posttoday

เปิดแล้วดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของรัชกาลที่6

13 มิถุนายน 2553

ดุสิตธานีนั้น คือถิ่นประชาธิปไตยถิ่นหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเล่น” มาตั้งแต่เสด็จกลับจากการศึกษา ณ ทวีปยุโรป ตามพระมโนคติปรารถนาใคร่จะได้เห็นประเทศมีระบอบปกครองอันนั้น

ดุสิตธานีนั้น คือถิ่นประชาธิปไตยถิ่นหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเล่น” มาตั้งแต่เสด็จกลับจากการศึกษา ณ ทวีปยุโรป ตามพระมโนคติปรารถนาใคร่จะได้เห็นประเทศมีระบอบปกครองอันนั้น

โดย...สมาน สุดโต

เสถียร พันธรังษี ราชบัณฑิต เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ในหน้า 98 ตอน ความเป็นนักประชาธิปไตย ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังดำรงพระชนม์เถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่ ระหว่าง พ.ศ. 2453 ถึง 2468 มีพวกข้าราชการผู้ไม่เข้าใจความในพระราชหฤทัยของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ลางกลุ่มเห็นว่าล้นเกล้าฯ ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยหวังประโยชน์สุขของพระองค์ถ่ายเดียว และลางพวกถึงกลับกล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ มิใช่นักประชาธิปไตย

เปิดแล้วดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของรัชกาลที่6

แต่ความเข้าใจของคนทั้งหลายในกลุ่มนั้นๆ ผิดพลาดเป็นอันมาก ตราบเท่าที่ยังมิได้เห็นภาพของดุสิตธานี ยังมิได้อ่านธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่ล้นเกล้าฯ ได้ทรงร่างขึ้นไว้เพื่อ “ดุสิตธานี”

ดุสิตธานีนั้น คือถิ่นประชาธิปไตยถิ่นหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเล่น” มาตั้งแต่เสด็จกลับจากการศึกษา ณ ทวีปยุโรป ตามพระมโนคติปรารถนาใคร่จะได้เห็นประเทศมีระบอบปกครองอันนั้น ดุสิตธานี มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแท้ มีนคราภิบาลเป็นผู้ปกครอง มีผู้แทนราษฎรที่ราษฎรเลือกตั้งเข้ามาเรียกว่า เชฏฐบุรุษ มีการประชุมเป็นครั้งคราว มีการไฟฟ้า การสาธารณสุข การไปรษณีย์ การภาษีอากร และมีทุกอย่างที่ประชาธิปไตยจะพึงมี ในดุสิตธานีนี้ นายราม (ซึ่งชาวดุสิตธานีพากันเรียกว่า “ท่านราม”) เป็นเนติบัณฑิตรับว่าความทั่วไป ภาพร่างที่ตีพิมพ์ในเรื่องนี้ เป็นภาพดุสิตธานีในห้วงนึก มองเห็นความเจริญคับคั่งของบ้านเมืองและมีรูปนายรามกำลังนั่งมองดูความเจริญของธานีนั้นอยู่ด้วยความพอใจ

การทรงทดลองเล่น “ประชาธิปไตย” ของล้นเกล้าฯ มิใช่ทรงเล่น แต่ทรงทำเป็นระบบ เช่น มีพระราชนิพนธ์ธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ล่มสลายหายไปเมื่อสิ้นรัชกาล จนกระทั่งได้รื้อฟื้นสร้างขึ้นใหม่โดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มี ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นรองประธาน

โดยสร้างและประดิษฐานอยู่ ณ ชั้นที่ 4 ตึกวชิราวุธานุสรณ์ ในหอสมุดแห่งชาติ เมือสร้างเสร็จได้ดูแลรักษาและปรับปรุงเรื่อยมาจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะเปิดอย่างเป็นทางการ วันที่ 16 มิ.ย. 2553 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พล.ต.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ ในการเปิดห้องจัดแสดงเมืองจำลอง ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ในเวลา 14.30 น.

เพื่อให้เห็นภาพดุสิตธานีในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร คำบรรยายของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ที่พาชมดุสิตธานีในงานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2513 น่าฟังที่สุด โดยท่านเล่าว่าดุสิตธานีเป็นเมืองที่ได้สูญหายไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย ยิ่งกว่าเมืองปอมเปย์ในสมัยโรมัน หรือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 200 ปีมาแล้ว
ดุสิตธานีคืออะไร อยู่ที่ไหน ท่านเล่าอดีตให้ฟัง โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ว่า

เปิดแล้วดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของรัชกาลที่6

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างอุทยานสถานให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ได้เสด็จประพาสเนืองๆ และทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมข้างทิศใต้ คลองสามเสนข้างทิศเหนือ เป็นที่สวนและทุ่งนา มีชัยภูมิดีสมควรเป็นที่เสด็จประพาส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ตำบลนี้ตามราคาอันสมควรจากราษฎรเจ้าของที่ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ใช้จ่ายการในพระองค์

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ร.ศ. 117 ได้เสด็จทอดพระเนตรภูมิสถานที่นั้นและได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงมือเริ่มตัดต้นไม้เป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทำการสืบมา เช่น ตัดถนน ขุดคลอง ทำสะพาน และสร้างพระราชอุทยาน ปลูกรุกขชาติต่างๆ พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต”

นี่แหละคือต้นเรื่องของสวนดุสิต หรือคำว่า “ดุสิต”

ม.ล.ปิ่น เล่าต่อว่า วัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีพระอุโบสถสวยงามมากนั้น มีกำเนิดมาในระยะเดียวกันนั่นเอง ที่แถวนั้นเคยเป็นสวนและทุ่งนาอย่างไม่มีปัญหา โดยท่านอ้างต้นตาลต้นหนึ่งที่ยังมีให้เห็นเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นพยานว่าที่นี่เป็นทุ่งนา (ผู้เขียนเคยจำได้ว่าตาลต้นนี้อยู่ด้านหน้าร้านสหกรณ์กรุงเทพ ที่เคยเป็นที่ตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาก่อน ปัจจุบันต้นตาลไม่มีแล้ว)

ย้อนกลับไปกล่าวถึงสวนดุสิต หรือพระราชวังดุสิต ซึ่งเริ่มสร้างใน พ.ศ. 2441 หลังจากนั้น 4 ปี จึงได้สร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน และต่อจากนั้นอีก 6 ปี คือ ใน พ.ศ. 2451 จึงได้เริ่มสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นรัฐสภาในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2513)

พระที่นั่งอัมพรสถานนั้นอยู่หลังพระที่นั่งอนันตสมาคมทางทิศตะวันตก และมีพระที่นั่งองค์เล็กองค์หนึ่งเป็นตึกสองชั้น มีนามว่า พระที่นั่งอุดร อยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งอัมพรสถาน มีระเบียงสองชั้นเป็นทางเดินติดต่อกันระหว่างพระที่นั่งสององค์นั้น ที่รอบๆ พระที่นั่งอุดรนี้เอง คือ “ดุสิตธานี” เมืองจำลองประชาธิปไตยแห่งแรกที่สร้างในปี 2461

เพื่อความสมบูรณ์ กันมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ท่านชี้แจงว่า “ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่ 2 แห่ง มีประวัติโดยย่อดังนี้

แห่งที่ 1 ดุสิตธานีรอบๆ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้ให้ดูในแผนผังนั้นแล้ว เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2461 และตั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนเดือน ธ.ค. 2462

แห่งที่ 2 เนื่องด้วย “ดุสิตธานี” แห่งแรกคับแคบ มีทวยนาครเพิ่มขึ้นประจวบกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แปรพระราชฐานไปประทับที่วังพญาไท มีสถานที่กว้างขวาง จึงได้ย้าย “ดุสิตธานี” ไปอยู่ที่พญาไทตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2462 และอยู่ต่อมาจนสิ้นรัชกาล สถานที่ “ดุสิตธานี” แห่งที่สองนี้ ในปัจจุบันเป็นส่วนด้านหลังของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ส่วนโรงแรมดุสิตธานีที่ศาลาแดงนั้น แม้จะสูงตระหง่าน ก็เป็นเด็กที่เกิดใหม่สร้างขึ้นเสมือนว่าฉลองอายุครบ 50 ปี ของดุสิตธานีแห่งแรก แต่ก็ไม่มีผู้ใดนอกจากข้าพเจ้าที่กล่าวว่าเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้า ไม่ทราบว่ามีผู้ใดแต่งคำประพันธ์ชมดุสิตธานีที่ศาลาแดงหรือไม่ แต่ “ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีผู้เขียนชมความงามไว้มากด้วยกัน เช่น บุคคลผู้เป็นนาครผู้หนึ่งใช้นามปากกาว่า “ขันตี” ได้ประพันธ์โคลงสี่ไว้ดังนี้

 “เรื่อเรื่อสุริยะโพล้ เพล้แสง
จวนจะสิ้นแสงแดง จับน้ำ
จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง มาเปลี่ยน
แสงต่อแสงทอกล้ำ ทั่วท้องชโลทร
จันทราคลาเคลื่อนขึ้น เวหา
 แสงส่องทั่วพารา แหล่งน้อย
นามจังหวัดดุสิตธา นีรุ่ง เรืองเฮย
งามสุดจะกล่าวถ้อย ถูกถ้วนขบวนงาม”

“ดุสิตธานี” เป็นจังหวัดที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต ตามระบอบการปกครองที่เรียกว่าเทศาภิบาล แต่เกิดระบอบการปกครองนคราภิบาลขึ้น โดยมีพระราชประสงค์จะทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย เห็นความจริงข้อนี้ได้จากกระแสพระราชดำรัส เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2462 ว่า วิธีการที่ดำเนินการเป็นไปนี้ เป็นการทดลองว่าจะเป็นประโยชน์ได้เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน --- วิธีดำเนินการธานีเล็ก ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้ประเทศสยามกระทำเช่นเดียวกัน

เปิดแล้วดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของรัชกาลที่6

ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยตั้งบนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่ง ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลากหลายกว่า 300 หลัง มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ปราสาทพระราชวัง วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดร้านค้า ธนาคาร โรงละคร โรงภาพยนตร์ สโมสร บริษัท สำนักงาน แต่อาคารสถานที่เหล่านั้นย่อส่วนลงให้เล็กเหลือประมาณ 1 ใน 20 ของจริง ที่ขาดคือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สวรรคต อาคารจำลองต่างๆ ได้กระจายไป ส่วนที่เป็นบ้านเรือนคหบดี เจ้าของก็นำกลับไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว อาคารจำลองส่วนที่ยังคงเหลือประกอบด้วยพระราชวังและวัดรวม 14 หลัง ได้นำมาบูรณะใหม่ และจัดแสดงภูมิทัศน์ตามภาพถ่ายทางอากาศตามความเหมาะสม โดยเพิ่มเติมถนนคูคลอง และสะพานเชื่อมให้สวยงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สิ่งก่อสร้างที่แสดง ที่ชั้น 4 ตึกวชิราวุธานุสรณ์ประกอบด้วย

พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งบรมราชพิมาน พระที่นั่งจันทรกานต์มณี พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท หอพระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งวายุสุขไสยาสน์ พระวัชรเจดีย์ พระที่นั่งสมุทาภิมุข พระปรางค์วัดอรุณ วัดพระพุทธบาท วัดสุขสมาวาส พระที่นั่งลักษมีวิลาส และวัดราชประดิษฐ์

ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-282-8886, 02-281-4659 ต่อ 16