posttoday

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ผู้มากบารมีแห่งเมืองสุพรรณ

20 กันยายน 2552

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

เมื่อครั้งที่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เคลื่อนทัพพระกรรมฐานจากทั่วสารทิศออกมาบิณฑบาตกู้เศรษฐกิจชาติที่กำลังประสบหายนะในปีพ.ศ. 2540 นั้น ท่านได้ยกย่องพระเถระรูปหนึ่งว่าเปรียบเสมือนแขนซ้าย ที่ช่วยบิณฑบาตทองคำนับหมื่นล้านบาทเข้าคลังหลวง ขณะที่เปรียบองค์ท่านเองเป็นแขนขวาที่คอยพาดำเนินการ

พระเถระรูปนั้นคือ หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก หรือ หลวงพ่อใหญ่ แห่งวัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

ครั้งนั้นหลวงตามหาบัวได้กล่าวเอาไว้ว่า “สำหรับหลวงพ่อสังวาลย์ยกให้เป็นข้างหนึ่งเลย เรียกว่าเป็นแขนซ้ายของเรา เอาจริงเอาจังมาก ท่านช่วยจริงๆ ยกให้เป็นแขนซ้ายของเรา เราเป็นแขนขวา เป็นผู้พาดำเนิน ท่านเดินตามหลังด้วยแขนซ้าย ไม่ใช่น้อยๆ นะ ท่านหาทองคำได้มากทีเดียว เราพอใจ”

หลวงปู่สังวาลย์ มีนามเดิมว่า สังวาลย์ จันทร์เรือง เกิดวันจันทร์ เดือนมี.ค. 2459 ที่บ้านหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน
ครอบครัวของ ด.ช.สังวาลย์ เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เนื่องจากมีเรือกสวนไร่นา โรงสี และควายเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ครอบครัวมีเงินทอง บิดามารดาจึงไม่ได้ให้ ด.ช.สังวาลย์ ไปเรียนหนังสือ แต่ให้รับผิดชอบทำไร่ทำนากับทางบ้านแทน

เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านทึง ด้วยความที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงอ่านบทสวดมนต์ต่างๆ ไม่ได้ แต่ท่านก็ได้ใช้วิธีต่อหนังสือในการจำบทสวดมนต์ คือให้พระสวดให้ฟัง แล้วท่านก็ว่าตามไป หรือไม่ก็จำจากที่แม่ชีสวด กระทั่งออกพรรษาจึงลาสิกขาออกมา

หลังสึกออกมาจึงตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัวตามวิสัยฆราวาสในปีพ.ศ. 2448 และได้เกิดล้มป่วยลง ซึ่งนายสังวาลย์ได้รับคำแนะนำจาก แม่ชีจินตนา เพื่อนบ้าน ที่ได้อบรมภาวนากับ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ให้ภาวนาพุทโธ นายสังวาลย์จึงยึดภาวนาเรื่อยมาจนร่างกายหายเจ็บป่วยและกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

การภาวนาครั้งนั้นทำให้นายสังวาลย์เกิดนิมิตขึ้นขณะที่ยืนส่องกระจกอยู่แล้วบังเอิญมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมา แต่นายสังวาลย์กลับมองเห็นผู้หญิงคนนั้นเป็นโครงกระดูก ทำให้จิตเกิดสังเวชในร่างกายมนุษย์ และเริ่มพิจารณากายในรูปของ อสุภมากขึ้น และปรารถนาที่จะออกบวช

หลวงปู่สังวาลย์เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ครั้งหนึ่งแม่บางภรรยาของท่านไม่สบาย ก็ได้ช่วยดูแลตามประสาสามี ธรรมดาของคนป่วยย่อมจะต้องมีความอิดโรยเป็นธรรมดาและช่วยตัวเองไม่ได้ จึงช่วยตักน้ำราดศีรษะให้ภรรยา พอน้ำราดลงบนเส้นผม ไอระเหยที่โดนเส้นผมนั้นส่งกลิ่นชวนให้น่ารังเกียจ เนื่องจากไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างกายของคนเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เกิดแห่งทุกข์

กระทั่งปีพ.ศ. 2494 จึงได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 ที่วัดนางบวช ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านทึง อ.สามชุก ซึ่งเป็นวัดที่เคยจำพรรษาในการอุปสมบทครั้งแรก

บวชแล้วหลวงปู่สังวาลย์ก็ได้ขอ พระอาจารย์ฮุ้ย ชิตมาโร เจ้าอาวาสวัดบ้านทึง ว่าจะไม่รับกิจนิมนต์ และขอวิเวกภาวนาอยู่แต่ในป่าช้า

ณ ที่แห่งนั้นเอง หลวงปู่สังวาลย์จึงได้พบกับ พระมหาทอง โสภโณ ซึ่งจำพรรษาอยู่ก่อนแล้ว โดยพระมหาทองเป็นผู้ที่เก่งด้านปริยัติ จึงได้ถ่ายทอดเรื่องข้อวัตรปฏิบัติและศีลให้หลวงปู่สังวาลย์ ซึ่งหลวงปู่สังวาลย์ได้ยอมรับว่า พระมหาทองเป็นครูแท้ในชีวิตท่าน ซึ่งเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อวัตรหรือข้อศีล ท่านก็จะเรียนถามพระมหาทองอยู่เสมอ

ตลอดเวลา 5 ปี ที่หลวงปู่สังวาลย์ปฏิบัติภาวนาอยู่ในป่าช้านั้น ท่านได้ถือข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยอยู่ป่าช้าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร และใช้ผ้า 3 ผืนเป็นวัตร

ท่านว่า เมื่อทำสมาธิยิ่งยวดมากเข้า ความรู้ต่างๆ อันเกิดจากแสงสว่างมีมากขึ้น ความรู้เห็นนี้มันเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่อยากหรือไม่อยากให้มันเกิด พอมันเกิดก็น้อมเข้าไปดูภายใน เข้าทางจมูกก็ได้ เข้าทางปากก็ได้ เข้าทางตา เข้าทางทวารทั้ง 9 ได้หมด กายภายนอกและกายภายในที่ปิดบังอยู่นั้นเปิดหมดเลย

“อสุภกรรมฐานปรากฏตลอดเวลา ทำจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน 7 วัน 7 คืนก็มี อาหารบางวันก็ฉันบ้าง บางวันก็อดเอา กายเบาใจเบาเสียแล้ว ความสุขความปีติมีมารักษาใจ ความหิวจึงไม่กำเริบ จึงบิณฑบาตเพียงเฉพาะอาจารย์”

ในปีพ.ศ. 2499 หลวงปู่สังวาลย์ได้ธุดงค์ออกจากป่าช้าวัดบ้านทึงและได้มาปักกลดอยู่ที่วัดทุ่งสามัคคีธรรม ในปีพ.ศ. 2499 ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้าง โดยท่านได้อาศัยวิหารร้างเก่าเป็นที่อาศัย ซึ่งหลวงปู่สังวาลย์ได้เริ่มพัฒนาวัดทุ่งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติภาวนาแก่ญาติโยมผู้ศรัทธา

หลังจากนั้นท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ และได้พัฒนาขึ้นหลายแห่งตามเส้นทางที่ท่านเดินธุดงค์ อาทิ วัดเขาดีสลัก ในเขต อ.ศรีประจันต์ วัดเขาคีรีธรรม เขต อ.เดิมบางนางบวช และได้มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปจนถึงเขาสารพัดดี จ.ชัยนาท และพบว่าบนยอดเขามีพระพุทธเก่าแก่ จึงได้สร้างวัดเขาสารพัดดีขึ้น

เมื่อวัดเขาสารพัดดีเป็นวัดสมบูรณ์เต็มที่ หลวงปู่สังวาลย์จึงหวนกลับมาที่วัดทุ่งสามัคคีธรรมอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ท่านจึงมุ่งบูรณะให้วัดทุ่งสามัคคีกลับมารุ่งเรืองเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมแก่คณะศิษย์ผู้ศรัทธาอีกครั้ง ซึ่งต่อมาวัดทุ่งสามัคคีนับเป็นวัดที่มีคณะศิษยานุศิษย์เดินทางไปปฏิบัติธรรมมากที่สุดในบรรดาวัดที่ท่านสร้างเอาไว้

นอกจากการพัฒนาด้านศาสนวัตถุอันได้แก่ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิอีกหลายชุด รวมถึงการขยายที่ดินวัดออกไปอีกหลายร้อยไร่แล้ว ในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาท่านก็มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดบวชเนกขัมมะปีละ 3 ครั้ง ทุกวันพระ 8 ค่ำ จะมีพิธีเวียนเทียนกลางคืน 2 รอบ หากเป็นวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน จะมีการถือเนสัชชิก นั่งภาวนาตลอดคืน พิธีเวียนเทียน 3 รอบ

ด้านการสอน ท่านเน้นการอบรมสั่งสอนบรรดาศิษย์ในเรื่องกรรมฐานเบื้องต้นของการปฏิบัติ โดยพยายามให้ผู้ปฏิบัติเจริญสมถกรรมฐานเสียก่อน โดยใช้ภาวนาว่าพุทโธ ให้บริกรรมภาวนาคู่กับอานาปานสติกรรมฐาน

“กรรมฐานมีการกำหนดความรู้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พยายามทำสติ พยายามเจริญสติอยู่กับกองลมเข้า กองลมออก ไม่ปล่อยอารมณ์ไปในภายนอก เมื่อจิตสามารถสงบระงับดับนิวรณ์ได้แล้ว จึงสอนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐานสืบต่อไป”

คำสอนของหลวงปู่สังวาลย์ที่เมตตาเทศน์สอนศิษย์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคำสอนสั้นๆ เพียงไม่กี่ประโยค แต่กินความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก วันหนึ่งท่านเทศน์สอนพระเณรว่า

“เราต้องสำรวมกายวาจาใจ กายสำรวมง่าย เดินอย่างมีสติไว้ ตาเพ่งไปแค่แอกเกวียน ส่วนใจสิยาก อะไรๆ ใจนั้นสำคัญนะมองให้เห็นความสกปรกไม่งาม แค่หน้าไม่ได้ล้าง เท้าไม่ได้ขัดถูสัก 23 วัน เป็นไง พิจารณาว่าไม่งามเหม็นสาบสาง เมื่อไม่ได้ฉาบทาปรุงแต่ง ฟันไม่ได้แปรงแค่วันสองวัน พูดทีมันเหม็นไม่รู้จักเท่าไร

กำหนด รู้หนอคิดหนอ ไว้ ถ้าปล่อยไม่ทำสติมันจะเพลินในอารมณ์ กายสงบวาจาสงบแล้ว เหลืออีกอย่างเดียว ทำใจให้สงบให้ได้ การบวชของเราจะมีอานิสงส์มาก เราบวชแล้วไม่สำรวมใจ แม้มองตีนผู้หญิง กามคุณปรุงแต่งว่ามันสวยมันดี เป็นพระเขากราบไหว้ ถ้าคิดรักชีรักสตรีเพศแม่ไม่ดีหรอก เจ้าของเขารู้อายเขาตายเชียวนะ!”

เคยมีโยมคนหนึ่งถามท่านขึ้นว่า “หลวงพ่อ...คนที่ตายแล้วจะไปอยู่ไหน?”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า “ถ้าตายในขณะจิตโกรธ โลภ หลง จิตอยู่ในสภาวะนี้จิตจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าขณะจิตที่เป็นกุศล คิดถึงคุณงามความดีที่ได้ทำก็จะได้ไปสวรรค์ ไม่ไปอบายภูมิ ถ้าตายในขณะจิตสงบนิ่งเฉยๆ ก็จะไปเป็นพรหม หรือสำเร็จพระอรหันต์ไปเลย”

“ถ้าเรามีธรรมะในดวงใจ แสงสว่างก็จะเกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่มีธรรมะ มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดวงจิตก็จะมืด มองไม่เห็นแสงสว่าง ถ้าจิตเราผ่องใส สะอาด จะมองเห็นแสงสว่างได้ง่าย การทำดวงจิตอย่างนี้ให้เกิดขึ้นไม่ใช่ของง่ายๆ

อาตมาก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่อาตมาก็ปฏิบัติได้ ทำจิตให้สงบได้ ปฏิบัติให้จิตสงบก็จะรู้ใจตนเองได้”

แม้ในประวัติของหลวงปู่สังวาลย์จะมิได้บันทึก มรรคผลแห่งการปฏิบัติภาวนาของท่านเอาไว้ แต่เรื่องที่ศิษย์เล่าขานถึงบารมีของท่านอันเคยประจักษ์แก่สายตา ก็ไร้ข้อกังขาว่า ท่านก้าวข้ามสู่ฝั่งอริยะแล้วหรือไม่

บางคนเห็นแสงพวยพุ่งออกจากตัวท่านในยามค่ำคืนบ้าง

บางคนเห็นแสงประกายอย่างมรกตออกจากสายตาท่านบ้าง

บางคนเห็นท่านเดินผ่านโคลนตมแล้วเท้าไม่เปื้อนบ้าง

หรือบางคนก็พบว่า ทำไมท่านเดินผ่านสายฝนแล้วจีวรไม่เปียกบ้าง

หลายคนพบว่า ท่านเทศน์แก้ปัญหาในใจให้แก่ศิษย์ ตั้งแต่ศิษย์ยังมิได้เอ่ยปากถาม

หลวงตามหาบัวสรรเสริญหลวงปู่สังวาลย์เอาไว้ว่า “หลวงพ่อสังวาลย์เป็นผู้มีบุญญาภิสมภารอันกว้างขวางลึกซึ้งมาก ยากที่จะมีใครๆ เสมอเหมือนได้ เพราะท่านมีน้ำใจกว้างขวาง แสดงออกให้เห็นจาก บริษัทบริวาร ศรัทธาทั้งหลาย ที่มาจากทุกทิศทุกทาง

คนเราต้องมาด้วยน้ำใจ น้ำใจเป็นของลึกซึ้งมากทีเดียว ถ้าลองน้ำใจได้ไหลลงไปที่ใดแล้ว เป็นได้ไหลตลอด ไม่มีถอย นี่น้ำใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศีลด้วยธรรมของพี่น้องทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากความเชื่อความเลื่อมใสในหลวงพ่อสังวาลย์

แม้องค์ท่านเองจะทุพพลภาพ ไปไหนมาไหนนอนนั่งอยู่บนเตียงก็ตาม แต่วาสนาบารมีของท่านไม่ได้นอนอยู่บนเตียง เหมือนเรือนร่างของท่าน แต่เต็มไปด้วยความเมตตาต่อพี่น้องทั้งหลาย”

ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่สังวาลย์ได้อาพาธ จนเส้นประสาทในร่างกายใช้การไม่ได้ ทำให้ท่านต้องนอนอยู่บนเตียงเฉยๆ และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี โดยมีพระอาจารย์สนอง กตปุญโญ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดเป็นผู้อุปัฏฐากดูแล

กระทั่งวันที่ 2 มิ.ย. 2547 ท่านก็ดับขันธ์ไป สิริรวมอายุได้ 89 ปี ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามตลอดเวลาที่หลวงปู่ดำรงขันธ์ ชื่อของท่านจึงเป็นที่กล่าวขานในบรรดาศิษย์ ซึ่งต่างขนานนามยกให้ท่านเป็นพระดีศรีสุพรรณรูปหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง