posttoday

ปฏิรูป ต้องกำหนดให้ตรงประเด็นปัญหา

17 กันยายน 2560

ท่านผู้อ่าน อ่านเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ที่พระราชวรมุนี (พล อาภากโร)

โดย...ส.คนจริง

ท่านผู้อ่าน อ่านเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ที่พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) นำเสนอแล้วมีความเห็นอย่างไร เขียนส่งมาให้อ่านที่ นสพ.โพสต์ทูเดย์ หรือส่งเมล มาที่ [email protected] ก็ได้ครับ จะได้แชร์ความรู้ และความคิดเห็น

ในส่วนของผมมีความคิดเห็นว่า การที่พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) เสนอเรื่องแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา การนำนโยบายสู่การปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะกระแสสังคมเรียกร้องให้ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป พระพุทธศาสนา หลังจากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลายเรื่อง จนกระทั่งมหาเถรสมาคม (มส.) ต้องตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้น 6 คณะ บวก 1 ตามที่ทราบกันแล้ว

แต่ๆๆ เมื่อได้อ่านแผนที่เสนอเข้ามาทั้งระยะสั้น 5 ปี และระยะยาว 20 ปี ในหนังสือแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 2560-2564 การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ บางช่วง บางตอน จะพบว่าเต็มไปด้วยงานวิชาการ และไม่ตรงประเด็น (ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งประเด็น) เช่น ที่อ้างในบทที่ 2 (หนังสือแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูป 1.เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุสงฆ์ 2.เรื่องพระสงฆ์ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา 3.เรื่องการทำพระวินัยให้วิปริตและประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และ 4.เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร) ว่าเป็นที่มาของการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หยิบยกขึ้นมา ให้สังคมถกเถียง

เรื่องนี้แทนที่พระคุณเจ้าจะหยิบยกข้อที่ สปช.มาถก หรือปุจฉาวิสัชนากันก่อน ว่า 4 ประเด็นหลักที่ สปช.หยิบยกมานั้น คือ ปัญหาของพระพุทธศาสนาจริง หรือเป็นเพียงความเห็นของอุบาสกนอกวัดที่ไปเห็นความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อของภิกษุ หรือเจ้าคุณบางรูป แล้วยกเป็นประเด็นว่านี่คือปัญหาที่ต้องปฏิรูป พระคุณเจ้าหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่เป็นมือเป็นเท้าให้ มส.ก็ไม่เอาไหน ปล่อยให้ลอยไปตามกระแส จนกระทั่ง สนช.ชงเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปฏิรูปพระพุทธศาสนา เมื่อ ครม.พิจาณาแล้วส่งลูกต่อให้ มส.นั้น มส.ก็รับทันที แทนที่ มส.ซึ่งประกอบด้วยมหาเถระจะตั้งหลักก่อน กลับรับแล้วเขี่ยลูกให้ยาประจำบ้าน มส. 3 ท่าน คือ พระพรหมมุนี พระพรหมโมลี และพระพรหมบัณฑิต ไปจัดทำแนวทางปฏิรูป เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ก็เป็นอันว่าคณะสงฆ์เดินเข้าทางที่เขากำหนดไว้ โดยขาดโยนิโสมนสิการ ถ้าหากทั้ง 3 ท่านศึกษาแล้วแย้งไป คณะสงฆ์ก็อาจอยู่นอกกระแส หรือนอกห่วงโซ่ แต่ตอนนี้ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะไปเป็นข้อหนึ่งในห่วงโซ่ปฏิรูป ตามหมากที่เขาวางทั้งหมด จะเอวังก็ได้นะครับ

แท้จริงแล้ว ปัญหาหลักๆ ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่การศึกษาที่ย่อหย่อน ขาดแรงจูงใจ และโครงสร้างทางการปกครองที่หละหลวม ขาดการวางเส้นทางสนองงานพระพุทธศาสนาของผู้ที่ทุ่มเทเรียนบาลีจนหัวจะผุ ว่าเมื่ออยู่ในเส้นทางนี้ จะเจริญเติบโตในเพศสมณะอย่างไร แต่หาเส้นทางไม่พบ แปลว่าคณะสงฆ์ไม่มีมาตรการรองรับผู้ที่เรียนจบสูงๆ ทั้งทางด้านบาลี และนักธรรม ซึ่งสำนักเรียนหลายแห่ง รวมทั้งแม่กองบาลี แม่กองธรรมสนามหลวง ใช้งบประมาณอุดหนุนปีละมากๆๆ เเต่เมื่อสอบได้ประโยคสูง เช่น สอบ ป.ธ.9 ได้ ทางวัดหรือองค์กรอื่นๆ จัดฉลองเสร็จ ก็นั่งหายใจทิ้ง บางท่านเบื่อ ก็ไปเรียนต่อทางโลก หรือลาสิกขา (ส่วนมากลาสิกขา) เพราะคณะสงฆ์ไม่มีงานให้ทำตามความรู้ความสามารถ เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ถ้าแก้เรื่องการศึกษา โครงสร้างทางปกครอง เส้นทางสนองงานพระพุทธศาสนาของผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูง ว่าสามารถเจริญเติบโตเป็นถึงผู้บริหารพระศาสนาได้ ผู้เขียนเชื่อว่าแก้ปัญหาได้ และน่าจะเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนของการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป แต่จะมีใครทำ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอชื่นชม คำนิยม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ที่เขียนไว้ แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ว่าเป้าหมายการปฏิรูปครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงขององค์กรพระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นศาสนบุคคลที่พึงประสงค์ 6 ข้อด้วยกัน

1.เป็นครูอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ล้ำเลิศของศิษย์ 2.เป็นมิ่งมิตรมหามงคลของชาวบ้าน 3.เป็นปราการสร้างความสมานสามัคคีของคนในชาติ 4.เป็นศาสนทายาทที่เหนือคำบรรยาย 5.เป็นแบบแผนสำหรับผู้ใหญ่ในการบริจาค ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 6.เป็นผู้ควรแก่การขนานนามว่า อภิปูชนียบุคคล

ทั้ง 6 ข้อนี้ คือ การวิเคราะห์ตรงประเด็น มองเห็นปัญหาของพระพุทธศาสนาขาดเลย ว่าอยู่ไหน แก้อย่างไร หากทำตาม 6 ข้อ ผู้เขียน ว่าเป็นการปฏิรูปครับ