posttoday

กรมการศาสนา ตั้งพุทธสภา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน

03 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อได้ยินคำว่าพุทธสภา จึงวาดภาพว่าคงคล้ายกับสภาการเมืองต่างๆ ทั้งที่เป็นระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

เมื่อได้ยินคำว่าพุทธสภา จึงวาดภาพว่าคงคล้ายกับสภาการเมืองต่างๆ ทั้งที่เป็นระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อได้ยินคำว่าพุทธสภา จึงวาดภาพว่าคงคล้ายกับสภาการเมืองต่างๆ ทั้งที่เป็นระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ต่อเมื่อได้พูดคุยกับ ปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา จึงถึงบางอ้อ พุทธสภาที่กรมการศาสนาตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายการรวมตัวของชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วย พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา เว้นแต่ภิกษุณีที่ไม่มีในเมืองไทย ก็จะเป็นแม่ชีเข้ามาแทน

ดังที่เอกสารของกรมการศาสนาตั้งคำถามถามว่า : “พุทธสภา” คืออะไร

ตอบ : พุทธสภา คือ องค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินงานด้านพระพุทธศาสนา ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนจากผู้แทนของพุทธศาสนิกชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งแบ่งเป็น 9 เครือข่าย ที่เรียกว่า นวภาคีเครือข่าย โดยเปิดให้พุทธศาสนิกชนสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพุทธสภา และมีการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้แทนของแต่ละเครือข่าย เครือข่ายละ 2 ท่าน ต่อจากนั้นผู้แทนเครือข่ายจะเป็นผู้เลือกนายกพุทธสภาในแต่ละจังหวัด และนายกพุทธสภาในระดับจังหวัดจะคัดเลือกนายกพุทธสภาแห่งประเทศไทย ตามลำดับ โดยได้รับการรับรองจากกรมการศาสนา

พุทธสภานั้นจะประกอบด้วย พุทธสภาจังหวัด ทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการพุทธสภาเรียกประชุมนวภาคี หรือ 9 องค์กร ประชุมหารือแต่ละจังหวัด

กรมการศาสนา ตั้งพุทธสภา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน

ส่วนอะไรเป็นที่มาให้เกิดองค์กรนี้ ปรีชา เล่าว่า เนื่องจากปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ก่อปัญหากับพระพุทธศาสนา ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชน ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดหลักธรรมที่นำไปประพฤติปฏิบัติ พฤติกรรมที่แสดงออกจึงตรงกันข้ามกับคำสอนในพระพุทธศาสนา เกิดมีความแตกแยก แบ่งสีกัน หรือเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร เสพยาเสพติด แม้กระทั่งทำร้ายบุพการีก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนหนึ่งไม่ได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ ทั้งๆ ที่แค่ปฏิบัติตามศีล 5 ปัญหาในสังคมไทยที่แตกแยกกันจะหมดไป

ในขณะที่เมืองไทยมีหลายองค์กรพร้อมที่จะช่วยเหลือด้วยจิตอาสา อยากทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา แต่ต่างคนต่างทำ ไม่เป็นปึกแผ่น จึงไม่เกิดพลังที่กล้าแข็ง ที่จะอุปถัมภ์ค้ำจุนและพิทักษ์พระพุทธศาสนาได้เพียงพอ

พุทธสภาคือการรวมพลัง

ตนในฐานะอธิบดีกรมการศาสนา เป็นตัวแทนของรัฐบาลดูแลงานด้านศาสนาจากรัฐบาล ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวพุทธรวมตัวกัน มาทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา อันเป็นที่รักของพวกเรา เพราะคาดหวังว่า ถ้าพี่น้องชาวพุทธมารวมกันจะเกิดพลังและอำนาจขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 พลังที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ส่งเสริมเผยแผ่ให้พระพุทธศาสนาให้เจริญ ให้สมกับที่คนทั้งโลกยกย่องว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา

ประการที่ 2 ในการรวมตัวกันนี้ นอกจากการปกป้องอะไรต่างๆ แล้ว พลังที่สำคัญคือจะมีอำนาจต่อรองในการจัดกิจกรรมและของบประมาณจากรัฐเพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนาของเราได้ด้วย

แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแล้วก็ตาม แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มีจำนวนน้อยเกินไป ไม่ใช่แต่รัฐบาลนี้เท่านั้น รัฐบาลอื่นๆ ในอดีตก็เช่นกัน ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้วทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา แต่พอถึงวงจรด้านงบประมาณ จะเป็นอันดับสุดท้าย เพราะเขาไล่ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาไปก่อน ส่วนศาสนาและวัฒนธรรมอยู่บ๊วย ทำให้เราเกือบไม่ได้เม็ดเงินเลย

“พอเกิดปัญหาโทษเด็ก หรือโทษโน่นนี่ ไม่เคยโทษตัวเราเองเลย ผมคิดว่าการที่เรารวมตัวกันจะเกิดพลังในการทำงานสามารถผลักดันโครงการ ของบประมาณแผ่นดินได้”

องค์ประกอบพุทธสภา

เมื่อถามถึงองค์ประกอบพุทธสภา ท่านอธิบดีฟันธงว่า ได้แก่ พุทธบริษัท 4 ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากพระพุทธศาสนาให้ดูแล จะต้องมาสมัครเป็นสมาชิก ในชั้นแรกอาจอยู่ในระดับล้านคน อาจถึง 20-30 ล้านคน ในอนาคต เพราะทุกคนรักพระพุทธศาสนา

เหนืออื่นใดกรมวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่สังคมเป็น 9 กลุ่มด้วยกัน คือ

1.ภาคีเครือข่ายภาคพระสงฆ์ เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยคก็ดี ปริญญาตรี-โท-เอก มีมากมาย หากเราไม่มีภารกิจรองรับพระคุณเจ้า ท่านก็อาจลาสิกขาออกไป ทำผู้มีความรู้ออกไปมาก หากเรามีภารกิจและนิมนต์พระคุณเจ้ามาทำงาน ทุกคนก็จะมีความสุข อย่างที่ประชุมนี้ได้ฟังว่าทุกคนอยากเห็นองค์กรเช่นนี้เกิดขึ้น อยากไปทำงานร่วมกัน

กรมการศาสนา ตั้งพุทธสภา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน

2.ภาคีเครือข่ายภาคผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ที่ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ที่มี 3,000-4,000 คน เรายังไม่ได้เชิญท่านเหล่านี้ ซึ่งมีจิตอาสาทำมาแล้วจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร

3.ภาคีเครือข่ายภาคราชการ

4.ภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน

5.ภาคีเครือข่ายภาคสถานศึกษา เมื่อเราปฏิรูปการศึกษา เมืองไทยกลายเป็นประเทศที่มีการศึกษาเพียวๆ เพื่อให้เด็กเก่งแยกสิ่งที่จะทำให้เด็กดี คือ ศาสนาออกจากการศึกษา ทั้งๆ ที่ศาสนาเป็นแหล่งบ่มเพาะให้เป็นคนดี แต่น่าเสียดายที่เราแยกศาสนาออกจากการศึกษา อันตรายมาก เราต้องมอมเมาให้ลุ่มหลงในการรักษาศีล 5 บำเพ็ญศีลสมาธิ

6.ภาคีเครือข่ายภาคสื่อมวลชน

7.ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ วิชาชีพหรือกลุ่มที่สนใจพระพุทธศาสนา

8.ภาคีเครือข่ายภาคมูลนิธิ สมาคม ชมรม ที่สนใจพระพุทธศาสนา กุล่มนี้มีใจรักและขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา

9.ภาคีเครือข่ายภาควงการบันเทิงที่สนใจพระพุทธศาสนา

แต่ละกลุ่มใน 9 กลุ่มต้องรวมกันได้ 20 คน แล้วคัดเลือกกันเองเพียง 2 คน เพื่อไปนั่งเป็นกรรมการพุทธสภาในระดับจังหวัด

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่วัดสามพระยา วันที่ 31 ม.ค. และ 1 ก.พ. 2556 เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ ที่เห็นชอบแล้วไปจัดตั้งพุทธสภาจังหวัดโดยวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการ ช่วยดูแลการปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง

ขณะนี้อนุมัติเงินงบประมาณให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการแล้ว จังหวัดเล็ก 2 แสนบาท จังหวัดขนาดกลางได้ 2.5 แสนบาท และจังหวัดใหญ่ 3 แสนบาท ในปีต่อๆ ไปจะพยายามขอให้จังหวัดละ 1 ล้านบาท

เมื่อถามว่าจะประกาศว่าพุทธสภาเกิดแล้วได้เมื่อไร ท่านอธิบดีกรมการศาสนา บอกว่า วันที่ 15 ก.พ. 2556 ตั้งระดับจังหวัดและเลือกนายกพุทธสภาจังหวัด ตัวนายกพุทธสภาจังหวัด จะต้องเป็นกรรมการพุทธสภาแห่งประเทศไทย กรรมการพุทธสภาแห่งประเทศไทยจะประชุมคัดเลือกนายกพุทธสภาแห่งประเทศไทย โดยกำหนดวันมาฆบูชา วันที่ 25 ก.พ. 2556 วันนั้นพูดได้ว่าพุทธสภาเกิดแล้ว

ตอนท้ายท่านอธิบดี กล่าวว่า งานนี้เป็นงานส่วนรวมต้องช่วยกันทุกฝ่าย และถือว่าทำตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่กำหนดให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ใครมีกฎหมาย ใครมีหน้าที่ให้มาช่วยกันทำงาน เพราะหนึ่งยุทธศาสตร์อาจมี 10 หน่วยงานก็ได้ เห็นชัดเลยว่ายุทธศาสตร์นี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับกรมการศาสนาต้องมาทำงานร่วมกันแน่นอน

เพื่อความแจ่มแจ้งขอยกคำถามคำตอบ (บางส่วน) ในเอกสารโครงการจัดตั้งพุทธสภา มาเสนอดังนี้

ถาม-ตอบ เรื่องพุทธสภา

ถาม : ทำไมต้องมี “พุทธสภา”

ปัจจุบันมีคำถามมากมายว่า งานพระพุทธศาสนามีองค์กร หน่วยงาน จัดทำอยู่แล้ว ทำไมต้องมีพุทธสภาอีกล่ะ

กรมการศาสนา ตั้งพุทธสภา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน

ตอบ : ขณะนี้มี บุคคล องค์กร หน่วยงาน ชมรม สมาคม และอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมากมายในประเทศไทย แต่ต่างคนต่างทำ เปรียบประดุจไม้ไผ่ที่สามารถจะหักได้ทุกเมื่อเพราะมีเพียงก้านเดียว หากรวมกันจะแข็งแกร่งไม่สามารถหักกำไม้ไผ่ก่อนั้นได้ ดังนั้นการจัดตั้งพุทธสภาก็เช่นเดียวกัน เป็นการรวมพลังชาวพุทธทุกภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ที่มีจิตอาสาในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ทั้งการขับเคลื่อนในรูปแบบการจัดกิจกรรม และร่วมผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และความสงบสุขในสังคม การเกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่าย ก่อให้เกิดพลัง โดยเฉพาะพลังแห่งศรัทธาของชาวพุทธที่อยู่ใต้ร่มพุทธสภา จะมีพลังอย่างยิ่งยวดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน

ถาม : สมัครเป็นสมาชิกพุทธสภาได้ที่ไหน?

ตอบ : พุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกกลุ่มอาชีพ สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกพุทธสภาได้ทุกพื้นที่ โดยในกรุงเทพมหานคร สมัครได้ที่สำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โทร. 02-422-8812 โทรสาร 02-422-8813 โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.dra.go.th และในส่วนภูมิภาค ติดต่อสมัครได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชุมผ่านมาถึงเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2556 ก่อนที่พระคุณเจ้าที่เข้าประชุมจะฉันเพล สุเทพ เกษมพรมณี ผู้อำนวยการสำนักพุทธคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา ได้ประกาศปฏิญญา ดังนี้

ปฏิญญาการจัดตั้งพุทธสภา

ด้วยพระสังฆาธิการในภาคการคณะสงฆ์ ประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะหน เลขานุการเจ้าคณะภาค ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ องค์กรทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ รวม 77 จังหวัด จำนวน 320 รูป/คน ได้มาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการดำเนินงานการจัดตั้งพุทธสภา ปีงบประมาณ 2556 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดตั้ง “พุทธสภา” สภาแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมิติใหม่ที่สร้างความเข้มแข็งให้สังคม เป็นการรวมพลังชาวพุทธที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาร่วมกันรังสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมที่มีธรรมะทั้งแผ่นดินภายใต้ร่มเงาของพุทธธรรม อันเป็นการพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุลและความสงบสุขอย่างยั่งยืน โดยพระคุณเจ้าและวัฒนธรรมจังหวัดทุกท่าน ที่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 77 จังหวัด ต่างเห็นพ้องที่จะนำไปสู่การจัดตั้งพุทธสภาในจังหวัด โดยจะร่วมกันดำเนินการตามปฏิญญา ดังต่อไปนี้

1.ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งพุทธสภาจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นพุทธานุสรณ์ในวาระส่งท้ายการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเพื่อขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย

2.ขอร่วมรณรงค์ให้มีการรวมพลังชาวพุทธ ‌เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของชาติ จัดตั้งเป็น ‌“พุทธสภาจังหวัด”ในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเชิญ‌ชวนพุทธศาสนิกชนในเครือข่ายต่างๆ สมัครเป็น‌สมาชิกพุทธสภา

3.ขอร่วมเป็นกำลังเสริมหนุนผลักดันให้เกิดการ‌ขับเคลื่อนพุทธสภาจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ

4.ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพุทธสภาที่จะส่งเสริม‌ให้ชาวพุทธในชุมชนดำรงความดีและบทบาทของ‌พุทธศาสนิกชนให้มั่นคง โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ‌และร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเกิดความรู้‌รักสามัคคีและความสงบในชุมชน

ประกาศ ณ วันที่ 31 ม.ค. 2556 ณ วัดสามพระยา

สรุปว่า พุทธสภาเดินหน้า แม้ว่าพระเถระ เช่น ‌พระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม จะท้วงติง‌ว่า มันจะไม่ยั่งยืนและไม่เป็นไปตามประสงค์ เพราะ‌ดูเหมือนว่าจะเป็นการเพิ่มองค์กรทางพุทธศาสนา‌ขึ้นมาอีก อาจแบ่งกลุ่มกันมากขึ้นในอนาคตก็ได้