posttoday

คอลัมน์สว่าง ณ กลางใจ รับรางวัลคนดีประเทศไทย

28 มกราคม 2561

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย

โดย วรธาร ทัดแก้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลโครงการคนดีประเทศไทย ปีที่ 9 ประจำปี 2559-2560 เพื่อเชิดชูคนทำดีและสร้างขวัญกำลังใจให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม โดยมี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคมและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานมอบรางวัล

มีคนดีผู้มีจิตสาธารณะเสียสละต่อสังคมไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว 4 คน

คนแรกต้องเขาคนนี้อยู่แล้ว “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือตูน บอดี้สแลม นักร้องพันธุ์ร็อกชื่อดัง แบบอย่างคนดีที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในความดีที่เขาทำกับโครงการก้าวคนละก้าว วิ่งจากใต้จรดเหนือเพื่อหาทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์มอบแก่โรงพยาบาลต่างๆ ในงานนี้รางวัลคนดีกิตติมศักดิ์แห่งปีจึงเหมาะสมอย่างยิ่ง

คนที่สอง “สุวรรณฉัตร พรหมชาติ” คนขับรถแท็กซี่วัย 38 ปี เจ้าของฉายาแท็กซี่อุ้มบุญ ทำหน้าที่รับผู้ป่วยผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดเงินมากว่า 20 ปี พูดได้เลยว่า ถ้าไม่มีจิตสาธารณะแท้จริงทำไม่ได้ นับเป็นบุคคลที่หาได้ยากในสังคมไทย

คนต่อมา “เจน พวงมาลี” อดีตข้าราชการครูเกษียณปี 2550 ความดีของเขาคือ หลังเกษียณอายุราชการได้ตระเวนสอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางสลับกัน 54 โรงเรียน เป็นเวลา 10 ปี จนถึงปัจจุบันโดยไม่รับค่าตอบแทน คนดีแบบนี้เชื่อเหลือเกินว่าต่อไปภายหน้าจะได้เห็นลูกหลานไทย (โดยเฉพาะคนที่ครูเจนเคยสอน) ทำอย่างครูเจนแน่ๆ

คอลัมน์สว่าง ณ กลางใจ รับรางวัลคนดีประเทศไทย

คนสุดท้ายเป็นเยาวชนคนดี ด.ช.วัฒนชัย เที่ยงธรรม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เด็กน้อยหัวใจ สิงห์ที่ตัดสินใจกระโดดน้ำลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถกระบะเสียหลักตกคูน้ำริมถนน

นี่คือบุคคลที่ทำความดีจากสาขาประชาชนและเยาวชน

นอกจากนี้ ยังมีสาขาสื่อมวลชนประเภท “ข่าวส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมดีเด่น” จำนวน 16 รางวัล แบ่งเป็นสาขาโทรทัศน์ 9 รางวัล สาขาสื่อวิทยุ 3 รางวัล สื่อเว็บไซต์ 2 รางวัล และสื่อหนังสือพิมพ์ 2 รางวัล คือ คอลัมน์พระเครื่องของข่าวสด และคอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

พูดถึงคอนเซ็ปต์ของ “สว่าง ณ กลางใจ” คือ การนำเสนอแง่มุมที่ดีของพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ทั้งมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเผยแผ่ การบริหารและปกครอง การสาธารณสงเคราะห์ การศึกษา มานานเป็นเวลา 14 ปีแล้ว ตั้งแต่เปิดคอลัมน์มา ไม่มีการเปลี่ยนชื่อคอลัมน์ใหม่และไม่มีการหลุดผังไปไหน

แม้คาแรกเตอร์ของโพสต์ทูเดย์จะเป็นหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ แต่เป็นหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจที่พระสงฆ์ต่างให้การยอมรับซื้อมาอ่านโดยเฉพาะฉบับวันอาทิตย์ที่มีคอลัมน์เกี่ยวกับธรรมะ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม พร้อมอนุโมทนาในกุศลเจตนาของ “สมาน สุดโต” ผู้เขียนและรับผิดชอบคอลัมน์มาเป็นเวลา 14 ปี และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่ถือว่าได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ

ทุกวันนี้ไปวัดไหนก็จะเห็นหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และคอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ โชว์หราอยู่ในกรอบอย่างดี ผมเองไปอินเดียเมื่อวันที่ 30 พ.ย.-9 ธ.ค. 2560 ก็เห็นมาแล้วแทบไม่อยากเชื่อว่าคอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ จะฮอตขนาดนี้ โชว์เรียงรายอยู่ในกรอบติดอยู่ที่วัดไทยพุทธคยาและวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์มากมายเป็นอันดับหนึ่ง

คอลัมน์สว่าง ณ กลางใจ รับรางวัลคนดีประเทศไทย

สมาน สุดโต ที่ปรึกษากองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ผู้เขียนและรับผิดชอบคอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ มา 14 ปี ได้เล่าที่มาของคอลัมน์ให้ฟังว่า ต้องย้อนไปเมื่อ 14 ปี หลังก่อตั้งโพสต์ทูเดย์ได้ 1 ปี ก็ได้เปิดคอลัมน์นี้ขึ้น โดยผู้บริหารโพสต์ทูเดย์ในขณะนั้นได้ให้มารับผิดชอบคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับศาสนาและศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะด้านศาสนา ซึ่งเขาเห็นว่าปัจจุบันข่าวสารด้านลบของพระสงฆ์บางรูปได้บั่นทอนขวัญกำลังใจพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีและตั้งใจทำงาน เพื่อพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก

“ดังนั้น ผมจึงต้องการนำเสนอข่าวสารและแง่มุมที่ดีงามของพระสงฆ์ผู้มีศีลาจารวัตรดีและตั้งใจทำงานเพื่อพระศาสนาและสังคมให้มีกำลังใจทำหน้าที่ต่อไป สำหรับชื่อคอลัมน์ผู้ตั้งคือ คุณณ กาฬ เลาหะวิไลย รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจหนังสือพิมพ์กลุ่มโพสต์ สมัยนั้นเป็นบรรณาธิการข่าวโพสต์ทูเดย์”

ที่ปรึกษากองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ทิ้งท้ายว่า การทำหน้าสื่อมวลชนเขาใช้หลักพระพุทธเจ้าที่ว่า นิคคัณเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณเห ปัคคะหาระหัง ตำหนิคนที่ควรตำหนิ ยกย่องคนที่ควรยกย่อง