posttoday

ภาษีที่ต้องรู้หากทำธุรกิจขายเสื้อผ้า SME

02 ตุลาคม 2567

ธุรกิจขายเสื้อผ้า SME จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเพื่อสร้าง แบรนด์ให้โดดเด่น การจัดการภาษีธุรกิจขายเสื้อผ้าให้ถูกต้องช่วยให้สามารถจัดการค่าใช้จ่ายและวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ธุรกิจขายเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เทรนด์แฟชั่นต่างๆ แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว เติบโตได้ง่ายมีการตลาดที่กว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรวมถึงเริ่มต้นธุรกิจได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

          ดังนั้นหากคุณกำลังพิจารณาเริ่มธุรกิจขายเสื้อผ้า SME จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเพื่อสร้าง แบรนด์ให้โดดเด่นและประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการขายเสื้อผ้า SME จำเป็นต้องเรียนรู้ข้อมูลอะไรบ้าง ลองมาพิจารณาไปที่ละประเด็นดังต่อไปนี้

ควรเริ่มต้นธุรกิจขายเสื้อผ้า SME อย่างไร

          1. กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น การรู้จักกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกสรรสินค้าและการตลาดที่เหมาะสมได้

          2. ผู้ประกอบการต้องตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะจัดหาสินค้าในรูปแบบไหน จะผลิตเสื้อผ้าเองหรือนำเข้าจากที่อื่น ซึ่งควรเลือกแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้และมีคุณภาพดี รวมถึงการเจรจาเงื่อนไขการชำระเงินและการจัดส่งที่เหมาะสมคุ้มค่าที่สุด

          3. เปิดช่องทางการขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazada หรือสร้างเว็บไซต์ของตัวเองและออฟไลน์ เป็นการเปิดหน้าร้าน หรือเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อขายสินค้า

          4. การตลาดและโปรโมชั่น ควรใช้โซเชียลมีเดียในการโปรโมตสินค้า เช่น Facebook Instagram TikTok รวมถึงการใช้ผู้มีอิทธิพล (Influencers) เพื่อเพิ่มการมองเห็น รวมถึงการจัดโปรโมชันหรือกิจกรรมพิเศษ เช่น ลดราคาพิเศษในช่วงเทศกาล

          5. การบริการลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถให้บริการที่ดีและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าได้ จะสามารถรักษาลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น  

          6. การจัดการสต็อกและการเงินให้มีประสิทธิภาพจะช่วยลดการสูญเสียจากสินค้าค้างสต็อกหรือสินค้าที่ไม่สามารถขายได้ และวางแผนการเงินอย่างรอบคอบทั้งในส่วนของรายได้ รายจ่าย และกำไร

การจัดการภาษีสำหรับธุรกิจขายเสื้อผ้า SME

          ภาษีเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการขายเสื้อผ้าควรให้ความสนใจ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประเภทภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายเสื้อผ้า SME สามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้า จะมีหลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

          2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าธุรกิจทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ

          นอกจากนี้สำหรับ SME ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราภาษีจะเป็นดังนี้

     - กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ไม่เสียภาษี ได้รับการยกเว้น

     - กำไรสุทธิมากกว่า 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15%

     - กำไรสุทธิมากกว่า 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราสูงสุด 20%

          3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถ้ารายได้ของธุรกิจต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท คุณต้องจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของรายได้ และหากมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท คุณสามารถเลือกไม่ต้องจดทะเบียน VAT ได้ แต่หากเลือกจดทะเบียนก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการยื่นและชำระภาษีตามกำหนดเวลา

          4. ในกรณีผู้ประกอบการเปิดร้านขายเสื้อผ้าและมีหน้าร้าน จะต้องมีชื่อร้านซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับภาษีป้าย ซึ่งเงื่อนไขการเสียภาษีป้ายสามารถอธิบายได้ดังนี้

          4.1 ป้ายที่มีตัวอักษรไทยล้วน มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตารางเซนติเมตร ส่วนป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 4.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

          4.2 ป้ายที่มีตัวอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นใด อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ส่วนป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 4.2 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

          4.3 ป้ายที่ไม่มีตัวอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

การยื่นแบบภาษีสำหรับธุรกิจขายเสื้อผ้า SME

          1. ผู้ประกอบการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ประจำปี และภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี รอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน (ภ.ง.ด. 51)

          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน แม้เดือนนั้นๆ จะไม่มีรายรับก็ตาม

          3. การยื่นชำระภาษีป้ายต้องทำภายในเดือนมีนาคมของทุกปี หากไม่ชำระตามกำหนดจะมีค่าปรับและเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด

          4. ผู้ประกอบการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา จัดอยู่มาตรา 40(8) จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ของปีภาษี สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป

          5. ผู้ประกอบการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา จัดอยู่มาตรา 40(8) จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่มีเงินได้

          กล่าวโดยสรุป การจัดการภาษีธุรกิจขายเสื้อผ้าให้ถูกต้องไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจของคุณปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยังช่วยให้สามารถจัดการค่าใช้จ่ายและวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเฉพาะกรณี สามารถติดต่อบริษัทบัญชีคุณภาพหรือกรมสรรพากรเพื่อขอคำแนะนำเฉพาะทางได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting