posttoday

วันนี้ที่รอคอย...ของนาคหลวงเปรียญเก้า

19 มิถุนายน 2556

ท่านเคยรู้ไหมว่า การสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค หรือ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณร ซึ่งจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ

โดย...วรธารที ภาพ ธนาคารกรุงเทพ

ท่านเคยรู้ไหมว่า การสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค หรือ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณร ซึ่งจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้อุปสมบทเป็น “นาคหลวง” ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังนั้น ถือเป็นความหวังลึกๆ ของเหล่าสามเณรที่ศึกษาบาลีเพราะนั่นคือเกียรติอันสูงสุดแก่ตัวเอง วงศ์ตระกูล ครูอาจารย์ และสำนักเรียน

การเรียนบาลีจนสามารถสอบได้ ป.ธ.9 ใครๆ ก็รู้ว่า เป็นเรื่องยาก!!! แต่การเรียนและสอบได้ในขณะเป็นสามเณร ซึ่งกำหนดอายุไม่เกิน 22 ปี ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะถ้ามีการสอบตกในปีใดปีหนึ่งก็อาจพลาดโอกาสที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นนาคหลวงได้

แม้การสอบให้ได้ ป.ธ.9 เป็นความยาก ก็ต้องยอมรับว่ายุคกรุงรัตนโกสินทร์เรื่อยมาถึงปัจจุบัน มีสามเณรที่สอบได้ ป.ธ.9 จำนวน 227 รูป รวมสามเณร 5 รูป ที่สอบได้ในปี 2556 นี้ด้วย ได้แก่ สามเณรไกรสิทธิ์ ลีปัสสา วัดเทพลีลา กรุงเทพฯ สามเณรอรรณพ ใจอารีย์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ สามเณรอนุวัฒน์ คำโพนรัตน์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ สามเณรทนงศักดิ์ ตาดี วัดจองคำ จ.ลำปาง และสามเณรธนวัฒน์ พุฒหอม วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่

เปิดใจว่าที่เณรนาคหลวงปี 2556

เริ่มที่ สามเณรธนวัฒน์ ที่ตอนเรียนถึงชั้น ป.ธ.5 อยากลาสิกขา แต่ด้วยถูกพระธรรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมังคโล) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ปลุกปลอบให้กำลังใจจนมีอุตสาหะกลับมาเรียนต่อจนได้ ป.ธ.9 เล่าว่า ที่ผ่านมาตั้งใจเรียนเต็มที่ด้วยความตั้งใจ โดยมีความหวังของหลวงปู่เป็นแรงกระตุ้น และดีใจที่ทำความหวังของผู้ใหญ่สำเร็จ เพราะวัดพระธาตุศรีจอมทองไม่เคยมีผู้สอบได้ประโยค 9 ตั้งแต่ตั้งสำนักเรียนเมื่อปี 2535

กับโอกาสที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็น “นาคหลวง” ในวันที่ 15 ก.ค.ที่จะถึง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามเณรประโยค 9 จาก จ.สุรินทร์ เผยความรู้สึกว่า ถือเป็นเกียรติประวัติแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูล เพราะใครจะคิดว่าลูกบ้านนอกคนยากจนจะได้รับโอกาสสูงสุดในชีวิต ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ขณะที่ สามเณรทนงศักดิ์ อายุ 20 ปี เล่าว่า ตลอดการสอบที่ผ่านมาไม่เคยสอบตก เพราะที่วัดจองคำ เจ้าอาวาส (พระราชปริยัตโยดม) ให้การสนับสนุนเรื่องเรียนบาลีมากเป็นพิเศษ ทั้งรูปแบบและวิธีการสอนก็เข้มข้น ที่สำคัญการที่ไม่ได้เรียนทางโลกจึงทำให้ทุ่มเวลาเรียนเต็มที่

เกี่ยวกับการได้เป็นนาคหลวง สามเณรจาก จ.อุบลราชธานี เผยว่า ดีใจที่ลูกชาวนาได้รับโอกาสอันประเสริฐที่ใช่ว่าทุกคนจะได้ง่ายๆ และหลังจากนี้ไปจะได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยเงินที่หลวงถวายรายเดือน เดือนละ 4,100 บาท จะให้พ่อแม่ได้ใช้สอย ส่วนตนเจ้าอาวาสวัดให้เดือนละ 7,000 บาท ในฐานะครูสอน พร้อมทุนในการเรียนต่อปริญญาโทในปี 2557 ด้วย

หันมาที่ สามเณรไกรสิทธิ์ ที่อายุน้อยที่สุด 19 ปี และตอนนี้กำลังเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่า ตลอดที่ร่ำเรียนมาไม่เคยสอบตก เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่ความขยัน และมองว่าเมื่อรุ่นพี่ทำได้ ก็เชื่อว่าจะทำได้เช่นกัน และในที่สุดก็สมหวัง

การเรียนบาลีในอดีตปัจจุบัน

หลายคนอาจสงสัยเกี่ยวกับการศึกษาภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณร รวมถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงของสามเณรที่สอบได้ ป.ธ.9 มีความเป็นมาอย่างไร “วิจิตร สมบัติบริบูรณ์” ป.ธ.9 ได้เขียนเกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไว้ในหนังสือทำเนียบ “พระเปรียญธรรม 9 ประโยค” ที่จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ ในงานแสดงมุทิตาธรรมแด่พระเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งธนาคารได้จัดถวายทุกปี และปีนี้เป็นปีที่ 40 ไว้ดังนี้

ก่อนปี 2469 การสอบบาลีพระเณรผู้เข้าสอบต้องสอบต่อหน้าคณะกรรมการภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อหน้าพระที่นั่ง ด้วยการจับสลากและเข้าไปแปล “ด้วยปากเปล่า” ทีละรูป เรียกกันติดปากสมัยนี้ว่า “สมัยแปลด้วยปาก” ได้หรือไม่ได้ คณะกรรมการตัดสินให้คะแนนรู้ผลกันในวันนั้น ผู้ที่สอบได้จะได้รับพระราชทานไตรจีวรแพร ซึ่งเป็นของมีค่าในสมัยนั้น

สมัยสอบด้วยปากเปล่า ผู้ที่สอบได้ขณะเป็นสามเณรรูปแรก คือ “สามเณรสา” (ต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม องค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปี 2374 ขณะอายุ 18 ปี สอบคราวเดียวได้ 9 ประโยค เมื่ออุปสมบทได้ 6 พรรษา ได้เป็นพระราชาคณะที่ “พระอมรโมลี” ต่อมาได้ลาสิกขา จนปี 2395 ขณะอายุ 39 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับเข้ารับการอุปสมบทใหม่และสอบใหม่ ก็สอบ ป.ธ.9 ได้อีก และครั้งหนึ่งท่านมีนามปรากฏว่า “พระมหาสา ปุสฺสเทโว เปรียญธรรม 18 ประโยค”

โปรดให้อุปสมบทเณร ป.ธ.9 ที่วัดพระแก้ว

ถัดมาในปี 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อ “สามเณรปลด เกตุทัต” วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 14 ที่พระนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี 2503) สอบได้ ป.ธ.9 ขณะอายุยังไม่ถึง 20 ปี

ซึ่งน่าสนใจว่าในสมัยที่สามเณรปลด เข้าแปลบาลีสนามหลวงประโยค 1 ณ พระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นอายุ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรด้วย ถึงกับมีรับสั่งว่า “เณรเล็กๆ ก็แปลได้”

ต่อมาครั้นสอบได้ประโยค 9 ซึ่งถือเป็นรูปที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดมาก ถึงกับทรงปรบพระหัตถ์ให้ พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดรถเข้าขบวนแห่ส่งถึงพระอาราม (ซึ่งธรรมเนียมนี้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้ที่สอบได้ ป.ธ.9 หลังจากเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรพัดยศ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสร็จแล้วจะมีรถหลวงรับส่งถึงวัด)

ถัดมาในปี 2452 มีอายุครบ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งก็ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงปัจจุบันว่า สามเณรรูปใดสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ทรงรับสามเณรรูปนั้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เข้าอุปสมบทเป็นนาคหลวงเป็นกรณีพิเศษ

สามเณรประโยค 9 ยุคสอบข้อเขียน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2469 เป็นต้นมา คณะสงฆ์ได้กำหนดวิธีการสอบขึ้นใหม่ โดยใช้วิธีการสอบ “แบบข้อเขียน” แทน แต่จะเห็นว่าตั้งแต่ ปี 2451-2502 นับเวลา 51 ปี ในระหว่างนี้ไม่มีสามเณรที่สอบได้ ป.ธ.9 แม้แต่รูปเดียว จนปี 2503 จึงมีสามเณรสอบได้ ป.ธ.9 คือ สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก (ปัจจุบัน ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต) สอบได้ในนามสำนักเรียนวัดเทพากร กรุงเทพฯ นับเป็น สามเณรนาคหลวงรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน

หลังจากนั้นก็มีสามเณรสอบได้ ป.ธ.9 เกือบทุกปี ซึ่งหากนับเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์เรื่อยมาถึงปัจจุบันมีจำนวนรวม 227 รูป ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพระชั้นผู้ใหญ่ที่สอบได้ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณร อาทิ พระพรหมคุณาภรณ์ (ส.ณ.ประยุทธ อารยางกูร) สอบได้ปี 2504 พระพรหมบัณฑิต (ส.ณ.ประยูร มีฤกษ์) สอบได้ปี 2519

เรียนอย่างไรให้ได้เป็นนาคหลวง

ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก DBA Program, Deming Business School, W.H. Taft University, USA และอีกหลายตำแหน่ง อดีตนาคหลวงปี 2533 ในนามวัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธ เป็นผู้มีบทบาทต่อการศึกษาบาลีของพระเณรตั้งแต่ 20 กว่าปีจนถึงปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้แต่งตำราประกอบการเรียนบาลีในชั้นต้นๆ มากมาย ช่วยให้พระเณรเรียนง่ายและถูกต้องตามหลักภาษาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในขณะยังเป็นสามเณร เล่าว่า ถ้าถามว่าเรียนอย่างไรให้จบ ป.ธ.9 ยังตอบง่ายกว่าเรียนอย่างไรให้ได้เป็นสามเณรนาคหลวง เพราะสามเณรนาคหลวงถูกจำกัดไว้ด้วยอายุระหว่าง 20-21-22 ปี ไม่เกินจากนี้

อดีตนาคหลวงปี 2533 เล่าต่อว่า หลักธรรมที่ตนใช้ คือ 1.วิริยะ เน้นขยัน มุ่งมั่น ทุ่มเท ฝึก ซ้อม แต่ไม่เครียด 2.สัจจะ โดยเชื่อเสมอว่าคนเราไม่ว่าจะอยู่ในเพศ สถานะ องค์กร ถ้าเป็นคนคิดจริง พูดจริง ทำจริง ก็จะสำเร็จได้ในท้ายที่สุด ไม่เร็วก็ช้า 3.ทมะ ต้องซ้อม ซ้อม ซ้อม และใช้ทางลัดคือเรียนรู้กับอาจารย์ที่ติวเตอร์เก่ง 4.กตัญญู อย่าลืมวัดลืมถิ่นเคยอยู่ อู่เคยนอน หนังสือเคยหนุน บุญคุณที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนพ้องน้องพี่ คนรอบตัวทำไว้แก่เรา แล้วหาเหตุตอบแทนตามกาลเวลาที่เหมาะสม สุดท้าย จาคะ ต้องทุ่มสุดตัว อย่าครึ่งๆ กลางๆ ต้องกล้าได้กล้าเสีย เอาชีวิตเข้า “แลก” ผมเองยามนั้นต้องทิ้งการเรียนทางโลกทุกอย่าง มุ่งทางธรรมด้านเดียว

พร้อมแนะนำผู้เรียนบาลีว่า ต้องรู้จักอดทน ทำใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะถ้าเกิดพลาดพลั้งสอบตกก็อย่าท้อแท้ หุนหันพลันแล่น น้อยใจ เสียใจ ท้อแท้ หมดอาลัย ถึงขั้นรีบลาสิกขา จะเสียโอกาส

“ถ้าสอบตกอย่าเสียใจ ร้องไห้ครั้งเดียวให้พอ ไม่มีใครเสียใจแล้วไม่ร้องไห้ เชื่อผม ปิดห้อง ร้องไห้ เสียใจให้เต็มที่ ปล่อยน้ำตาไหลจนแห้งผาก ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่าน ไม่ต้องกังวลว่าใครจะเยาะเย้ย เพราะเราคิดไปเอง วิตกไปเอง ให้หยุดคิด ตั้งสติ ตั้งหลัก ให้นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ เป็นปกติ ทำใจสะอาด สงบ สว่าง ให้หยุดอ่าน หยุดแปลบาลีสัก 1 เดือน แล้วค่อยเริ่มนับหนึ่งใหม่”

ดร.อุทิส เล่าต่อว่า เส้นทางสู่ความเป็นนาคหลวงเป็นเรื่องของปัจจัยทั้งห้า คือ บุญ วาสนา บารมี เวลา และโอกาส มาบรรจบกัน ถ้าบุญวาสนามีก็จักได้เป็นนาคหลวง ได้บรรพชาและอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเกียรติ เป็นศรี เป็นสง่าแก่วงศ์ตระกูล แต่ถ้าเกิดพลาดพลั้งสอบตก สอบไม่ได้ ก็ลดเพดานลดเป้าหมายเป็นพระมหา ป.ธ.9 ก็ได้เข้ารับพระราชทานพัดยศ และมีโอกาสได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณได้‌ในอนาคต

ขณะที่พระปิฎกโมลี‌(ชลอ กาไชยา) นาคหลวง‌ปี 2545 วัดจองคำ ‌จ.ลำปาง ที่ถือว่าเป็นเจ้า‌คุณนาคหลวงอายุน้อย‌ในปัจจุบันที่ 32 ปี ให้คำแนะนำว่า ทุกวันนี้สิ่ง‌ที่เป็นเครื่องล่อใจมีเยอะ เช่น เทคโนโลยี หรือ‌
อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ‌หากใครที่ควบคุมดูแล‌ตัวเองไม่ได้ คนนั้นก็ยาก‌ไปถึงฝั่งฝัน แต่ถ้ารักษา‌ใจได้สำเร็จทุกคน