posttoday

กรณีพระคึกฤทธิ์ฯ... สู่การปฏิรูป องค์กรศาสนา!!

15 กุมภาพันธ์ 2558

ปุจฉา : ๑.กรณีพระคึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง รณรงค์เผยแพร่พระพุทธวจนะ จนมีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : ๑.กรณีพระคึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง รณรงค์เผยแพร่พระพุทธวจนะ จนมีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และกรณีความเงียบเฉยของมหาเถรสมาคมต่อการจัดกิจกรรมธุดงค์ในป่าคอนกรีต จนวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก กระทบไปถึงพระมหาเถระวัดดัง... ท่านพระอาจารย์มีความเห็นอย่างไร?

๒.การส่งสัญญาณจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาฯ ของ สปช.ที่เกิดจากดำริของนายกรัฐมนตรี ท่านพระอาจารย์มีความเห็นและข้อแนะนำอย่างไร

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา... จริงๆ แล้วในปุจฉาที่ ๑ อาตมาเขียนตอบสรุปไปแล้วใน “ปักธงธรรม” ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถไปหาอ่านได้ แต่จะขอตอบโดยสรุปอีกครั้งว่า เรื่องการมุ่งเผยแพร่พระพุทธวจนะนั้น มิได้ผิดพระธรรมวินัย สามารถทำได้และควรสรรเสริญสำหรับผู้มีวิริยะ อุตสาหะ ท่องบ่น จดจำ สาธยาย เพื่อนำสู่การพิจารณาโดยแยบคาย ให้รู้แจ้งถูกต้องตามธรรมที่ทรงตรัสรู้โดยปัญญาอันชอบของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ทั้ง ๔ ที่ควรปฏิบัติ แต่ต้องอย่าลืมว่า พระพุทธวจนะได้เดินทางผ่านระยะเวลามายาวนานมากกว่า ๒,๖๐๐ ปี เฉพาะตัวภาษาบาลีที่ใช้สื่อสารพระพุทธวจนะ ซึ่งเป็นภาษาชาวมคธในชมพูทวีป ก็ได้กลายเป็นภาษาตายในเวลาเพียงไม่ถึงร้อยปี ภายหลังพุทธปรินิพพาน ด้วยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ที่จัดให้ภาษาบาลีอยู่ในตระกูลภาษาปรากฤต ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาอปภรังศ แปลว่า ภาษาที่ผิดเพี้ยน ที่พราหมณ์เรียกว่า ภาษาไปศาจี หรือภาษาผี (ปีศาจ)... ซึ่งต่อมาด้วยเล่ห์เพทุบายของพราหมณ์ที่มีอิทธิพล จึงทำให้ภาษาบาลีถูกลบทิ้งไปจากจิตใจชาวชมพูทวีป อันเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเสื่อมสลายไปของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปต่อมา

แต่ด้วยได้ทรงพุทธานุญาตให้เรียนพุทธพจน์ ด้วยภาษาท้องถิ่นได้ เราจึงเห็นการขยายความไปตามสำนวน เพื่อการเรียนรู้ พระพุทธวจนะบาลี จึงมีคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ขึ้นมาประกอบการอรรถาธิบาย เพื่อการศึกษาปฏิบัติ ...และปรากฏภาษาของคณาจารย์ (พระภิกษุผู้ทรงความรู้) เข้าไปประกอบอยู่ในคัมภีร์นั้นๆ ทั้งนี้เพื่อการขยายความให้เข้าใจในสารธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธวจนะนั้นๆ... เพื่อการศึกษาของพุทธบริษัทต่อไป ดังที่เกิดมีเนื้อหาส่วนขยายความ เพื่อความเข้าใจในหลักธรรมนั้นๆ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ ซึ่งหากอรรถาธิบายมากความเกินไป ก็จะถูกคัดค้านดังในบางประเด็นที่มีปรากฏอยู่บ้าง... แต่จะไม่มีใครกล้าหาญคัดค้าน พระพุทธวจนะ เว้นแต่พวกอลัชชี หรือพวกมุ่งทำลายพุทธศาสนา

ดังนั้น ในเรื่องกรณีพระคึกฤทธิ์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรไปต่อต้าน แต่ควรใช้โอกาสนี้กลับมาศึกษาความเป็นจริง ว่า สถาบันพระพุทธศาสนาได้ศึกษาปฏิบัติถูกต้องตรงกันหรือไม่... โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการประพฤติผิดพระวินัย ที่กระทำเป็นอาจิณณกรรมในปัจจุบัน

สำหรับกรณีการธุดงค์ในป่าคอนกรีตของคณะภิกษุสำนักธรรมกาย อาตมาก็คงไม่ต้องตอบอะไรอีกแล้ว เพราะสังคมชาวพุทธได้สรุปไปเรียบร้อยแล้ว... ที่จะขอกล่าวถึง คือ
การปฏิรูปศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่หากรู้จักแยกแยะออกมาให้ชัดเจน ระหว่าง พระพุทธศาสนา กับ สถาบันพระพุทธศาสนา ระหว่าง พระธรรมวินัย กับ พุทธบริษัท เพื่อจะได้เข้าใจว่า อะไรคือตัวปัญหาแท้จริง ที่นำไปสู่การเกิดความอ่อนแอของพระพุทธศาสนา จนวิถีชาวพุทธผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานพระพุทธศาสนา ให้ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้ดุลยภาพ ดังที่เกิดปรากฏการณ์ถือปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานศีลธรรมในปัจจุบัน จนน่าคิดว่า วันนี้เรามีชาวพุทธที่แท้จริงอยู่กี่เปอร์เซ็นต์... จึง...ขออนุโมทนากับความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี สำหรับดำรินำสู่การปฏิรูปเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา...

เจริญพร