posttoday

กุฏิสงฆ์วัดคงคาราม ราชบุรี งามเลิศ

23 มีนาคม 2557

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จัดเสวนา ภาพเก่าเล่าเรื่องฟื้นความคิดจิตวิญญาณเสือป่า

โดย...สมาน สุดโต

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จัดเสวนา ภาพเก่าเล่าเรื่องฟื้นความคิดจิตวิญญาณเสือป่า ที่ค่ายหลวงบ้านไร่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 หลังจากเสวนาได้พาไปชมวัด รวมทั้งวัดคงคารามด้วย

วัดคงคาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดที่งามเลิศอลังการด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ เช่น ภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม และกุฏิเรือนไทยโบราณ ที่เชิดชูสถาปัตยกรรมเรือนไทย ฝากระดานยอดแหลมให้ตรึงตาและประทับใจ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดและเป็นที่ตั้งกองกำลังเสือป่า เพื่อการซ้อมรบ ในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ที่ตั้งกองกำลังเสือป่า

เสือป่า สมัยรัชกาลที่ 6 ใช้วัดคงคาราม เป็นที่ตั้งกองกำลังและซ้อมรบ 4 วัน เพราะอยู่ใกล้ค่ายหลวงบ้านไร่ ตามรายงานกรมพระนครบาล เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2464 กล่าวถึงความสำเร็จในการซ้อมรบที่วัดคงคาราม และการทำตัวรุ่มร่ามของเสือป่าบางคนจนมีเรื่องกับชาวบ้าน เรื่องที่ว่านั้นคือการเป็นเจ้าชู้ยักษ์ ไปจับนมแม่ค้าขายของ

ในเรื่องนี้ สารวัตรเสือป่าเอาจริงเอาจังถึงกับห้ามแม่ค้ามาขายของหน้าวัด แต่แม่ค้าไม่ยอมจึงทะเลาะกัน ทางฝ่ายสารวัตรจับแม่ค้าเอาหัวโขกดินกลายเป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายชายชาวบ้านตามหาสารวัตรที่ทำร้าย ผู้หญิง สารวัตรกลัวไม่ยอมออกจากวัด ส่วนคนที่มีรูปร่างละม้ายกับสารวัตรถึงกับถอดเครื่องหมายออกเพราะกลัวถูกทำร้าย ทั้งนี้เพราะคนที่เป็นเสือป่า มาจากที่ต่างๆ กัน โดยผู้รายงานแบ่งคนพวกนี้เป็น 4 จำพวก 1 พวกชอบเล่นการพนัน เอาเครื่องเล่นพนันติดตัวไปแอบเล่น (น้ำเต้า ลูกเต๋า และขลุกขลิก) 2 พวกนักดื่ม หาเครื่องดื่มทุกซอกทุกมุม 3 พวก เจ้าชู้ยักษ์ 4 พวกพาลหัวดื้อ แล้วสรุปว่าคน 4 จำพวกนี้ ผู้บังคับบัญชารู้สึกเข็ด คร้าม และรังเกียจ

กุฏิสงฆ์วัดคงคาราม ราชบุรี งามเลิศ

 

จิตรกรรมฝาผนัง

นอกจากเป็นที่พักเสือป่า วัดคงคารามยังมีเรื่องน่าชื่นชมหลายเรื่อง เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถที่งามเป็นเลิศ เป็นภาพจิตรกรรมที่ศิลปินฝากให้ลูกหลานได้ชมและอนุรักษ์ไว้ แม้ปัจจุบันจะหลุดลอกบางส่วนเพราะเป็นไปตามกาลสมัยก็ตาม ส่วนที่ยังเหลือล้วนแต่งามจริงๆ เช่น ภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมนั้นพลิ้วไหวเหมือนมีชีวิต ซึ่งได้ยิน ผู้ที่เข้าชมด้วยกันกล่าวว่า การไปรษณีย์แห่งประเทศไทยนำไปเป็นแบบแสตมป์ด้วย

ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนเล่าเรื่อง ไตรภูมิ บางภาพศิลปินเขียนภาพอีโรติกเป็นภาพ หนุมาน ที่เราเคยเห็นแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นลิงขาว แต่ภาพจิตรกรรมที่นี่จะเห็นหนุมานเปลือยกาย กอดรัดกับนางสุพรรณมัจฉา บางภาพศิลปินเขียนปลา อ้าปากทำท่าจะงับคนเล่นน้ำ ดูแล้วเสียว

ที่น่าเป็นห่วงคือการอนุรักษ์ เพราะทางวัด หรือกรมศิลปากร ปล่อยฟรีให้ผู้ชมใช้แฟลชถ่ายภาพได้ ไม่มีแนวกั้นว่าควรยืนหรือนั่งห่างแค่ไหน หากไม่มีกฎเกณฑ์ คนที่เห็นแก่ตัวมีมาก จะทำให้ภาพงามที่หาไม่ได้อีกแล้วเสียหายหมดสักวันหนึ่ง

เจดีย์พระยามอญ

รอบอุโบสถ มีพระเจดีย์มอญ ทางวัดบอกว่า. เป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยรามัญราชบุรี คือ

1.1 พระนิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค

1.2 พระชินษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าตะกั่ว

1.3 พระปัณษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าขนุน

1.4 พระพลติษฐบดี เจ้าเมืองท่ากระดาน

1.5 พระนินษณติษฐบดี เจ้าเมืองลุ่มสุ่ม

1.6 พระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ

1.7 พระสมิงสิงคิบุรินทร์ เจ้าเมืองสิงห์บุรี

เรือนไทยงามล้ำเลิศ

นอกจากพระอุโบสถยังมีหมู่กุฏิสงฆ์เป็นเรือนไทย ขนาด 9 ห้องและ 7 ห้อง

เรือนไทยแต่ละหลังใต้ถุนสูง เป็นเรือนไทยโบราณ เสาไม้ ฝากระดาน หลังคายอดแหลม มุงกระเบื้อง มีหอนั่ง ชานแล่นกลาง มีเรือนบริวารล้อมรอบอีก 5 หลัง ด้านนอกตั้งเสาระเบียงรองรับ ชายคาเรียงเป็นตับ

กุฏิหลังนี้ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุโบราณของวัดที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปก่อนๆ และแหล่งสะสมวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2542

พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ตั้งเมื่อปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้องของวัดจัดแสดง อาคารทรงไทยแบ่งเป็น 8 ห้อง เว้น 1 ห้องเป็นของพระเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์

ในพิพิธภัณฑ์มีของโบราณหลากหลาย แต่ที่เด่นๆ ได้แก่

1.โลงมอญ ซึ่งมีอายุประมาณ 200 ปี แกะสลักจากไม้ชิ้นเดียวทะลุโปร่งเป็นลายดอกพุดตาน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติมอญ มีประวัติเล่าว่าช่างทำมาจากป่า เมืองกาญจนบุรี แล้วใส่เรือชื่อว่า นางอะสง มีศพใส่มาด้วย ผ่านหลายวัดแต่โลงศพ ไม่ยอมขึ้น เมื่อมาถึงวัดคงคารามก็หันเข้ามา ชาวบ้านช่วยกันนำมาตั้งไว้ในวัด แม้จะเป็นเรื่องเล่า แต่โลงศพแบบมอญของจริงก็มีให้ชม ที่เห็นใหม่ๆ เพราะปรับปรุงให้คงสภาพเดิม ส่วนที่ว่ามีศพใส่มาด้วยก็ น่าจะจริง สันนิษฐานว่าไม่ใช่ศพพระผู้ใหญ่ก็ต้อง เป็นพระยามอญเป็นแน่แท้ โลงศพนี้ กรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ เมื่อ พ.ศ. 2518

2.ลับแล สมัยรัตนโกสินทร์ลักษณะเป็นฉากกั้น เขียนลายไทยด้วยสีฝุ่นเป็นภาพเทพพนม กรอบและขาตั้งเป็นไม้จำหลักลวดลายดอกพุดตานและสัตว์หิมพานต์

นอกจากนั้นก็เป็นผ้าโบราณ เครื่องกังไส สังคโลก และเบญจรงค์

ส่วนศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาทรงเครื่อง ไม้ทุกชิ้นเต็มไปด้วยศิลปะที่ช่างได้บรรจงแต่งไว้ ภายในศาลาการเปรียญซึ่งมีทั้งเทพชุมนุมปางผจญมารและทศชาติ และลายเพดานบนศาลาการเปรียญเป็นลวดลายเดียวกับวัดชมภูเวก ที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ที่มีแม่พระธรณีบีบมวยผมที่สวยที่สุดในประเทศไทย และเป็นวัดรามัญเก่าแก่เช่นเดียวกับวัดคงคาราม

วัดคงคาราม จะสร้างในครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากการเล่าสืบต่อกันมาของชาวบ้านซึ่งมีเชื้อสายมอญ พอจะจับเค้าได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี แต่เดิมวัดนี้ชื่อ วัดกลาง ภาษามอญเรียกว่า เกี้ยโต้ จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2330

เป็นวัดเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย แขวงเมืองราชบุรี โดยเจ้าคณะมีสมณศักดิ์เป็นพระครูรามัญญาธิบดีถึง 6 รูปด้วยกัน 1.พระครูรามัญญา ธิบดี 2.พระครูรามัญญาธิบดี (เมศ)

เป็นต้น

ที่เล่ามานี้เป็นบางส่วน จะให้เห็นทั่วถึงและ ซาบซึ้งจริงๆ ต้องไปดูด้วยตา โพธาราม แค่นี้เอง