posttoday

พระสงฆ์วัดอินทารามค้าน ไม่ให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเจ้าตากฯ

07 มกราคม 2561

โดย...ส.สต

โดย...ส.สต 

สืบเนื่องจากผู้เขียนแสดงความเห็นว่าจะให้การฉลอง 250 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีความหมาย และเป็นการเฉลิมพระเกียรติมหาราชที่ทรงเป็นวีรบุรุษชาวไทยให้ยั่งยืน จึงเสนอให้ราชการและคณะสงฆ์เปลี่ยนชื่อวัดอินทาราม เป็นชื่อวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

วันที่ 5 ม.ค. 2561 ผู้เขียนไปกราบเรียนถามความเห็นพระครูสุวิมลธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดอินทารามวรวิหาร และพระมหาพิน พุทธวิริโย พระมัคคุเทศก์ประจำวัด

พระครูสุวิมลธรรมโสภิต เจ้าอาวาส บอกว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะหลักฐานเอกสารยืนยันมีไม่มากพอ แม้ว่าสาธารณชนจะรู้กันทั่วว่า วัดนี้คือวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ตาม

ที่ยืนยันกันตลอดมาคือพระแท่นบรรทมที่ทรงเคยใช้เป็นที่ประทับแรมทรงธรรมและกรรมฐาน พระเจดีย์กู้ชาติที่บรรจุพระบรมอัฐิ

ส่วนพระมหาพิน พุทธวิริโย บอกว่า ไม่เห็นด้วยและขอค้านอย่างแรง เพราะวัดเป็นของส่วนรวม ที่จะให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เพราะมองในอนาคต หากพระในวัดทำเรื่องมิดีมิงามเป็นข่าวก็จะพูดว่าพระวัดสมเด็จพระเจ้าตากฯ ทำให้เสียชื่อพระองค์ท่าน ดังนั้นเป็นวัดอินทารามดีแล้ว เพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  นั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงอุปถัมภ์ทุกวัด

ที่ว่าชื่ออินทารามนั้นดีแล้ว เพราะอินทาราม แปลว่า วัดใหญ่ ซึ่งในอดีตนั้นมีที่ดินกว้างใหญ่ มีพระภิกษุสามเณรมาก และที่เป็นความรู้ใหม่คือวัดนี้ พระอินทร์อุปถัมภ์ รวมทั้งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงด้วย แต่ปัจจุบันมีแต่ชื่อและอาคารเรียนใหญ่โต แต่ไม่มีนักเรียน เพราะตั้งแต่สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมโดยอดีตเจ้าอาวาสตอนนั้น มีพระ 53 รูป และสามเณร 40 รูป แต่หลังจากนั้นนักเรียนก็หมด อาคารเรียนไม่มีคนดูแล ตัวท่านมหาพินจึงขออนุญาตเจ้าอาวาสมาอยู่ที่โรงเรียนปริยัติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2550 เพื่อรักษาอาคารและสถานที่มิให้ชำรุดทรุดโทรม

ในการที่ผู้เขียนได้กราบนมัสการครั้งนี้ ท่านให้ปฏิทินที่พิมพ์ในงานกฐินพระราชทาน พ.ย. 2558 มา 1 เล่ม เป็นปฏิทินเต็มไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ของวัดอินทาราม และเรื่องราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งภาพงามๆ ที่หายากด้วย

พระสงฆ์วัดอินทารามค้าน ไม่ให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเจ้าตากฯ

 

ข้อมูลของวัด จากปฏิทินดังกล่าวนั้น ดังนี้

วัดอินทารามวรวิหาร

วัดอินทารามวรวิหารเป็นวัดสำคัญสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์หลายอย่าง วัดอินทาราม ขณะนี้เป็นวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ ถนนเทอดไท ริมคลองบางกอกใหญ่ แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

วัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” คู่กับวัดราชคฤห์ ซึ่ง เรียกว่า “วัดบางยี่เรือใน” วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด เพิ่งปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์อย่างถึงขนาด แล้วสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลอย่างยิ่งใหญ่หลายครั้ง ทรงถวายที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นอันมากทรงสร้างกุฏิ เสนาสนะสงฆ์ 120 หลัง บูรณะพระปฏิมาและพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ถวายพระไตรปิฎก พระหีบปิดทองคู่หนึ่งสำหรับเก็บวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน พระองค์ก็ยังเสด็จมาทรงศีลบำเพ็ญพระกรรมฐานแรมพระตำหนักอยู่ถึง 5 เวร ทรงถวายเรือโขมดยาปิดทองทึบหลังคาบัลลังก์คาดสีสักหลาดเหลือง 1 ลำ คนพาย 10 คนมาเป็นปะขาวอยู่วัด

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากพระราชสงครามจากสระบุรี ได้โปรดให้สร้างพระเมรุที่วัดอินทารามเพื่อถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชชนนี ใช้เวลาสร้างถึง 2 เดือน และนำพระบรมอัฐิพระราชชนนีมาประดิษฐาน ณ วัดอินทาราม เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคต ได้นำพระบรมศพมาประดิษฐาน (ฝัง) ไว้ ณ วัดอินทารามนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว ยังทรงรับวัดอินทารามเป็นวัดอารามหลวงอยู่อีก พระองค์ได้เคยทรงเสด็จมาพระราชทานผ้ากฐิน 2 ครั้ง จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อๆ มา

วัดอินทารามได้ขาดการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ วัดอินทารามซึ่งได้เสื่อมสลักหักพังไป เพราะขาดผู้ทำนุบำรุง ก็ได้ผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ผู้ที่มีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดอินทารามขึ้นใหม่ครั้งนี้ ได้แก่ พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นตระกูลศรีเพ็ญ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้มิได้ทำกันเพียงสิ่งใดปรักหักพังก็ใช้ซ่อมแซม หรือปรับปรุงโยกย้ายของเก่ามาเป็นของใหม่เท่านั้น แต่พระยาศรีสหเทพได้ปลูกสร้างถาวรวัตถุเสนาสนะขึ้นใหม่ ตั้งแต่พระอุโบสถอันเป็นสิ่งใหญ่ลงไปจนถึงสิ่งเล็กน้อยเสร็จเรียบร้อยแล้วทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นพระอารามหลวงอีกครั้งหนึ่ง พระองค์พระราชทานนามว่าวัดอินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร จึงได้เรียกว่า วัดอินทารามสืบมาจนทุกวันนี้

แม้ว่าที่ผู้เขียนจุดประเด็นไว้จะเดินต่อลำบาก แต่เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังมีให้พูดถึงอีกครับ

พระสงฆ์วัดอินทารามค้าน ไม่ให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเจ้าตากฯ