posttoday

พระเทพปริยัติโมลี สืบทอดนักปั้นเปรียญ 9

11 มีนาคม 2561

การสอบบาลีสนามหลวงประจำปีการศึกษา 2560-2561 บัดนี้ทราบผลกันทั่วประเทศแล้ว

โดย วรธาร ทัดแก้ว

การสอบบาลีสนามหลวงประจำปีการศึกษา 2560-2561 บัดนี้ทราบผลกันทั่วประเทศแล้ว เพราะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ วัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม กรุงเทพฯ ปรากฏว่าประโยค ป.ธ.9 มีผู้สอบได้ถึง 51 รูป โดยเป็นสามเณร 6 รูป ถ้าย้อนสถิติผู้สอบได้ ป.ธ.9 ไป 2 ปี จะเห็นว่าปี 2559 มีผู้สอบได้ 44 และปี 2560 สอบได้แค่ 28 รูป

เชื่อไหมว่า ทุกปีที่มีการประกาศผลสอบบาลี “วัดโมลีโลกยาราม” เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นสำนักเรียนบาลีที่ถูกโฟกัสทุกครั้ง เนื่องจากมีผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคทุกปีในห้วงเกือบ 10 ปีมานี้ และปีนี้ก็ไม่พลาดมีผู้สอบได้ 2 รูป ภิกษุทั้งสองรูป ที่สำคัญมีพระเณรสอบได้มากเป็นอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ รวมทุกประโยคมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน (มีเพียงปี 2551 หลุดจากหัวแถว)

สำหรับผลการสอบปีนี้สำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามมีจำนวนผู้สอบได้แต่ละประโยคดังนี้ ประโยค 1-2 สอบได้ 52 รูป ป.ธ.3 (ป.ธ.-เปรียญธรรม) สอบได้ 39 รูป ป.ธ.4 สอบได้ 23 รูป ป.ธ.5 สอบได้ 16 รูป ป.ธ.6 สอบได้ 21 รูป ป.ธ.7 สอบได้ 17 รูป ป.ธ.8 สอบได้ 8 รูป และ ป.ธ.9 สอบได้ 2 รูป รวมได้ทั้งหมด 178 รูป และยังครองอันดับ 1 อยู่

โดยยังไม่รวมผลสอบบาลีครั้งที่ 2 ที่แม่กองบาลีสนามหลวงจะจัดสอบในเดือน เม.ย. สำหรับผู้สอบประโยค 1-2-ป.ธ.5 ที่ไม่ผ่านบางวิชาในครั้งแรกได้สอบแก้ตัว พร้อมประกาศผลในปลายเดือนเดียวกัน เมื่อถึงวันนั้นแต่ละสำนักอาจมีจำนวนผู้สอบได้เพิ่มขึ้นหรืออาจเท่าเดิม แต่สำนักเรียนวัดโมลีฯ เชื่อว่าต้องได้เพิ่มอย่างแน่นอน

ด้วยว่าวัดโมลีฯ เป็นสำนักเรียนบาลีที่เข้มแข็งมาตั้งแต่สมัยพระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) มาครองวัด ซึ่งนอกจากได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ยังได้ฟื้นฟูและส่งเสริมการศึกษาบาลีของภิกษุสามเณรควบคู่ไปด้วยอย่างเข้มแข็ง โดยมี พระมหาสุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.9 (ปัจจุบันคือพระเทพปริยัติโมลี เจ้าอาวาสหรือเจ้าสำนักเรียนรูปปัจจุบัน) ซึ่งเป็นลูกศิษย์นั่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของสำนักเรียนวัดโมลีฯ คอยขับเคลื่อนและเป็นกำลังสำคัญ

พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาส หรืออดีตเจ้าสำนักเรียนวัดโมลีฯ และอดีตเจ้าคณะภาค 10 นั้นเป็นพระที่ใส่ใจการศึกษาบาลีมาก ท่านคือพระนักปั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค โดยมีศิษย์ที่เป็น ป.ธ. 9 กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งบรรพชิตและฆราวาส บรรพชิตก็มีทั้งเจริญในสมณศักดิ์และตำแหน่งทางปกครองสงฆ์ เช่น เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น ฆราวาสก็มีหน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า ขณะศิษย์ที่เป็นเปรียญอื่นๆ ก็นับมิถ้วน

พอสิ้นพระพรหมกวีในปี 2554 พระมหาสุทัศน์ วรทสฺสี ที่ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในปี 2551 ที่พระเมธีวราภรณ์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อในปี 2555 (ต่อมาปี 2556 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชปริยัติโมลี และพระเทพปริยัติโมลี ในปี 2559) ก็ได้เจริญรอยตามผู้เป็นอาจารย์อย่างงดงาม โดยสานต่อการศึกษาบาลีอย่างเต็มกำลังพร้อมกับตั้งใจว่าทุกปีสำนักเรียนวัดโมลีฯ จะต้องมีผู้สอบได้ไม่ต่ำกว่า 100 รูป

พระเทพปริยัติโมลี สืบทอดนักปั้นเปรียญ 9

แล้วเป็นไปตามที่ท่านตั้งใจมาตลอดตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียนมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีปีไหนที่จำนวนผู้สอบได้ต่ำกว่า 100 รูป ที่สำคัญประโยค ป.ธ.9 สอบได้ทุกปีและปีนี้ก็ได้ถึง 2 รูปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ภิกษุสามเณรที่บวชมาแล้วอยากประสบความสำเร็จในการศึกษาหรืออยากเป็นเปรียญ 9 วัดโมลีฯ คือ จุดหมาย

สามเณรภาณุวัฒน์ กองทุ่งมน หนึ่งในสามเณรที่เชื่อว่าวัดโมลีฯ สามารถทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยได้ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อสามเณรอายุแค่ 11 ขวบ จะสามารถสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคในนามวัดโมลีฯ ในปีนี้ เรียกว่าสร้างประวัติศาสตร์สามเณรอายุน้อยที่สุดที่สอบได้เป็นมหาเปรียญ

พระเทพปริยัติโมลี กล่าวว่า การเรียนบาลีจะเรียนแบบฉาบฉวยไม่ได้ ผู้เรียนต้องใช้ความขยันและอุตสาหะอย่างสูง จึงจะประสบความสำเร็จ สามเณรภาณุวัฒน์ถือว่ายังเด็กมาก แต่มีคุณสมบัติที่กล่าวมาเต็มเปี่ยม เป็นที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า ถ้ามีความขยัน อุตสาหะ ไม่ท้อถอย ย่อมประสบความสำเร็จ

“สามเณรเป็นคนนครราชสีมา จบแค่ ป.4 ก่อนมาอยู่วัดโมลีฯ ได้บวชภาคฤดูร้อนแล้วเกิดอยากเรียนบาลี ทางโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ได้ห้าม อาจารย์สามเณรจึงนำมาฝากอาตมาที่วัดเป็นเด็กก็จริงนะ แต่ขยันและตั้งใจมาก สามารถสอบนักธรรมตรีและประโยค 1-2 ได้ในปีแรก และปีนี้ก็สอบได้ ป.ธ.3 ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา”

ต้องยอมรับว่าสำนักเรียนวัดโมลีฯ นั้นมีชื่อเสียงและเข้มแข็งมาตลอดในห้วงเกือบ 20 ปีมานี้ ถ้าเปรียบสำนักเรียนวัดโมลีฯ เป็นสินค้าแบรนด์หนึ่ง ก็เป็นสินค้าคุณภาพดีระดับพรีเมียมที่ใครๆ ก็อยากได้ ซึ่งสวนทางกับสำนักเรียนใหญ่ๆ หลายสำนักที่ต่างอ่อนแรงและร่วงโรยไปตามๆ กัน บางสำนักอ่อนแล้วอ่อนเลยเจ้าอาวาสหมดไฟไร้ความกระตือรือร้นและไม่พยายามฟื้นฟูใหม่ ผิดกับวัดโมลีฯ ที่เจ้าสำนักกลับทุ่มเทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ในความเป็นจริงจะเหนื่อยมากแค่ไหนก็ตาม

“วัดโมลีฯ มีพระเณรเรียนประมาณ 300 กว่ารูป เรื่องการขบฉัน  ค่าน้ำค่าไฟก็ได้ศรัทธาจากญาติโยมทั่วไป บางวันมาเลี้ยงเพล บางคนก็มาถวายปัจจัย เราก็ให้แม่ครัวทำอาหารเพล แต่ไม่ได้มีทุกวันอาตมาก็ต้องดูแลหามาเอง เหนื่อยหน่อยไม่เป็นไร ขอให้
พระเณรตั้งใจเรียนเต็มที่พอแล้ว” เจ้าสำนักเรียนบาลีอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ กล่าว

เห็นทุ่มเทให้กับการศึกษาขนาดนี้เราชาวพุทธต้องอุปถัมภ์และส่งเสริม ทุกท่านสามารถบริจาคเป็นค่าภัตตาหาร อุปกรณ์การเรียน ค่าน้ำค่าไฟได้ที่ พระเทพปริยัติโมลี เจ้าอาวาส โทร. 08-9660-1464, 02-472-8147 หากต้องการรู้ข่าวสารวัดก็เข้าไปเว็บไซต์ www.watmoli.org