posttoday

รายละเอียดหลักการบริหารธุรกิจ SME ในมุมของภาษี

17 กรกฎาคม 2567

มุมมองของผู้ประกอบการ SME ในแง่ของภาษี มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายจึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย บางครั้งผู้ประกอบการคิดว่าต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีภาษีเข้ามาดูแล ดังนั้นหลักการบริหารธุรกิจ SME ในการจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมีดังนี้

          เชื่อว่าในมุมมองของผู้ประกอบการ SME ในแง่ของภาษีนั้น อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีความซับซ้อน และมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายจึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการบริหารธุรกิจนั้นไม่ง่ายจนบางครั้งผู้ประกอบการคิดว่าต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีภาษีเข้ามาดูแลดีหรือไม่

          ดังนั้นวันนี้จะมานำเสนอหลักการบริหารธุรกิจ SME ในการจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกัน ลองมาติดตามรายละเอียดกันได้ดังต่อไปนี้  

ทำไมต้องบริหารภาษีให้ดีในธุรกิจ SME

          การทำธุรกิจ SME ควรมีการบริหารภาษีภายในที่ดี โดยการบริหารภาษีควรมีข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติไว้ล่วงหน้าหรือการเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และประหยัด ทั้งนี้การทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดโดยใช้วิธีการที่ไม่ผิดกฎหมายก็ถือว่าเป็นการบริหารธุรกิจ SME ในมุมภาษีด้วย

          นอกจากนี้ธุรกิจ SME ที่มีการบริหารภาษีดีจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายทางภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ช่วยลดข้อผิดพลาดทางด้านภาษีและเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลและหลักฐานทางภาษี รวมทั้งช่วยในการลดต้นทุนการดำเนินงานได้ดี

          ดังนั้นเมื่อธุรกิจ SME สามารถบริหารภาษีให้มีประสิทธิภาพได้แล้ว ย่อมส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และมีความสามารถในการบริหารการทำงานทางด้านการเงินให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ธุรกิจได้คาดหวังไว้อีกด้วย

เรียนรู้ทำความเข้าใจว่าธุรกิจ SME ที่ทำอยู่ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

          ต้นทุนทางภาษีของผู้ประกอบการ SME มีมูลค่าที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายบริหาร โดยผู้บริหารจะบริหารจัดการ และให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนทางภาษี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ธุรกิจนั้นๆประสบอยู่ในปัจจุบัน โดยตามหลักการแล้วการทำธุรกิจจะต้องแยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีธุรกิจ ซึ่งการเสียภาษีของบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลนั้นใช้ฐานภาษีที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการใช้จ่ายเงินส่วนตัว กับรายได้จากธุรกิจควรแยกบัญชีออกจากกันให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แยกบัญชีผู้ประกอบการธุรกิจ SME จะไม่รู้ว่าทำธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนกันแน่

          นอกจากนี้ในมุมของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องเสียภาษี จะต้องเสียภาษีอะไรกันบ้างลองพิจารณาตามดังนี้

          1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ประกอบธุรกิจ SME ด้วยการให้บริการ การผลิต การค้าปลีกค้าส่ง และการให้บริการ ต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อหักภาษีตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสามารถหักแบบเหมาจ่าย หรือขอหักตามความจำเป็นตามสมควรได้

          2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้ภาครัฐ เก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20% ของกำไรสุทธิ

          3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เก็บจากการบริโภคของประชาชนที่ภาระภาษีต้องตกไปยังผู้บริโภค โดยจัดเก็บผ่านผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ขายสินค้าหรือให้บริการไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

          4.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ที่มีการเรียกเก็บตามกฎหมายไทย ซึ่งจะมีการเรียกเก็บจากกิจการที่ถูกกำหนดไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งจะแยกออกมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะธุรกิจเฉพาะนั้นหามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือบริการได้ยาก จึงไม่สามารถใช้ Vat 7% ได้ แต่จะประเมินจากกิจกรรมที่ต้องเสียภาษี

          5.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME รูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการนิติบุคคลผู้ทำการจ่ายเงินต้องหักไว้เมื่อมีการซื้อหรือจ่ายค่าบริการ โดยจะแตกต่างออกไปตามรูปแบบและอัตราที่สรรพากรกำหนด ซึ่งต้องนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน

          ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระการเสียภาษีของผู้มีรายได้ ที่จะต้องนำส่งในอัตราที่สูงเมื่อถึงเวลายื่นภาษี และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ หากรายได้รวมทั้งปีไม่ถึงตามเกณฑ์สามารถยื่นเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อขอเงินภาษีส่วนนี้คืนจากกรมสรรพากรได้

          6.อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบของดวงแสตมป์จากสรรพากรมาแปะติดเอาไว้ในสัญญาหรือตราสารต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ตราสารนั้นจำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์จำนวนมาก ผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้วิธีเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์แบบปกติได้ โดยให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขาใกล้บ้าน พร้อมยื่นแบบคำขอ อ.ส.4 เพื่อชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

          กล่าวโดยสรุป ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีโครงสร้างธุรกิจใหญ่ๆ ควรมีนักบัญชีภาษีมาช่วยคอยดูแลในเรื่องการเงิน รวมถึงการวางระบบภาษีให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียค่าปรับทางภาษี และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่ามากที่สุดอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting