posttoday

อกุศลวิตกและกุศลธรรม (ตอนที่ 3)

09 มีนาคม 2557

ต่อจากอาทิตย์ก่อน ว่าด้วยเรื่องอกุศลวิตก (ได้แก่ กามวิตก พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก)

ต่อจากอาทิตย์ก่อน ว่าด้วยเรื่องอกุศลวิตก (ได้แก่ กามวิตก พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก) ที่เกิดในใจของท่าน “พระเมฆิยะ” พระเถระผู้เคยเป็นอุปัฏฐานรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหตุที่ท่านเกิดอกุศลวิตกทั้งๆ ที่พยายามออกไปปฏิบัติธรรมด้วยจิตอันมุ่งมั่น และเรื่องของกุศลธรรม 9 ประการ เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระเถระ โดยแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ธรรม 5 ประการ และธรรม 4 ประการ ซึ่งในส่วนธรรม 5 ประการได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่ 2 ก็จะขอนำมากล่าวต่อๆ ไป ก่อนที่จะไปถึงธรรม 4 ประการ ขอกล่าวถึงธรรม 5 ประการเพิ่มอีกสักหน่อย ด้วยว่า ข้อที่ 1 ของธรรม 5 ประการนั้นคือ

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี”

ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล ... จักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส ... วิมุตติญาณทัสสนกถา ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร ... ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีปัญญา ... ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ”

พระองค์ตรัสว่า “เมฆิยะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นกัลยาณมิตร”

อรรถกถากล่าวอธิบายไว้ว่า กัลยาณมิตร หมายถึง บุคคลผู้มีมิตรงาม คือ เจริญ ดี บุคคลผู้มีมิตรสมบูรณ์ด้วยศีลคุณ เป็นต้น มีอุปการะด้วยอาการทั้งปวงอย่างนี้ คือ บำบัดทุกข์ สร้างสรรค์หิตประโยชน์ ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรแท้จริง

กัลยาณสหาย หมายถึง ดำเนินไปด้วยกัลยาณบุคคลตามที่กล่าวแล้ว คือ ไม่เป็นไปปราศจากกัลยาณมิตรบุคคลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพวกดี เพราะเป็นไปโดยภาวะที่โน้มน้อมโอนไปทางใจและทางกายในกัลยาณบุคคลนั่นแล ด้วยบทเหล่านี้ ย่อมยังความเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นในการสังสรรค์กับกัลยาณมิตร

ลักษณะของกัลยาณมิตรในพระศาสนานี้ คือ ผู้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

ผู้มีศรัทธา คือ ย่อมเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต กรรมและผลแห่งกรรม ไม่ละทิ้งการแสดงหาประโยชน์เกื้อกูลในเหล่าสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ผู้มีศีล คือ มีศีลเป็นที่รัก ที่พอใจ ที่เคารพ สรรเสริญ เป็นผู้โจทก์ท้วง เป็นผู้ติเตียนบาป เป็นผู้กล่าวอดทนต่อถ้อยคำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย

ผู้มีสุตะ คือ ย่อมทำถ้อยคำอันลึกซึ้งเกี่ยวด้วยสัจจะ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

ผู้มีจาคะ คือ ย่อมเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่

ผู้มีวิริยะ คือ ย่อมเป็นผู้มีความเพียร เพื่อปฏิบัติประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย

ผู้มีสติ คือ ย่อมมีสติตั้งมั่น

ผู้มีสมาธิ คือ ย่อมเป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตเป็นสมาธิ

ผู้มีปัญญา คือ ย่อมรู้สภาวะที่ไม่ผิดแผก

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยคติธรรมอันเป็นกุศลด้วยสติ รู้สิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แห่งสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริงด้วยปัญญา เป็นผู้มีจิตแน่วแน่ในกุศลธรรมเหล่านี้ด้วยสมาธิ ย่อมเกียดกันสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วชักนำเข้าไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยวิริยะ ดังว่า

บุคคลเป็นที่รัก ที่เคารพ ยกย่อง เป็นผู้ว่ากล่าว

ผู้อดทนถ้อยคำ ผู้กระทำถ้อยคำอันลึกซึ้ง

และไม่ชักนำในฐานะที่ไม่ควร

ความเป็นผู้มีมิตรอันดีงาม ชื่อว่าเป็นที่ 1 ของธรรมอันหาโทษมิได้ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจริยาวาส และเพราะตรัสไว้ในข้อแรกแห่งธรรม 5 ประการ โดยมีอุปการะมากแก่กุศลธรรมทั้งปวง และโดยความเป็นประธาน ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ โดยกระทำศรัทธา เป็นต้นที่ไม่บริสุทธิให้บริสุทธิ์

ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิเสธคำของพระอานนท์ถึง 2 ครั้งที่ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม มีสหายดีงาม นี้เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” โดยตรัสว่า “อย่ากล่าวอย่างนี้ อานนท์”

“อานนท์ ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม มีสหายดีงาม นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น”