posttoday

กฎมิได้มีไว้แหก

20 สิงหาคม 2560

ผมไปญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ไปเห็นประเทศเขาแล้วบอกตรงๆ ว่าชอบและมีความรู้สึกว่าถ้าประเทศไทยของผมเป็นแบบนี้ก็คงจะดี

โดย...สธน

ผมไปญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ไปเห็นประเทศเขาแล้วบอกตรงๆ ว่าชอบและมีความรู้สึกว่าถ้าประเทศไทยของผมเป็นแบบนี้ก็คงจะดี บ้านเขามีความปลอดภัย ประชาชนมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย

ก่อนนี้พอได้ยินว่าคนญี่ปุ่นเขามีคุณลักษณะแบบนี้ พอไปเห็นก็จริงตามได้ยินมา อย่างเรื่องจราจร รถวิ่งบนถนนไม่ว่าถนนหลัก ถนนรอง หรือในตรอกซอย เมื่อใกล้ถึงทางม้าลายจะชะลอความเร็ว แต่ไทยเราวางใจไม่ได้ ไม่อาจรับประกันความปลอดภัยสำหรับคนเดินข้ามทางม้าลาย อีกอย่างคนไทยมีทางม้าลายอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ใช้ หรือบางจุดมีไฟสัญญาณกดข้ามทางม้าลายก็มักจะไม่กดกัน เดินข้ามทั้งไฟแดงแต่ไฟเขียวรถ ผิดกับคนญี่ปุ่นเดินข้ามตรงทางม้าลายแสนสบายใจ 

การขับรถบนท้องถนน คนญี่ปุ่นเคารพและปฏิบัติตามกฎจราจรเคร่งครัด ต่างจากภาพบนท้องถนนในกรุงเทพฯ บ้านเรามีการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรและละเมิดกฎหมายทุกวัน บนถนนทุกสายปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะไม่มีคนทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎ ยกตัวอย่างที่เห็นชัดมากที่ห้าแยกคลองเตย มีคนขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรมากที่สุดโดยเฉพาะพวกมอเตอร์ไซค์ 

อีกภาพหนึ่ง คือ พวกที่ชอบขับขี่รถไป “จอดทับทางม้าลาย” ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับคนข้ามถนนอย่างมาก ภาพแบบนี้เห็นทุกวันจนชินตา คนที่เดินข้ามต้องเดินอ้อม ถามทุกคนเลยว่ามันแฟร์ไหมล่ะ ที่แย่กว่านั้นคนที่ไม่เคารพกฎจราจรพลอยทำให้คนที่ปฏิบัติตามกฎรู้สึกอึดอัดไปด้วย เห็นหลายครั้ง คันหนึ่งจอดติดไปแดงตรงจุดข้ามทางม้าลาย มีคนเดินข้ามไปแล้วแต่ยังไฟแดงคันหลังก็บีบแตรใส่คันหน้า ประมาณว่าไม่มีคนแล้วก็ไปเสียทีสิ...คนไทยบางคนเป็นแบบนี้ แต่ที่ญี่ปุ่นหายากมาก เขาเคารพกฎหมาย สังคมเขาจึงน่าอยู่และอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย    

หันมาบ้านเรามีคนจำนวนไม่น้อยเป็นพวกเคารพกฎหมายแต่ปากเสียมาก แต่ไม่ค่อยปฏิบัติหรือตระหนักในกฎหมายสักเท่าไร แต่เมื่อเร็วๆ นี้คนไทยคงจะได้เห็นคนดังคนหนึ่งที่ได้สร้างความตระหนักและตื่นรู้ให้คนในสังคมได้หันมาเคารพในกฎหมายและกติกาสังคม คนดังนั้นคือ “ปัณฑพล ประสารราชกิจ” หรือโอม Cocktail นักร้องนำวง Cocktail เป็นลูกชายของ พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

สิ่งที่โอมทำ ก็คือ การแจ้งให้ผับแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ที่เขารับงานไว้ช่วยกรองคนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ออกจากร้านให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มการแสดงได้ ซึ่งที่มาของการขอความร่วมมือจากทางร้านเนื่องจากร้านได้แจ้งว่า วันนั้นในร้านมีคนสองพันกว่าคนและยังเข้าไม่ได้อีกมาก ขณะเดียวกันก็มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี แอบเข้ามาในร้านจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าผับบาร์สถานบันเทิงกฎหมายห้ามเด็กหรือเยาวชนต่ำกว่า 20 ปีเข้า

แต่พอโอมประกาศออกไปก็เกิดมีดราม่าเล็กๆ ขึ้น เมื่อมีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำแบบนี้ทำให้เกิดความยุ่งยากกับคนที่เข้ามาร้านอย่างถูกต้อง แถมบางคนก็วิจารณ์ Cocktail ว่าเรื่องมาก ซึ่งโอมได้ออกมาโพสต์ชี้แจงในสองวันถัดมา (12 ส.ค.) ว่า การทำตามกฎหมายนั้น ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หลายคนอาจจะมองว่าตนโลกสวย แต่ในความเป็นจริงนั้น เราทุกคนสามารถร่วมมือกันทำได้คนละเล็กละน้อย

ขอสนับสนุนและปรบมือให้ในสิ่งที่โอมทำเต็มที่ อย่างน้อยก็ช่วยให้คนไทยตระหนักในกฎหมาย