posttoday

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (จบ)

07 มกราคม 2561

หลังจากภิกษุสามเณรนวกโพธิ 99 รูป เหล่าชีพรหมโพธิที่บวชในโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช

โดย...วรธาร ภาพ ณธนา หลงบางพลี-วรธาร ทัดแก้ว  

หลังจากภิกษุสามเณรนวกโพธิ 99 รูป เหล่าชีพรหมโพธิที่บวชในโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-9 ธ.ค. 2560 ในความริเริ่มและจัดขึ้นโดยมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ร่วมกับบริษัท การบินไทยสมายล์ ได้จาริกธรรมไปยังสังเวชนียสถาน 3 แห่ง (พุทธคยา ที่ตรัสรู้ สารนาถ ที่แสดงปฐมเทศนา กุสินารา ที่ปรินิพพาน) ตลอดจนสถานที่สำคัญอื่นๆ แล้ว ในที่สุดก็มาถึงสังเวชนียสถานที่ 4 คือ สวนลุมพินีวัน

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (จบ)

 

จากกุสินารา...สู่ลุมพินี 

คณะได้ออกเดินทางจากวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ในเช้าวันที่ 6 ธ.ค. จุดหมายสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ในเขตประเทศเนปาล โดยได้แวะพักฉันเพลและรับประทานอาหารกลางวัน ณ วัดไทยนวราชรัตนาราม 960 ซึ่งอยู่ห่างจากด่านโสเนาลี (Sonauli) อินเดีย-เนปาล ประมาณ 2 กิโลเมตร

เกี่ยวกับวัดไทยนวราชรัตนาราม 960 พระครูสิริสุตาภิรม พระธรรมวิทยากร โครงการฯ ประจำบัสคันที่ 3 เล่าที่มาคร่าวๆ ว่า ครั้งหนึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจที่อินเดียแล้วจะข้ามแดนเพื่อไปยังลุมพินีวันแต่เกิดปวดหนักกะทันหัน แต่จุดบริเวณดังกล่าวไม่มีห้องน้ำทำให้เกิดความลำบากมาก

“เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภเรื่องนี้กับพระธรรมโพธิวงศ์ (วีระยุทธ์ วีรยุทโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล (ขณะนั้นเป็นพระราชรัตนรังษี) เลยเป็นมูลเหตุของการสร้างวัด 960 ในเวลาต่อมาเพื่อให้เป็นที่พักระหว่างทางของผู้แสวงบุญ มีห้องน้ำห้องสุขา ที่จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ มีศาลาอเนกประสงค์ ที่พักดื่มน้ำชากาแฟ มีคลินิกปฐมพยาบาลพร้อม โดยพระราชรัตนรังษีได้ไปดำเนินการซื้อที่ดินในนามมูลนิธิวัดไทยกุสินารา และดำเนินการก่อสร้างจนสามารถใช้สอยได้ตั้งแต่ปี 2550 โดยสิ่งก่อสร้างแรกก็คือห้องน้ำห้องส้วม”

ฟังแล้วก็ได้แต่รำพึงคนเดียว “ผู้ใหญ่มีบุญบารมีไปที่ไหน ความสะดวกสบายหรือความเจริญมักจะเกิดขึ้นตามมาเสมอ” ทุกวันนี้วัดไทยนวราชรัตนาราม 960 ถือเป็นที่รองรับชาวพุทธจากทั่วโลก คณะแล้วคณะเล่าที่จะข้ามไปแสวงบุญในเขตประเทศเนปาล และจากเนปาลข้ามมายังอินเดีย

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (จบ)

 

ทว่า กว่าจะข้ามด่านแดนไปเนปาลได้ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ยังดีที่การเดินทางไปลุมพินีวันใช้เวลาไม่มาก เวลาบ่าย 3 เศษๆ ก็ถึงที่หมายทำให้มีเวลาในการทำกิจกรรมตามที่โปรแกรมวางไว้ คือ มีการทำวัตรเย็น สวดมนต์เต็มรูปแบบ ภายใต้พระต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใกล้สระโบกขรณี โดยการนำของพระเมธีวรญาณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ พุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ หัวหน้าพระธรรมวิทยากรประจำโครงการ

หลังจากนั้นคณะได้เข้าไปข้างในมายาเทวีวิหาร ซึ่งจะมีพระรูปพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา แกะสลักด้วยหินยืนประทับเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่ ส่วนข้างหน้าเป็นรูปสิทธัตถราชกุมารกำลังก้าวพระบาทบนดอกบัว เสร็จแล้วได้เดินทางไปพักยังวัดไทยลุมพินี อีกส่วนหนึ่งพักที่วัดจีน

ในวันที่ 7 ธ.ค. ช่วงบ่ายคณะได้เดินทางไปชมวัดทิเบต จากนั้นมุ่งสู่วัดนิโครธาราม ซึ่งในอดีตเป็นวัดที่เจ้าศากยะพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเพื่อรับรองการเสด็จกลับกบิลพัสดุ์ของพระพุทธองค์ วัดแห่งนี้เป็นที่ให้การบรรพชาแก่ราหุลกุมารและพระนันทะ (น้องชายต่างมารดาพระพุทธเจ้า) ทั้งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรต่างๆ เช่น เวสสันดรชาดก แก่พระประยูรญาติ ปัจจุบันในพื้นที่วัดมีสถูปขนาดใหญ่ ส่วนด้านหน้าทางเข้าจะมีสถูปของพระราหุล

ต่อมาคณะได้ไปพระราชวังกบิลพัสดุ์ซึ่งอยู่ไม่ไกลวัดนิโครธาราม ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐหักกากปูนของโบราณสถานที่รัฐบาลเนปาลรักษาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังคงเห็นร่องรอยแห่งอดีต ทำให้หวนระลึกถึงพระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเคยประทับอยู่ในที่แห่งนี้นานถึง 29 ปี ก่อนเสด็จออกผนวช ทางคณะได้เลือกจุดใกล้บริเวณประตูวังทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นประตูที่เจ้าชายสิทธัตถะ (ทรงม้ากัณฐกะโดยมีนายฉันนะตามเสด็จ) เสด็จออกผนวช เป็นจุดสำหรับทำวัตรสวดมนต์เย็นเจริญจิตตภาวนา

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (จบ)

 

ลาสิกขาที่ลุมพินี-มุ่งสู่เมืองสาวัตถี 

เช้าวันที่ 8 ธ.ค. ภิกษุสามเณรนวกโพธิและชีพรหมโพธิได้ทำพิธีลาสิกขาที่ลุมพินีวัน โดยมี พระศรีโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ทำพิธีสึกให้ จากนั้นได้ออกเดินทางมุ่งสู่เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย และพักวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ที่มีพระครูปริยัติโพธิเทศ (พระมหา ดร.คมสรณ์ คุตตธัมโม) เป็นเจ้าอาวาส โดยผ่านด่านโสเนาลี ใช้เวลาเดินทางเกือบ 8 ชั่วโมง จึงถึงวัดไทยเชตวัน ซึ่งความล่าช้าส่วนหนึ่งมาจากถนนหนทางไม่ดีนั่นเอง

ถัดมาวันที่ 9 ธ.ค. อันเป็นวันที่คณะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งต้องไปขึ้นเครื่องบินของการบินไทยสมายล์ที่เมืองลัคเนา ในตอนเช้าหลังจากรับประทานอาหารที่วัดไทยเชตวันมหาวิหารแล้วได้เดินทางไปวัดเชตวันมหาวิหาร โดยแวะชมบ้านบิดาของพระองคุลิมาล และบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก่อนมุ่งสู่วัดเชตวันมหาวิหารอันเป็นสถานที่สุดท้าย

“การมาวัดเชตวันมหาวิหารถือเป็นการมาเพื่อระลึกถึงคุณของมหาเศรษฐีผู้สร้างวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (เศรษฐีผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนยากไร้ที่พึ่ง) ซึ่งท่านเศรษฐีนับเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรวยในการทำบุญ โดยเฉพาะการสร้างวัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไว้ในพระพุทธศาสนา” พระเมธีวรญาณ กล่าว

เมื่อย้อนไปดูความเป็นมาของวัดทุกคนจะรู้ว่าเชตวันมหาวิหารเกิดขึ้นจากศรัทธาอันยิ่งยวดของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่มีต่อพระพุทธเจ้า จากการที่ครั้งหนึ่งได้ไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์แล้วมีโอกาสพบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมจนได้บรรลุโสดาบัน พอกลับมาสาวัตถีจึงได้สร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (จบ)

 

กล่าวถึงที่ดินสร้างวัดเศรษฐีได้ซื้อมาจากเจ้าเชต เดิมทีเจ้าเชตไม่ยอมขาย แต่ถูกเศรษฐีตื๊อตลอด จนหลุดปากพูดอย่างเสียไม่ได้ว่าถ้าเศรษฐีเอาทองมาปูเต็มสวนจะขายให้ เท่านั้นเองเศรษฐีก็จัดให้ เอาทองมาปูจนเต็ม เจ้าเชตเห็นศรัทธาอันแรงกล้าจึงยอมลดราคากึ่งหนึ่ง คิดเพียง 18 โกฏิ จากนั้นเศรษฐีก็ใช้เงินอีก 18 โกฏิสร้างมหาวิหาร เสร็จแล้วทำการฉลองด้วยเงินอีก 18 โกฏิ รวม 54 โกฏิกหาปณะ แถมชื่อวัดยังไม่ได้ใช้ชื่อตัวเองอีก เพราะเจ้าของสวนขอให้มีชื่อตัวเองด้วย กระนั้นเศรษฐีก็ยินดีอย่างยิ่ง (ถ้าเป็นเราท่านจะยอมไหมหนอ)

สำหรับวัดเชตวันมหาวิหารในปัจจุบันก็จะเห็นซากอิฐของสถานที่ต่างๆ ที่สามารถมองเห็น เช่น พระมูลคันธุกุฎีของพระพุทธเจ้า กุฎีของพระสาวก เช่น พระอัครสาวก พระอานนท์ พระสีวลี เป็นต้น มีต้นโพธิ์ที่ชื่อ อานนทโพธิ์ ที่เชื่อกันว่าปลูกตั้งแต่สร้างวัดเสร็จ นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏเป็นซากอิฐอีกมากอยู่ใต้ดินที่ยังไม่ได้ทำการขุดหน้าดินออก

ทว่า มีสถานที่หนึ่งที่คณะมีโอกาสเดินถึงที่คือ สถานที่พิจารณาและตัดสินอธิกรณ์ (คดี) ของภิกษุและภิกษุณีเวลาที่เกิดอธิกรณ์ขึ้นกับทั้งภิกษุและภิกษุณี ซึ่งในสถานที่ดังกล่าวจะมีบ่อความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าใครที่มีปัญหาเรื่องคดีความอยู่ มาถึงที่นี่แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรพร้อมเขียนชื่อตัวเองในกระดาษแล้วทิ้งลงบ่อเรื่องคดีความที่ประสบอยู่จะผ่านพ้นไปด้วยดี หลายคนในคณะจึงไม่ยอมพลาด

คณะได้ใช้เวลาทำกิจกรรมและเดินชมวัดเชตวันมหาวิหารประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นได้เดินทางไปยังเมืองลัคเนาเพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ