posttoday

หลวงตาเกตุ วัณณโก ศิษย์หนึ่งเดียวที่หลวงปู่มั่นบวชให้

09 พฤษภาคม 2553

น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ในหมู่ศิษยานุศิษย์จำนวนมากนั้นมีอยู่รูปเดียวที่หลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั่นคือ หลวงตาเกตุ วัณณโก

น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ในหมู่ศิษยานุศิษย์จำนวนมากนั้นมีอยู่รูปเดียวที่หลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั่นคือ หลวงตาเกตุ วัณณโก

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

เป็นที่ประจักษ์ว่า 58 ปี ที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้อุปสมบทจนกระทั่งละขันธ์นั้น ไม่เพียงแต่จะประกาศให้โลกรู้ว่า หากทำจริง ย่อมได้ผลจริง พระอรหันต์มิได้ว่างเว้นไปจากโลก หากแต่ยังเป็นประหนึ่งประภาคารส่องทางธรรมให้ศานุศิษย์จำนวนมากได้ข้ามห้วงมหรรณพสู่ฟากฝั่งอริยะ และทำให้วงศ์แห่งพระป่าเป็นปึกแผ่นมั่นคงเป็นการส่งต่อในช่วงกึ่งพุทธกาล แต่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ในหมู่ศิษยานุศิษย์จำนวนมากนั้นมีอยู่รูปเดียวที่หลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั่นคือ หลวงตาเกตุ วัณณโก

หนังสือวรลาโภ ผู้ให้ธรรม เป็นพรอันประเสริฐ หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ นั้นระบุไว้ว่า “หลวงตาเกตุเป็นสัทธิวิหาริก หรือพระที่หลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการอุปสมบทให้ ตามประวัติของหลวงปู่มั่นทราบว่า มีเพียงหลวงตาเกตุผู้เดียวเท่านั้นที่หลวงปู่มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ให้”

หลวงตาเกตุเป็นใคร มาจากไหน?

หลวงตาเกตุ วัณณโก ศิษย์หนึ่งเดียวที่หลวงปู่มั่นบวชให้ พระอาจารย์มั่น

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เล่าไว้ในหนังสือธรรมประวัติ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ ว่า “เพิ่น ครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ขึ้นเมืองเหนืออยู่วัดเจดีย์หลวงวัดแรก อายุ 62 ปี พรรษาได้ 39 พ.ศ. 2475 ทางการพระต่างตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้บวชให้หลวงตาปลัดเกตุ (วัณณโก) คนเมืองเพชรบุรี รูปเดียว เท่านั้น”

พลิกประวัติหลวงปู่มั่น ก็พบว่า ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ณ วัดเจดีย์หลวง ในปี พ.ศ. 2472-2473 เมื่อ พ.ศ. 2475 เจ้าคุณอุบาลีก็ขอร้องให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง หลังจากรับภาระนั้นอยู่ 1 พรรษา ท่านก็ทิ้งพัดยศและสมณศักดิ์อะไรทั้งหลายนั้นไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ออกธุดงค์บำเพ็ญสมณธรรมตามยอดดอยในภาคเหนืออยู่ถึง 10 ปี ก่อนจะตอบรับคำอาราธนาของศิษย์ให้เดินทางกลับภาคอีสานใน พ.ศ. 2485

เพราะท่านเฉยชาต่อสมณศักดิ์และการบริหารงานสงฆ์ในรูปแบบการปกครองสงฆ์แบบราชการ หลายคนจึงอาจจะลืมไปว่า หลวงปู่มั่นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. 2475

คำสั่งดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ปี พ.ศ. 2575 โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

บางถ้อยคำในคำสั่งนั้นมีว่า “พระครูวินัยธร (มั่น) ภูริทัตโต ฉายา ภูริทัตโต วัดเจดีย์หลวง มีอายุ 62 ปี พรรษา 39 ประกอบด้วยสุปฏิบัติ และคุณธรรมนำให้เกิดความเลื่อมใส ความนับถือของพุทธบริษัท...จึงตั้งให้พระครูวินัยธรเป็นอุปัชฌายะ มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรทั้งหลายในแขวงคณะธรรมยุติกนิกาย จ.เชียงใหม่ มณฑลพายัพ”

เมื่อหลวงปู่มั่นอุปสมบทให้หลวงตาเกตุ เมื่อ พ.ศ. 2475 ก็ย่อมเป็นปีที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง

ตามประวัติที่หลวงปู่จามเล่าไว้พอเป็นเกร็ดนั้น ทำให้ได้เค้าลางว่า หลวงตาเกตุเป็นคนเมืองเพชรบุรีมาบวชเมื่อแก่ แต่ที่ได้ไปลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่นั้นเป็นเพราะ “หลวงตาเกตุเป็นญาติพี่น้องกับนายตำรวจ นายสถานี อ.พร้าว ติดตามญาติขึ้นไป จึงได้เข้าทำงานเป็นสมุห์บัญชี แก่เฒ่าก็มาบวชกับเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต)”

หลวงปู่จาม เล่าถึงสาเหตุที่หลวงปู่มั่นอุปสมบทให้หลวงตาเกตุว่า ท่านได้รับฟังมาจากหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ว่า “เหตุที่เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) บวชให้ก็เพราะต่อไปเมื่อหน้าจะเป็นผู้สานต่อประโยชน์ของครูอาจารย์มาไว้ทางเหนือ เพราะหลวงตาเกตุเคารพนับถือครูอาจารย์ใหญ่อย่างแท้จริง ก็คงจริงอย่างนั้น”

หากเอาเหตุผลนี้เป็นที่ตั้งแล้วไปดูอุปนิสัยใจคอของท่านก็พบว่า น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เพราะในประวัติหลวงปู่เหรียญ ซึ่งตามรอยหลวงปู่มั่นไปถึงวัดเจดีย์หลวงในปี พ.ศ. 2481 นั้นเล่าไว้ว่า เมื่อท่านเดินทางถึงเชียงใหม่แล้วได้เข้านมัสการท่านเจ้าคุณพุทธิโศภณ (แหวว ธัมมทินโน) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในขณะนั้น ครั้งนั้นท่านดำรงตำแหน่งพระครูฐานานุกรมที่พระครูสังฆรักษ์ ของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) จากนั้นได้ขอเข้าพักที่วัดเจดีย์หลวงเป็นการชั่วคราวและได้พบกับหลวงตาเกตุ เมื่อหลวงตาเกตุทราบความประสงค์ของหลวงปู่เหรียญแล้ว หลวงตาเกตุก็มีจิตเอื้อเฟื้อพาไปพบหลวงปู่มั่น

พึงทราบว่า พระพุทธิโศภณ (แหวว ธัมมทินโน) นั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงรูปที่ 3 เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวต่อจากหลวงปู่มั่น ในปี พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2502 นั่นแสดงว่าหลวงตาเกตุบวชแล้ว หลวงตาเกตุก็ยังคงพำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเรื่อยมา แม้หลวงปู่มั่นออกจากวัดเจดีย์หลวงไปแล้ว 6 ปี ท่านก็ยังอยู่ที่นั่นและคงไปมาหาสู่หลวงปู่มั่นเป็นประจำถึงทราบว่า พระอุปัชฌาย์อยู่ที่ไหน
หลวงตาเกตุพาหลวงปู่เหรียญไปพบหลวงปู่มั่นที่ อ.สันทราย ดังความว่า

“หลวงตาเกตุได้เมตตาพาอาตมาไปพบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ป่าละเมาะใกล้โรงเรียนเกษตรแม่โจ้ อ.สันทราย ก่อนที่จะเข้าไปหาท่าน อาตมาต้องนั่งพักสำรวมจิตให้แน่วแน่เสียก่อน กลัวท่านพระอาจารย์จะทักเวลาเข้าไป เมื่อสำรวมจิตใจแน่วแน่แล้วจึงเข้าไปหาท่าน ซึ่งเห็นท่านน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เพราะรูปร่างหน้าตาของท่านนั้นเหมือนกับที่นิมิตเห็นทุกประการ”

ที่หลวงตาเกตุพาไปสักการะหลวงปู่มั่นในคราวนั้นมิได้มีแต่หลวงปู่เหรียญ หากแต่ยังมี “พระบุญกง” ซึ่งเป็นคนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เช่นเดียวกับหลวงปู่เหรียญติดตามไปด้วยอีกรูปหนึ่ง แต่ที่ได้อยู่กับพระอาจารย์ใหญ่ก็มีแต่หลวงปู่เหรียญ เพราะพระบุญกงนั้น “ถูกพระอาจารย์ตำหนิติเตียน อยู่ไม่ได้ก็เลยกลับ ส่วนอาตมาเองก็บอกว่า ผมจะไม่กลับ ออกจากบ้านมาแล้ว จะไม่ยอมกลับ จะไปตายเอาดาบหน้า”

ถ้าพิจารณาจากคำบอกเล่าเช่นนี้ มิต้องสงสัยเลยว่า หลวงตาเกตุบวชแล้วจะได้ปฏิบัติภาวนาบ้างหรือไม่ ที่เป็นไปได้สูงคือ คงภาวนาพอรักษาตัวได้ทีเดียว ไม่เช่นนั้นคงยากที่จะเข้าถึงพระอาจารย์มั่นได้หรือนำพาเพื่อนสมณะไปฝากตัวศิษย์ร่วมพ่อแม่ครูอาจารย์ได้
แม้ไม่มีรายละเอียดเรื่องราวเหล่านี้บันทึกเอาไว้ แต่เราก็พอแกะรอยจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ครูบาอาจารย์รูปต่างๆ เล่าไว้ ดังที่หลวงปู่จามให้ภาพไว้ในช่วงต่อมาว่า

“เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) บวชให้แล้วก่อนเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วเพิ่นก็หนีออกไป ทิ้งท่านอาจารย์ลี (ธัมมธโร) กับหลวงตาปลัดไว้อยู่วัด ต่อมาท่านอาจารย์ลีก็หนีไปเสาะหา เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ทิ้งหลวงตาปลัดเกตุไว้อยู่วัดจนเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ละขันธ์ หลวงตาปลัดเกตุพร้อมผู้คนศรัทธาญาติโยมหลายคนลงมางานบูชาศพ จึงได้ส่วนแบ่งอัฐิขี้เถ้าขึ้นไปรักษาไว้ แต่ก็แบ่งไปแบ่งมากระจัดกระจายไปเหลือไว้ไม่กี่องค์ไม่กี่เม็ดหรอก...”

สำหรับหลวงตาปลัดเกตุนั้นมิเพียงจะได้รับแบ่งอัฐิธาตุหลวงปู่มั่นเช่นศิษย์รูปอื่นๆ หากแต่ยังได้รับฟันกรามซีกหนึ่งของหลวงปู่มั่นไว้ด้วย

ตามประวัติหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเคยมอบฟันกรามซีกหนึ่งให้หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

ในช่วงหลวงปู่มั่น หลีกเร้นไปภาคเหนือนั้น นอกจากหลวงปู่เหรียญแล้วยังมีพ่อแม่ครูอาจารย์อีกหลายรูปตามรอยท่านไปถึงภาคเหนือ อาทิ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์เนียม โชติโก พระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระปลัดทองสุก ธัมมคุตโต ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือ หลวงปู่เจี๊ยะ เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ในกาลต่อมา

หลวงปู่เจี๊ยะเล่าถึงการได้มาซึ่งทันตธาตุองค์นี้ว่า เย็นวันหนึ่งขณะพำนักอยู่กับหลวงปู่มั่นที่วัดร้างป่าแดง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ได้นำน้ำล้างหน้าใส่ขันไปถวายหลวงปู่มั่น ระหว่างนั้นหลวงปู่มั่นกำลังใช้ไม้สีฟันชำระฟันอยู่ แล้วจู่ๆ ฟันกรามซี่หนึ่งได้หลุดออกมา แล้วท่านก็ยื่นฟันซี่นั้นมาให้พร้อมทั้งกล่าวว่า “เอ๊า...ท่านเจี๊ยะ เอาไป”

หลวงปู่เจี๊ยะเก็บรักษาทันตธาตุซี่นั้นไว้กว่า 50 ปี จนกระทั่งสามารถก่อสร้างเจดีย์ภูริทัตโต ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามสำเร็จ ท่านจึงอาราธนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาเป็นองค์ประธานบรรจุทันตธาตุองค์นี้ไว้ในเจดีย์ดังกล่าว

ฟันกรามซี่นี้ เป็นฟันที่หลุดออกมาเองตามธรรมชาติ รูปพรรณสัณฐานและสีจึงเป็นเช่นธรรมชาติ แต่ฟันกรามซี่ที่หลวงตาเกตุเก็บรักษาไว้นั้นเป็นทันตธาตุที่ผ่านการเผาในงานถวายเพลิงศพ สีจึงกลายเป็นสีเขียวประหนึ่งหยก

หลวงตาเกตุเก็บรักษาฟันซี่นี้ไว้นานกระทั่งคนลืมเลือนกันไป กระทั่งท่านละขันธ์ไปแล้ว หลายสิบปีถัดมาจึงมีข่าวเตื่นเต้นปรากฏออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า พบพระธาตุและทันตธาตุหลวงปู่มั่นที่วัดเจดีย์หลวง แต่ถ้าใครจำได้ย่อมไม่ประหลาดใจต่อการ|ค้นพบครั้งนี้ เพราะในหนังสืออนุสรณ์งาน ฌาปนกิจศพ นางพุ่ม งามเอก มารดาของ น.อ.เกษม งามเอก ผู้สร้างเหรียญหลวงปู่ฝั้นรุ่นแรกและอีกหลายๆ รุ่น อันลือลั่นก็มีภาพถ่ายและอัฐิและฟันกรามชุดนี้อยู่ และใต้ภาพนั้นก็เขียนไว้ชัดเจนว่า “อัฐิและฟันกรามของพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นพระธาตุ พระเกตุ วัณณโก วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เป็นผู้เก็บรักษา”

น่าเสียดายว่าไม่มีบันทึกเรื่องราวเส้นทางธรรมของหลวงตาเกตุผู้เป็นศิษย์ที่หลวงปู่มั่นบวชให้เพียงรูปเดียวเอาไว้โดยละเอียด แต่กระนั้นท่านก็ได้เก็บรักษาทันตธาตุและพระธาตุของหลวงปู่มั่นเอาไว้ให้เป็นมรดกอันหาค่ามิได้ของพุทธศาสนิกชนไทย ปัจจุบันทันตธาตุและพระธาตุดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาไว้ในวิหารวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ให้ผู้คนทั้งหลายได้สักการะเป็นวัตถุพยานถึงความสำเร็จของหน่อเนื้อแห่งพุทธบุตร เป็นส่วนประกอบสำคัญนอกเหนือจากธรรมโอวาทที่ตกทอดมา ทำให้ประภาคารแห่งธรรมนี้ยังส่องทางและเป็นกำลังใจให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานเส้นทางปฏิบัติให้ทอดยาวออกไป

จะน้อยจะมากนี่คือ ประวัติศาสตร์และคุณูปการที่หลวงตาเกตุได้บำเพ็ญไว้