posttoday

พระธรรมวราจารย์(หลวงปู่แบน) ปูชนียเถระ หัวใจมีแต่งาน

15 มกราคม 2555

วันที่ 11 ม.ค. 2555 กำลังอยู่ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ที่หลายๆ คนแสวงหาพรปีใหม่ เพื่อให้มีกำลังใจในการต่อสู้

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 11 ม.ค. 2555 กำลังอยู่ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ที่หลายๆ คนแสวงหาพรปีใหม่ เพื่อให้มีกำลังใจในการต่อสู้ สู้กับงานและชีวิตในปี 2555 แต่สำหรับศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือหลวงปู่แบน หรือพระธรรมวราจารย์ วัย 84 ปี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ได้แสวงหาพรจากใคร เพราะหลวงปู่ชักชวนให้ไปปิดทองพระประธาน ที่ท่านสร้างไว้ที่วัดเทพรัตนาราม กระทุ่มแบน สมุทรสาคร และให้ปลูกมะนาวในแปลงสาธิต สำหรับชาวสวน นำไปเป็นแนวทางเพิ่มรายได้ เมื่อทำตามที่หลวงปู่ชักชวน ก็ได้รับพรปีใหม่ที่ประเสริฐและมีค่ายิ่ง

ออกแบบ ควบคุมก่อสร้างเอง

สิ่งที่เห็นในวัดเทพรัตนารามไม่ว่าอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลากลางน้ำ พระไพรีพินาศขนาดหน้าตัก 111 นิ้ว นับว่าใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งแปลงสาธิตปลูกมะนาว ล้วนแต่เป็นความคิด และการออกแบบของหลวงปู่ทั้งสิ้น

พระธรรมวราจารย์(หลวงปู่แบน) ปูชนียเถระ หัวใจมีแต่งาน

วัดที่หลวงปู่สร้างในย่านนี้มี 2 วัด นอกจากวัดเทพรัตนาราม ก็มีวัดสิรินธรรัตนาราม อ้อมใหญ่ สามพราน อีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองวัดที่หลวงปู่สร้างนอกจากเป็นศูนย์และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้ว ยังเป็นที่พักพิงของประชาชนหลายร้อยครอบครัว ช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 อีกด้วย จึงเป็นวัดเพื่อประโยชน์ชุมชนทั้งใกล้และไกล โดยเฉพาะวัดสิรินธรรัตนารามนั้น มีพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น เป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งที่ 2 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นศูนย์เด็กเล็ก เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ของคนงานที่ทำงานในย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ปีละประมาณ 900 คน ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีพระอุโบสถหลังใหญ่ สวยงาม ชั้นใต้ดินเป็นพิพิธภัณฑ์ของสะสมของหลวงปู่

ศูนย์เด็กเล็ก

ศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในความดูแลของหลวงปู่ยังมีที่สวางคนิวาส สมุทรปราการ ซึ่งรับลูกๆ คนงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ย่านสมุทรปราการ มาเลี้ยงดูไม่น้อยกว่า 500-600 คนต่อปี

ท่านมีค่าใช้จ่ายเพื่อเด็กๆ ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ส่วนหนึ่งได้รับการอุดหนุนจากกระทรวงแรงงาน ที่เหลือหลวงปู่ได้มาจากศรัทธาของประชาชน เช่นเดียวกับการสร้างวัดใหญ่ๆ ทั้งสองแห่ง หลวงปู่ใช้ปัจจัยที่ประชาชนที่ศรัทธาถวายทั้งสิ้น จึงไม่รู้ว่าแต่ละวัดใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปเท่าไร ตัวอย่างคือ วัดเทพรัตนาราม ได้สร้างมาเรื่อยๆ มีปัจจัยก็ทำไป หรือไม่มีก็ทำ ปัจจัยมาทีหลัง เช่น งานปิดทองพระประธานในอุโบสถวันที่ 11 ม.ค. 2555 หลวงปู่บอกว่าไม่มีทุน แต่หลังจากจัดงานไม่กี่ชั่วโมง คณะศิษย์และผู้ศรัทธาถวายปัจจัยช่วยงานปิดทองหลายแสนบาท งานจึงสำเร็จด้วยดี

สร้างวัดถวายในหลวง

กล่าวถึงวัดเทพรัตนาราม ที่หลวงปู่ชักชวนไปปิดทองพระประธานนั้น เป็นวัดสร้างใหม่เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539 บนที่ดิน 6 ไร่ ที่นายขวัญจัย เพชรดี ถวาย ต่อมาเช่าที่ดินจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 42 ไร่ ที่อยู่ใกล้กับวัด เพื่อใช้เป็นแปลงสาธิตการปลูกมะนาวในรองคอนกรีตเพื่อควบคุมน้ำและบังคับให้ออกลูกในฤดูแล้ง ช่วงที่มะนาวมีราคาสูง และหายาก ถ้าเกษตรกรหรือประชาชนนำวิธีการนี้ไปปลูก จะเป็นการเพิ่มรายได้อย่างเหลือเชื่อทีเดียว

สำหรับตัวอุโบสถนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงหลังคาเป็นเหล็กมุงกระเบื้อง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ผนังด้านนอกประดับด้วยหินแกรนิต เป็นอาคาร 2 ชั้น รวมทั้งชั้นใต้ดิน ฐานแอ่นโค้งท้องเรือสำเภาแบบโบราณ โฆษกในวัดประกาศว่ามาทำบุญวัดนี้อาจร่ำรวยเป็นเจ้าสัวในอนาคต เพราะเรือสำเภาเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าสัว

พระธรรมวราจารย์(หลวงปู่แบน) ปูชนียเถระ หัวใจมีแต่งาน

อนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย

วันที่มีพิธีปิดทองพระประธานวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธาน และนายหัวจากภาคใต้หลายคนมาร่วมพิธี หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าการตกแต่งภายในอุโบสถนั้น ท่านต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ จึงใช้ไม้สักเป็นหลัก ตั้งแต่พื้นถึงภาพแกะสลักเรื่องพระมหาชนกที่ติดฝาผนังด้านใน ดาวเพดาน และชุกชีพระประธาน

ไม้ปูพื้นอุโบสถแปลกกว่าที่อื่นๆ ในประเทศไทย เพราะท่านใช้แว่นไม้สักเท่าๆ กันเรียงติดๆ กันปูเป็นพื้นตลอดทั้งอุโบสถ ความเด่นของแว่นไม้สัก นอกจากไม่เหมือนใครแล้วจะเห็นวงปีของไม้สักว่ามีอายุกี่ปีปรากฏทุกชิ้นอีกด้วย

ชุกชีหรือฐานรองรับพระประธานท่านให้ช่างเจียจากไม้สักชิ้นหนาและใหญ่จึงรับรองว่าวสวยงามกว่าที่วัดอื่น ท่านชี้ให้ดูเพดานบอกว่าประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปธรรมจักร และลายดอกพุดตาน 51 ชิ้น ฝีมือช่างมัณฑเลย์ประเทศพม่า

ฝาผนังอุโบสถ เหนือช่องหน้าต่าง ตามปกติในอุโบสถวัดอื่นๆ จะเป็นเทพชุมนุม แต่หลวงปู่ให้ช่างจากแม่สอด จ.ตาก แกะสลักเรื่องพระมหาชนกตามแนวพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอามาติดตั้งไว้ ดังนั้นวัดนี้จึงเด่นไม่ว่าจะมองข้างนอก หรือเข้ามาข้างใน

ประวัติปูชนียบุคคล

พระธรรมวราจารย์ หรือหลวงปู่แบน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 161718 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง และยังทำงานพัฒนาและสงเคราะห์ประชาชนตลอดเวลาแม้ว่าจะอายุ 84 ปีแล้วก็ตาม

ท่านมีนามเดิมว่า แบน นามสกุล อุปกลิ่น เกิด ณ บ้านเกาะจาก ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2471

วันที่ 3 ก.ค. 2491 อายุ 20 ปี บวชพระที่วัดเกาะจาก ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมสอบได้นักธรรมชั้นตรี แต่มีความคิดว่าจะไปศึกษาต่อกรุงเทพฯ เลือกเอาวัดบวรนิเวศวิหารเป็นสำนักที่อยู่ที่เรียน แม้ว่าอาจารย์จะบอกว่าเข้ายาก ระเบียบมาก แต่ท่านไม่ท้อ ท่านเตรียมพร้อมเพื่อรับกฎและระเบียบของวัด เช่น ท่องจำปาติโมกข์ได้หมดภายใน 1 เดือน และสวดมนต์อีกหลายสิบสูตร

พระธรรมวราจารย์(หลวงปู่แบน) ปูชนียเถระ หัวใจมีแต่งาน

พ.ศ. 2492 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทางเรือ ใช้เวลา 7 วัน 7 คืน เมื่อมาถึง เข้าไปกราบพระมหาจับ อุคฺคเสโน ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านให้พักด้วย ช่วงที่พักแบบอาคันตุกะที่วัดบวรฯ มีเรื่องประทับใจที่ได้เข้าไปสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวังในงานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 เมื่อเห็นพระบรมมหาราชวังรู้สึกงงงวย ทึ่งในความงาม ที่นึกไม่ถึง

แต่ท่านไม่ได้อยู่วัดบวรฯ เพราะทางวัดไม่รับพระเข้ามาอยู่ใหม่ พระมหาจับ (พระธรรมรัชมงคล) จึงพาไปฝากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี พอออกพรรษา วันที่ 22 ม.ค. 2493 ก็เดินทางมาอีก สอบผ่านทุกขั้นตอน จึงเป็นพระวัดบวรฯ ใน พ.ศ.นั้น นับถึงวันนี้ท่านอยู่วัดบวรฯ เป็นลำดับที่ 2 รองจาก พระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญญาคโม)

เมื่อสังกัดวัดบวรฯ สมปรารถนา ได้สมัครเข้าเรียนภาษาบาลี และนักธรรมจนสอบนักธรรมชั้นเอกได้ มุ่งแต่เรียนไม่ได้ข่าวทางบ้าน แม้โยมพ่อตายก็มาทราบภายหลัง จากนั้นไปบำเพ็ญกุศลให้โยมพ่อที่นครศรีธรรมราช แล้วปฏิญญาในใจว่า “หากไม่ได้เป็นมหา จะไม่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีก” แต่ปีนั้นก็สอบตก จึงมุมานะแปลธรรมบท (หลักสูตร ป.ธ. 3) 8 เล่ม 8 ภาค 8 วัน ได้ 1 จบ (แปลวันละเล่ม) การแปลครั้งนั้นขึ้นชื่อลือนามเพราะแปลเสียงดัง เบ็ดเสร็จแปลได้ถึง 12 จบ เป็นสถิติสูงสุดและสอบได้เป็นมหาสมใจนึก แต่สอบได้ชั้นสูงสุดเพียง ป.ธ. 5 จากนั้นหันไปเรียนที่สภาการศึกษามหามกุฏฯ จบแล้วทำงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509-2541 อายุ 72 ปี จึงเกษียณ

ท่านมีความรู้หลากหลายประเภทครูพักลักจำ และใจรัก เช่น งานศิลปะ งานออกแบบ มีฝีไม้ลายมือเขียนตัวอาลักษณ์โด่งดังได้รับความไว้วางใจให้เขียนพระนามพระราชวงศ์ชั้นสูงจารึกในพระสุพรรณบัฏมาแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงปริญญาบัตร และบัตรอื่นๆ ที่ต้องการความประณีต มีให้เขียนมากนับไม่ถ้วน

นอกจากนั้นยังเป็นผู้คำนวณการย้ายราศีของดวงดาวให้แก่ พระพรหมมุนี (ผิน) ผู้เป็นโหราจารย์ขึ้นชื่อในสมัยนั้น แต่ใจไม่รักด้านนี้ จึงไม่มีความรู้เรื่องโหราศาสตร์

งานอดิเรกชอบเขียนหนังสือ สะสมของมีค่า และวัตถุโบราณ จึงมีของสะสมนับพันชิ้นจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชั้นใต้ดินของอุโบสถวัดสิรินธรรัตนารามในขณะนี้

ที่ว่ามานี้เป็นส่วนหนึ่งของพระเถระ ที่ทำงานเพื่อประชาชนและพระศาสนา แม้จะมีวัย 84 ปีแต่อายุไม่เป็นอุปสรรค ยังทำงานไม่ยอมหยุด สมกับเป็นพระเถระที่เป็นปูชนียบุคคลจริงๆ