posttoday

สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 14 สมาเณรประโยค9 นาคหลวงรูปแรกของไทย

01 กันยายน 2556

พุทธศักราช 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 การสอบปริยัติธรรมแผนกบาลี ใช้สนามสอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผู้เข้าสอบต้องแปลปากเปล่าต่อหน้าพระพักตร์

โดย...สมาน สุดโต

พุทธศักราช 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 การสอบปริยัติธรรมแผนกบาลี ใช้สนามสอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผู้เข้าสอบต้องแปลปากเปล่าต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นกรรมการสอบ ปีนั้นสามเณรน้อยองค์หนึ่งจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อายุ 12 ปี มีนามว่า สามเณรปลด ได้เข้าสอบและแปลได้ 1 ประโยค พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งว่า “เณรเล็กๆ ก็แปลได้” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามตั้งแต่วันนั้น ต่อมาสามเณรน้อยเข้าแปลพระปริยัติธรรมในวันที่ 2 ได้ 2 ประโยค และแปลวันที่ 3 ได้ 3 ประโยค จึงได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค เมื่ออายุ 12 ปี (ยังไม่มีใครทำได้ถึงทุกวันนี้)

ตามประวัตินั้น ท่านชื่อ ปลด นามสกุล เกตุทัต มีถิ่นกำเนิดย่านพาหุรัด จังหวัดพระนคร เกิดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2432

เมื่ออยู่ประจำสำนักวัดเบญจมบพิตร ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้าง กลายเป็นพุทธสถานที่งดงามที่สุดในราชอาณาจักรไทยใครๆ ก็ต้องมาเยี่ยมมาชม สามเณรปลดได้เข้าสอบบาลีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะที่อายุย่างเข้าปีที่ 20 เมื่อ พ.ศ. 2451 เป็นสามเณรรูปที่ 2 รองจากสมเด็จพระสังฆราช (สา) ที่สอบได้ชั้นสูงสุด

เมื่ออายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง ทรงพระกรุณาจัดการในการอุปสมบททุกอย่างตั้งแต่ทำขวัญนาค ณ พระที่นั่งทรงธรรมวัดเบญจมบพิตร ในวันอุปสมบท ในวันที่ 4 ก.ค. 2452 ทรงให้รถหลวง และรถที่ขอแรงมา รวมทั้งสิ้น 54 คัน แห่สามเณรปลดไปอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระองค์ทรงตรวจความเรียบร้อยที่วัดเบญจมบพิตร แล้วเสด็จฯ ล่วงหน้าไปคอยทอดพระเนตรขบวนแห่นาคที่ประตูสวัสดิโสภา พระบรมมหาราชวัง

เมื่อขบวนมาถึง จึงทรงพระกรุณาพาสามเณรปลดเข้าสู่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยพระองค์เอง จากนั้นสามเณรปลดเข้าขอนิสัยจากสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทยมหาเถระ) พระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า กิตฺติโสภโณ อุปสมบทแล้วมาประจำวัดเบญจมบพิตรตลอดมาจนถึงสิ้นพระชนม์ที่วัดแห่งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. 1324 ตรงกับวันที่ 17 มิ.ย. 2505 ในรัชกาลที่ 9 พระชันษา 73 ปี

การรับสามเณรปลดเป็นนาคหลวง กลายเป็นธรรมเนียมในระยะต่อมา เมื่อสามเณรรูปใดสอบได้ประโยค 9 จะโปรดฯ ให้เป็นนาคหลวง ถัดจากสามเณรปลดก็ได้แก่ สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก ที่สอบได้ ป.ธ. 9 พ.ศ. 2503 สามเณรประยุทธ์ (อารยางกูร) ปยุตโต (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต) ที่สอบได้ ป.ธ. 9 พ.ศ. 2504 เป็นต้น

สำหรับพระมหาปลด ป.ธ. 9 นั้น เจริญเติบโตในสมณศักดิ์ จนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2503

ก่อนหน้านั้นช่วยในการบริหารคณะสงฆ์ในหลายตำแหน่งหน้าที่ เช่น เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ แทนสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เมื่อ พ.ศ. 2481 และรักษาการตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2501 และเป็นสังฆนายก (ตาม พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ 2484) เมื่อ พ.ศ. 2494 ถึง พ.ศ. 2503

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 14

พ.ศ. 2503 ขณะที่มีสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ในพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 4 พ.ค. 2503 หลังจากพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

นอกจากการปฏิบัติศาสนกิจในประเทศแล้ว สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และในราชการ หลายประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ไปตรวจการคณะสงฆ์ภาคใต้ที่ไทรบุรี ปีนัง ในสหพันธรัฐมลายา และงานสำคัญทางศาสนาอีกหลายแห่ง หลายประเทศ

เมื่อ พ.ศ. 2504 ได้เสด็จไปสังเกตการณ์พระศาสนา การศึกษา และเยี่ยมประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปบางประเทศ ตามคำทูลอาราธนาของมูลนิธิเอเชีย พ.ศ. 2505 ได้เสด็จไปสังเกตการณ์พระศาสนาและเยี่ยมประชาชน ณ ประเทศอินเดีย ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลอินเดีย

พระอวสานกาล

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2505 วันสิ้นพระชนม์ที่ไม่มีใครคาดมาก่อน เพราะเวลาเพลได้เสด็จไปเจริญพระพุทธมนต์และเสวยภัตตาหารเพล เนื่องในงานทำบุญที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี หลังจากเสด็จกลับวัด จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. เข้าสรงน้ำแล้ว มีพระอาการปวดพระเศียรอย่างรุนแรง เมื่อนายแพทย์มาเฝ้าพระอาการ พอทรงเห็นหน้านายแพทย์และรับสั่งได้เพียงไม่กี่คำ พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ เมื่อเวลา 16.27 น. คณะแพทย์ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นโลหิตใหญ่ในพระสมองแตก สิริพระชันษาได้ 73 ปี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน 18 วัน

นับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย ที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงเป็นต้นแบบนาคหลวง สำหรับสามเณรประโยค 9 ทั้งหลายในปัจจุบัน สิ้นพระชนม์แบบไม่คาดคิดมาก่อน