posttoday

5 เหตุผลที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace

22 เมษายน 2567

ณัฐธิดา สงวนสิน กาง 5 เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace หรือ ตลาดออนไลน์ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งที่มีโมเดล B2C หรือ Business-to-Consumer มุ่งเน้นไปที่การสร้างแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ หรือ Marketplace ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลหลายอย่าง มาดูกันค่ะว่าเพราะอะไร
 
1. มีข้อได้เปรียบจาก Customer-First Data แพลตฟอร์มตลาดช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงลูกค้าซึ่งแพลตฟอร์มเป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมากได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการมากขึ้นด้วย ตัวอย่างจาก Grab ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นแอปเรียกแท็กซี่ในสิงคโปร์และขยายไปยังการให้บริการในหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย จากนั้นก็เติบโตเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การส่งอาหาร (GrabFood) และแม้กระทั่งการให้บริการกระเป๋าเดินทาง (GrabExpress) และการให้บริการทางการเงินผ่าน GrabPay จะเห็นว่าเมื่อเป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก ก็สามารถสร้างโมเดลทางธุรกิจที่หลากหลาย และเพิ่มรายได้ในภายหลังได้อย่างไม่ยากเย็น

5 เหตุผลที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace

2. การสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดให้กับคู่แข่งรายใหม่ ตลาดออนไลน์สร้างอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดได้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีผู้ใช้งานมาก กลายเป็นที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น สำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งรวมไปถึงมีความหลากหลายของสินค้า เนื่องจากไม่มีสินค้าคงคลังของตัวเอง และยังมีข้อได้เปรียบจาก Economy of scale ที่ช่วยให้สามารถให้บริการได้ในราคาต่ำกว่า ซึ่งทำให้ยากต่อการเจาะตลาดจากคู่แข่งใหม่ ทำให้เป็นกำแพงป้องกันที่แข็งแกร่งต่อการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ในตลาด

ยกตัวอย่างเช่น Airbnb เมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรมแบบดั้งเดิม Airbnb นั้นไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการสถานที่พักหรือบริหารจัดการพนักงาน เพราะทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าบ้านที่เข้าร่วมในระบบ Airbnb ซึ่งสร้างความแตกต่างจากโรงแรมที่ต้องลงทุนมากมายในด้านการบริการและการบำรุงรักษา โดย Airbnb สามารถเน้นไปที่การเข้าถึงผู้เข้าพักกับที่พัก ที่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์ของตัวเอง

5 เหตุผลที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace

 

Airbnb ไม่ใช่แค่สร้างความแตกต่างด้วยที่พักที่มีความหลากหลายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร เช่น การได้อยู่ในบ้านต้นไม้ หรือบ้านชายหาดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงแรมแบบดั้งเดิมไม่สามารถให้ได้ เมื่อ Airbnb เข้ามาในตลาด พวกเขาไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงวิธีการ "พัก" แต่ยังเปลี่ยนวิธีที่เรา "สัมผัส" กับจุดหมายปลายทางของเราด้วย

ส่วนการประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่มีสินค้าคงคลังก็ทำให้ Airbnb สามารถเสนอราคาที่ค่อนข้างต่ำได้ เมื่อเทียบกับโรงแรมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา นั่นหมายความว่า Airbnb สามารถมีความยืดหยุ่นในการตั้งราคาและเสนอสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการได้มากกว่า

3. ความสามารถในการขยายตลาด สตาร์ทอัพที่ใช้โมเดล Marketplace สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมากในการสร้างสินค้าหรือบริการใหม่

เมื่อพูดถึงการขยายธุรกิจ ลองมาดูที่ Lazada หรือ Shopee  เมื่อเทียบกับเว็บไซต์แบรนด์ที่มีสินค้าคงคลัง Lazada หรือ Shopee  คือตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าหลากหลายแบรนด์มาไว้ในที่เดียว ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายและสะดวก แตกต่างจากเว็บไซต์แบรนด์เฉพาะที่มีสินค้าคงคลังของตัวเอง ซึ่งต้องลงทุนมากขึ้นในการจัดการสินค้าและคลังสินค้า ด้วยโมเดลของ Lazada ทำให้พวกเขาสามารถขยายตลาดและรองรับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเผชิญกับภาระของสินค้าคงคลัง
 
อีกตัวอย่างคือ BUZZEBEES Marketplace ซึ่งเป็น Privilege Marketplace ที่อนุญาตให้เพิ่มและปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มนี้รองรับหลากหลายหมวดหมู่สินค้าตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวและการรับประทานอาหาร พร้อมทั้งมีระบบที่สามารถปรับแต่งดีลตามข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือแบรนด์ที่เข้าร่วมได้เห็นการเพิ่มขึ้นของระดับการมีส่วนร่วมของลูกค้าและปริมาณการขาย ส่วนลูกค้าเองก็ได้รับประสบการณ์ของ Loyalty Program ที่ดีขึ้นด้วยดีลที่หลากหลายกว่าวิธีดั่งเดิม ที่แบรนด์ต้องไปจัดหา Privilege ที่ละรายการด้วยตนเอง

5 เหตุผลที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace

4. การเก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม สตาร์ทอัพสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าได้มากมาย เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจและสร้างการตลาดที่เป็นเป้าหมายได้ดีขึ้น

TikTok ไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์วิดีโอสั้น ๆ แต่ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยการใช้งานลักษณะของการเป็น "Social Commerce" ที่เรียกว่า "TikTok Shop" ตัวอย่างเคสสำคัญของการใช้ข้อมูลจากการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มคือการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้และการซื้อของพวกเขา เพื่อสร้างการตลาดที่เป็นเป้าหมายและแนะนำสินค้าที่เหมาะสมกับพวกเขาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

5 เหตุผลที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยึดโมเดล B2C หันมาสร้างแพลตฟอร์ม Marketplace

TikTok ใช้ข้อมูลจากการดูวิดีโอและการโต้ตอบของผู้ใช้เพื่อเสนอโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการซื้อขายในแพลตฟอร์ม TikTok Shop ทำให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น และการเพิ่ม Conversion Rates ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อและประวัติการดู รวมทั้งการวิเคราะห์คำที่ใช้ในการค้นหา ทำให้ TikTok สามารถแนะนำสินค้าที่มีโอกาสการขายได้มากกว่า โดยการแสดงสินค้าเหล่านั้นในหน้า Feed ของผู้ใช้ที่มีความสนใจที่ตรงกัน ในที่สุด TikTok สามารถสร้างแคมเปญโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะสามารถเจาะจงไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อแคมเปญนั้น ๆ ได้โดยตรง
 
5. ความยีดหยุ่นในการเปลี่ยนสินค้าและบริการ ตลาดออนไลน์มีความยืดหยุ่นสูงในการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพียงแค่ปรับปรุงหรือเพิ่มข้อมูลบนแพลตฟอร์ม ไม่ต้องลงทุนในการผลิตหรือซื้อสินค้าคงคลัง เช่น จากการให้บริการเช่าที่พัก Airbnb ก็สามารถขยายไปยังการเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยว หรือ Grab ที่เริ่มจากบริการเรียกรถแล้วขยายไปถึงการส่งอาหารและบริการจัดส่งพัสดุ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งกำลังหันมาใช้แพลตฟอร์ม Marketplace เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและการขยายตัวของตนเองในโลกออนไลน์ นวัตกรรมและความยืดหยุ่นในการให้บริการของพวกเขาไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับลูกค้า ส่งผลให้ฐานลูกค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้กลายเป็นผู้นำตลาดที่ไม่สามารถมองข้ามได้

โดย : ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (Buzzebees) และ Guru ด้าน CRM & Digital Engagement Platform