posttoday

การปฏิรูปกิจการ พระพุทธศาสนา (2)

17 กันยายน 2560

ตอนที่แล้วจบที่ขอทำความเข้าใจเรื่องปฏิรูป ว่า การที่คณะสงฆ์ต้องทำก็เพื่อเพิ่มศักยภาพกลไกคณะสงฆ์

โดย...พระราชวรมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.9 Ph.D.)

ตอนที่แล้ว การปฏิรูปกิจการ พระพุทธศาสนา (1) จบที่ขอทำความเข้าใจเรื่องปฏิรูป ว่า การที่คณะสงฆ์ต้องทำก็เพื่อเพิ่มศักยภาพกลไกคณะสงฆ์ เพราะถ้ายังไม่ทำอะไรเลย ก็มีอันหวังได้ว่า พระพุทธศาสนาของเราก็มีส่วนคล้อยสั่นคลอนและอาจล่มสลายไปในที่สุด

ระยะ 2-3 ปีมานี้ สถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนาล่อแหลมมาก มีประเด็นที่ผู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ หาเหตุอ้างจะเข้ามาปรับปรุงหรือปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา แต่ในที่สุดรัฐบาลก็เล็งเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา และมีมติเป็นหลักการว่า งานคณะสงฆ์ก็ต้องให้คณะสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการ จึงนำไปสู่ "การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา" ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบดังกล่าว

กรรมการ 6+1

มหาเถรสมาคมจึงแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อรับผิดชอบงานทั้ง 6 ด้านของคณะสงฆ์ ประกอบด้วย

ด้านการปกครอง : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท) เป็นประธานกรรมการ

พระราชวรเมธี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้านศาสนศึกษา : พระพรหมโมลี (สุชาติ) เป็นประธานกรรมการ

พระราชวรมุนี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้านการเผยแผ่ : สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) เป็นประธานกรรมการ

พระเทพสุวรรณเมธี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้านสาธารณูปการ : พระพรหมมุนี (สุชิน) เป็นประธานกรรมการ

พระราชสารเวที เป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้านศึกษาสงเคราะห์ : พระพรหมบัณฑิต (ประยูร) เป็นประธานกรรมการ

พระราชวรเมธี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ด้านสาธารณสงเคราะห์ : พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์) เป็นประธานกรรมการ

พระมงคลวชิรากร เป็นกรรมการและเลขานุการ

พร้อมกันนี้ ยังมีคณะกรรมการพัฒนาพุทธมณฑลอีกคณะหนึ่ง ซึ่งมี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานกรรมการ มีพระพรหมโมลี เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการทั้ง 6+1 ด้านนี้ จักเป็นองค์คณะที่จัดทำยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

แผนปฏิรูป 5 ปี และ 20 ปี

โดยกำหนดเป็นแผนฉบับที่ 1 ของคณะสงฆ์ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี คือ พ.ศ. 2560-2564 กำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการ กิจกรรม งบประมาณ ให้เป็นระบบสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ซึ่งตั้งยุทธศาสตร์ไว้ที่ 3 คำ คือ มั่นคง/มั่งคั่ง/ยั่งยืน ซึ่งคณะสงฆ์ได้ถอดหลักการยุทธศาสตร์ของชาติมาประยุกต์เป็นยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คือ พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดยตกผลึกออกมาเป็น กลยุทธ์ ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการ กิจกรรม ตลอดถึงผู้รับผิดชอบและงบประมาณ

ขณะนี้ทางคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระดับภาค กำลังเป็นพี่เลี้ยงให้ระดับจังหวัด เร่งจัดทำโครงการย่อย/กิจกรรมใต้ร่มเงาโครงการใหญ่ 12 โครงการของมหาเถรสมาคม พร้อมทั้งงบประมาณส่งมายังคณะกรรมการทั้ง 6 ด้าน และคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม (คปพ.) เพื่อพิจารณากลั่นกรอง สังเคราะห์ เสนอให้มหาเถรสมาคมอนุมัติ และเสนอรัฐบาลต่อไป

โครงการใหญ่ 12 โครงการ

ใน 12 โครงการใหญ่ ก็มีโครงการที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน (Flag Ship) เช่น โครงการพระพุทธศาสนา 4.0 ฐานข้อมูลศาสนบุคคล (Smart Buddhism) โครงการการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม (พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการยกระดับการศึกษาพระปริยัติธรรม

นอกจากนั้น ก็มีโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม โครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล 5 โครงการพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย โครงการพัฒนาระบบบริหารตามหลักธรรมาภิบาล โครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพุทธ โครงการยกระดับขีดความสามารถศาสนบุคคล โครงการศูนย์รวมองค์ความรู้พระพุทธศาสนา โครงการบริหารศาสนสมบัติ และโครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ทั้ง 12 โครงการนี้ เป็นโครงการหลัก (Mega Projects) ซึ่งระดับจังหวัดสามารถปรับปรุงโครงการ/กิจกรรมที่ทำมาแต่เดิม และคิดค้นโครงการหรือกิจกรรมใหม่อะไรก็ได้ ที่บูรณาการเข้ากับโครงการทั้ง 12 โครงการใหญ่ของมหาเถรสมาคมนี้ เพื่อทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาในภาพรวม

คณะสงฆ์ต้องปรับตัว

ขณะที่โลกกว้างแต่ทางแคบได้ก้าวไปอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คณะสงฆ์ต้องปรับตัว โดยการหันมาใส่ใจ ทบทวนกิจการงานหรือกลไกที่เรามีอยู่แล้วอย่างพร้อมสรรพ ให้ปรับเป็นระบบ มีการจัดองค์ความรู้ (Knowledge Management : KM) จัดฐานข้อมูล (Database) กิจการงานคณะสงฆ์ทั้งหมดเพื่อเป็นฐานในการพัฒนา รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต เมื่อมีเหตุอันไม่พึงประสงค์ บังเกิดแก่พระพุทธศาสนา จะหาทางรับมือกับสถานการณ์อย่างไร รู้จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคาม อันจะพึงมี

ทั้งนี้ การที่จะล่วงรู้ได้ การที่จะปรับปรุงและพัฒนาได้นั้น ก็ต้องดำเนินการโดยคณะสงฆ์ นั่นคือต้อง "ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์" เพราะ "การปฏิรูป คือ ทางเลือกและทางรอด" "เอกายโน อยํ มคฺโค วิรุฬฺโห พุทฺธสาสเน" โดยมิต้องสงสัย...นั่นเอง