posttoday

พรหมหวิหาร 4 ที่ผู้นำต้องมี (จบ)

29 เมษายน 2561

คราวที่แล้ว หมอได้พูดถึงธรรมข้อที่ 1 ในพรหมวิหาร 4 “ธรรมะสำหรับผู้นำ” นั่นก็คือ “เมตตา”

โดย นสพ.ชัยวลัญช์ ตุนาค  เจ้าของเพจ Dr.Dang Can Do

คราวที่แล้ว หมอได้พูดถึงธรรมข้อที่ 1 ในพรหมวิหาร 4 “ธรรมะสำหรับผู้นำ” นั่นก็คือ “เมตตา” ไปแล้ว คราวนี้จะพูดถึงข้อธรรมะที่ 2 นั่นก็คือ “กรุณา” และข้อ 3 คือ มุทิตา

อันว่าความกรุณานั้น หากดูความหมายแล้วคงจะแปลได้ว่า มีจิตใจสงสาร เป็นความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้จะเป็นคนที่เราไม่ชอบ ก็ต้องกรุณาต่อเขา ต้องมีความกรุณาทั้งหมดทุกคน ไม่เลือกกรุณาเป็นคนคน

บางทีคนที่เป็นหัวหน้าองค์กร แล้วมีความชอบหรือไม่ชอบใครนั้น ก็ควรพิจารณาดูให้ดี ว่าที่ชอบเขานั้นเพราะอะไร ที่ไม่ชอบเพราะอะไร

ชอบเพราะเขายกยอปอปั้น เห็นผิดเป็นถูก ร่วมมือกันทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่างก็รักก็ชอบกันไป แต่ลูกน้องฝ่ายที่ไม่ชอบเขา ทำไมถึงไม่ชอบเขา ดูเขาก็ขยันทำงาน และมักเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่ได้ร่วมมือไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไปโกรธ ไปเกลียดเขา ไปแกล้งเขา อย่างนี้เรียกว่า นอกจากจะไม่มีเมตตาแล้ว ความกรุณายิ่งไม่ต้องพูดถึง ถือว่าไม่มีหลักธรรมของผู้นำเลย

ก่อนอื่นผู้นำต้องหันมาดูตัวเราก่อน นอกจากความเมตตาแล้วความกรุณาที่มีให้ผู้ร่วมงานมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้นำควรกระทำ หากเป็นองค์กร หรือธุรกิจของเราเองหากเราซึ่งเป็นผู้นำไม่กรุณากับลูกน้องหรือพนักงานในองค์กร ลูกน้องก็อาจลาออกไปหางานที่อื่นทำ แต่ถ้าเป็นองค์กรของรัฐ ตำแหน่งหัวโขนที่สวมอยู่ ผู้นำจะทำอย่างที่ใจต้องการทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะองค์กรนั้นๆ ไม่ใช่ของผู้นำคนเดียว จะให้ลูกน้องลาออกแบบเอกชนคงไม่ใช่เรื่อง เพราะบางทีลูกน้องก็ทำงานมาก่อนหัวหน้าด้วยซ้ำ

หมอจึงเห็นว่า ผู้นำในองค์กรของรัฐควรมีธรรมะข้อนี้ให้มาก มากกว่าองค์กรของเอกชนด้วยซ้ำไป เพราะเราเป็นผู้นำมาได้ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเพราะอะไร หากมาด้วยความสามารถในการบริหารงาน เป็นคนดีมีคุณธรรม มาเพื่อพัฒนาองค์กร วิชาชีพก็ดีไป องค์กรหรือบ้านเมืองก็คงเจริญรุ่งเรือง และหากมีธรรมะของผู้นำติดตัวไปด้วยก็จะดียิ่ง เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำที่คนสรรเสริญ

ผู้นำที่ดีนอกจากจะมีเมตตาแล้ว ยังต้องมีความกรุณาเพิ่มเข้าไปอีกด้วย ถ้าได้ผู้นำแบบนี้ คนทำงานก็มีความสุข มีการปรับเงินเดือน ปรับตำแหน่ง ตามความเหมาะสมและยุติธรรม

เมื่อคนทำงานมีความสุข องค์กรก็จะมีแต่ความสุข เมื่อนั้นสังคมและประเทศชาติของเราก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยความกรุณา 1 ในพรหมวิหาร 4 ธรรมะสำหรับผู้นำ

พรหมวิหารข้อที่ 3 ได้แก่ มุทิตา ในธรรมะของผู้นำอาจหมายถึงว่าเมื่อลูกน้องได้ดี ได้รับความสำเร็จ มีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า ผู้นำก็พลอยชื่นชมยินดีในสิ่งที่เขาได้รับ ไม่อิจฉาริษยาในความสำเร็จของลูกน้อง อาจแสดงด้วยการพูด หรือส่งบัตรอวยพร หรือมอบของขวัญเพื่อแสดงความยินดีก็ได้

ในผู้นำที่กลัวว่าลูกน้องจะดีกว่า เด่นกว่า ไปไหน ไปโชว์อะไรก็ไม่กล้าเอาไปด้วย กลัวลูกน้องเด่นกว่า งานอะไรที่เด่นๆ ก็ไม่กล้ามอบหมาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้นำที่ไม่มี “มุทิตา” เมื่อไม่เคยส่งเสริมลูกน้อง ไม่เคยชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของลูกน้องแล้วจะได้ใจลูกน้องได้อย่างไร เมื่อไม่ได้ใจ ก็อย่าหวังว่าจะได้งาน เพราะงานที่มาจากใจ มันไม่ต้องสั่ง มันไม่ต้องพูดอะไรมาก มองตาก็รู้ใจ (ฮ่า)

นี่แหละครับคุณธรรมะของผู้นำ ที่หมออยากให้ผู้นำทุกคนมี เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มของการสร้างสังคมที่ดีต่อไป หากผู้นำไม่มีคุณธรรมข้อนี้แล้ว สังคมจะแย่ไปกันใหญ่

ข้อสุดท้าย อุเบกขา ถ้าดูความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แล้วเห็นจะแปลได้ว่า ความวางใจเฉยอยู่ ความเที่ยงธรรม ความวางตัวเป็นกลาง หรือแปลตามภาษาบาลีที่ว่า อุเปกขา หรือภาษาสันสกฤตที่ว่า อุเปกษา ก็จะได้คำแปลว่า ความวางเฉย ความวางใจ เป็นกลาง เช่นเดียวกัน

ผู้นำที่มีคุณธรรมข้อนี้ จะมีคุณสมบัติในความวางเฉย วางใจเป็นกลาง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อย่างที่หมอเคยบอก ไม่ใช่ชอบแต่คนประจบสอพลอ คนเก่งคนดีที่ไม่ประจบตัวเองก็ไปรังแกเขา ไม่ชอบเขา

ผู้นำที่มีคุณสมบัติข้อนี้ ใจจะไม่เอนเอียงเพราะชอบหรือเพราะชัง ไม่ดีใจหรือเสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนหนักแน่นมีสติ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี่แหละผู้นำที่มี “อุเบกขา” บางคนไปแปล “อุเบกขา” ว่าอยู่เฉยๆ วางใจเป็นกลาง คือ ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ไม่ว่าจะถูกหรือผิด อันนี้เข้าใจผิดกันนะครับ ถ้าพิจารณาแล้วฝ่ายไหนถูกต้องช่วยฝ่ายนั้น ฝ่ายไหนทำผิดอย่าไปส่งเสริม อย่างนี้ครับเรียกอุเบกขา ไม่ใช่วางเฉยไปทุกเรื่อง อันนี้ไม่น่าจะใช่นะครับ (ฮ่าๆ)

ความเที่ยงธรรมที่ผู้นำมีจะเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อลูกน้องเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรม ความยุติธรรมของผู้นำ ใจทั้งใจที่มีให้ก็จะเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และพร้อมที่จะช่วยในทุกๆ เรื่อง เพราะเชื่อว่าผู้นำจะนำพาไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อได้ใจลูกน้องงานก็จะสำเร็จตามสูตรที่ว่าคนสำเร็จ งานสำเร็จนั่นเอง

ผู้นำที่มีอุเบกขาจะเป็นคนหนักแน่น มีความเป็นผู้ใหญ่สูง เวลาจะพูดจาสั่งงานอะไรกับลูกน้อง ก็มีความมั่นใจมีเหตุผลในการสั่งงาน และคอยสนับสนุนเราอยู่ตลอด ไม่ใช่สั่งงานก็มั่วๆ แล้วยังอยากได้งานดีๆ 555