posttoday

สมุนไพรไทยกับโอกาสดึงเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล

25 พฤษภาคม 2567

นับตั้งแต่ยุคที่พวกเรายังไม่มี Social media ผู้คนส่งต่อข้อมูลต่างๆผ่าน Forward mail เราก็จะพบว่ามีจดหมายส่งต่อเกี่ยวกับ “สมุนไพร เป็นอันตรายต่อไตหรือเปล่า” เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และติดค้างอยู่ในใจเรื่อยมา

     ข้อมูลที่ส่งต่อเกี่ยวกับสมุนไพรเหล่านั้นได้วิวัฒนาการตามยุคสมัย ยังคงถูกส่งต่อเรื่อยมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเป็นข้อมูล และรูปแบบคลิปวีดีโอที่มีเภสัชกรออกมาให้ข้อมูลเพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อถือของทฤษฎีเหล่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ครับหากผู้ที่อยู่ในแวดวงสมุนไพรจริงๆ ก็จะเห็นว่าบ่อยครั้งที่มีข่าวออกมาโจมตีสมุนไพรไทย ก็จะมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือได้ เช่น กรมการแพทย์แผนไทย ออกมาให้ข้อมูลคัดค้านว่าไม่เป็นความจริง แต่เป็นที่น่าเสียดายครับว่าชาวเน็ตบ้านเรา ชอบเสพประเด็นดราม่า มากกว่าข้อเท็จจริง

     ดังนั้น จึงยังมีผู้คนที่ปักใจเชื่อว่าสมุนไพรเป็นผู้ร้ายต่อไต เรื่องนี้ผมในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม

     ขอตั้งคำถามกลับบ้างว่า เครื่องเทศ หรือ พืชผัก ที่ใช้ประกอบอาหาร กับพืชที่นำมาสกัดทำยาสมุนไพร คือตัวเดียวกัน แล้วการที่เรารับประทานอาหารไทยทุกวันมันจะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ คำตอบคือไม่อันตรายถ้ารู้จักรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม บรรพบุรุษของเรากินสมุนไพรผ่านมื้ออาหารเป็นเวลาช้านาน และหลายประเทศในโซนเอเชียก็มีวัฒนธรรมการกินที่คล้ายไทย

     อย่างไรก็ตามครับ เรื่องการรับประทานยาเกินปริมาณที่เหมาะสมจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยานั้น เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบันก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นกันครับ แม้แต่ยาพาราเซตามอล ยาสามัญประจำบ้านที่พวกเราคุ้นเคยกันอย่างดี ก็มีข้อบ่งใช้ ห้ามรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด

      ดังนั้นการที่ผู้ไม่หวังดีหยิบประเด็นนี้มาโจมตีอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

     และในจุดที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้สมุนไพรเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้แข่งขันกับเบอร์ใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้นั้น ก็จะได้รับความเสียหายจากกรณีเช่นนี้ กรณีนี้ประเทศไทยควรร่วมกันสร้างความเข้าใจอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะหากผู้คนไม่เชื่อถือสมุนไพร เกษตรกรผู้ปลูก โรงงานผลิตยาสมุนไพร แรงงานต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 

     ทีนี้เรามาดูกันครับว่า ข้อเท็จจริงสมุนไพรไทยควรกินมากแค่ไหนที่จะไม่เกิดอันตรายที่เกิดขึ้นกับตับไต ผมสรุปมาให้ดังนี้ครับ

     1. ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ควรกินนานเกินไปโดยไม่มีการเว้นวรรคและไม่กินมากเกินไป เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สมุนไพร, เครื่องเทศ หรือพืชผัก อะไรที่กินติดต่อกันและกินในปริมาณมากๆ ก็เป็นอันตรายทั้งนั้น 

     2. กรรมวิธีในการผลิตก็มีส่วนสำคัญมาก ที่จะให้ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย โดยความสะอาดทั้ง 4 คือ คน(ผู้ผลิต), สถานที่, เครื่องมืออุปกรณ์ และวัตถุดิบ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งสกปรก ผลิตภัณฑ์ก็อาจจะติดเชื้อโดยที่ผู้บริโภคและผู้ขายไม่รับทราบ ทั้งๆที่ตัวสมุนไพรปลอดภัย แต่กรรมวิธีการผลิตไม่สะอาด เลยไม่ปลอดภัย 

     ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพติดอันดับโลก และมีภูมิปัญญาในการใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศมาทำอาหาร ซึ่งช่วยบำรุงร่างกายในแต่อย่าง แต่ละตำรับอาหาร ในแต่ละภาค โดยเราจะกินอาหารเป็นยา ไม่ใช่กินยาเป็นอาหาร และประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่อง street food ดังนั้น soft power สมุนไพร ควรเริ่มที่อาหารและเครื่องเทศ จากนั้นก็นำมาทำเป็นเครื่องสำอาง เช่น กระแจะ (เครื่องสำอางตำรับโบราณ), ยาสีฟันสมุนไพร, ยาสระผมสมุนไพร, สบู่ล้างหน้าและล้างผิวกาย, ครีมทาผิวหน้าและผิวกาย, ยาหม่องและยาดม(ที่นิยมเป็นของฝาก), ยาหม่องและน้ำมันหอม(ที่นิยมใช้ในการนวด โดยการนวดไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของคนต่างชาติ) และหากสมุนไพรไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น สมุนไพรจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี ก็จะช่วยสร้างเม็ดมหาศาลเข้าประเทศ รวมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรให้คึกคักได้ครับ

 

โดย : สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
         บริษัท โรงงานเภสัช อุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP