ เป็นเจดีย์ทรงพุทธคยา 5 องค์ และศรีลังกา 2 องค์ รวมเป็น 7 ด้านหน้าพระเจดีย์มีต้นโพธิ์ใหญ่ มีไม้ค้ำกิ่งโพธิ์ให้นำมาอธิษฐาน เผื่อบุญมาวาสนาส่ง อาจหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่รุมเร้าอยู่ด้วยก็ได้ นอกจากนั้น ก็เห็นงูหรือนาค ที่ปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ตั้งรอบๆ พระเจดีย์ สอบถามได้ความว่า พระเจดีย์พุทธคยา เป็นเจดีย์ประจำปีเกิดปีมะเส็ง (งูเล็ก)

ข้อมูลที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เสนอนั้น มีความว่า ความโดดเด่นของวัดเจ็ดยอด คือ ลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยา ในประเทศอินเดีย ซึ่งฐานเจดีย์มีการประดับปูนปั้นรูปเทวดา ส่วนด้านนอกพระเจดีย์ ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดานั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่อง มีลวดลายต่างกันไปดูงานน่าชม อีกทั้งยังมีสถูปเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระเจ้าติโลกราช ที่สวรรคตในปี 2030 ซึ่งพระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดฯ ให้สร้างขึ้น

สิ่งต่อมาที่น่าชมคือ สัตตมหาสถานคือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่งได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนโครธเจดีย์ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิสเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจลินทเจดีย์

อย่างไรก็ตาม วัดเจ็ดยอดนั้นมีความสำคัญในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องจากวัดนี้เป็นสถานที่ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี 2020 ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช อันเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก

วัดเจ็ดยอด ที่ทำสังคายนาครั้งแรกของไทย

ตามหลักฐานนั้น พระเจ้าติโลกราช ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และโปรดฯ ให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน โดยใช้เวลา 1 ปี จึงแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ พระอุโบสถหลังแรกของวัดเจ็ดยอดนั้น พระเมืองแก้วพระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดเชียงราย และด้านหลังของพระอุโบสถหลังนี้คือ สถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช นั่นเอง