posttoday

ขยายเวลาบริจาคกับ กสศ. ออกไปอีก 5 ปี และใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า

21 กุมภาพันธ์ 2567

การบริจาคเป็นหนึ่งในการช่วยค่าลดหย่อนได้ กรมสรรพากรเปิดเผยว่า ทาง ครม. ได้อนุมัติร่างกฎหมายให้ขยายระยะเวลาการบริจาคให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกไปอีก 5 ปี และใช้ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 2 เท่า

          การบริจาคเป็นหนึ่งในการช่วยค่าลดหย่อนได้ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทหรือผู้มีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา ช่วงนี้ต่างต้องมาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีกันแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจหรือผู้มีเงินได้สามารถนำรายจ่ายในส่วนของการบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มจากปกติได้อีกด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเสียภาษี

          ซึ่งล่าสุดกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ทาง ครม. ได้อนุมัติร่างกฎหมายให้ขยายระยะเวลาการบริจาคให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกไปอีก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – วันที่ 31 ธันวาคม 2571 โดยเงินบริจาคที่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคไปนั้น ถือว่าเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้สูงสุดถึง 2 เท่า สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสรรพากร (e-Donation) แต่จะมีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อะไรบ้างลองตามมาเช็กรายละเอียดได้ดังนี้

เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การบริจาคให้กับ กสศ.  

          นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 
(กสศ.) เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาของเด็กไทย สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายหรือค่าลดหย่อนได้สูงสุดถึง 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ทางการศึกษา โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

          1.นิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
          1.1 บริจาคในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ได้แก่ สถานศึกษาตามโครงการพระราชดำริสถานศึกษาตามนโยบายที่จะระดมพลังเพื่อเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพ และสถานศึกษาที่รองรับพัฒนาเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ
          1.2 บริจาคให้แก่ สถานศึกษาตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด
          1.3 บริจาคเพื่อการจัดหา หรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดินหรือที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางศึกษา
          1.4 บริจาคเพื่อการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (กรณีบริจาคเป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์จะต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน)
          1.5 ต้องมีหลักฐานจากสถานศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปนั้น เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ (มีใบเสร็จของสถานศึกษา)
นอกจากนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อใช้สิทธิตามมาตรานี้แล้ว จะต้องไม่นำเงินบริจาคดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษาอีก

          ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ จะต้องไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

          2.กรณีนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬาของทางราชการหรือของเอกชนที่เปิดให้บริการเป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ
          รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการนี้ เมื่อไปรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของ กำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา โดยหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไป

          3.กรณีบุคคลธรรมดา สามารถหักค่าลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว

          นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกรณีการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยจะต้องไม่นำต้นทุน ของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี

          กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าการบริจาคของบุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังถือว่าการบริจาคทุกๆ ครั้ง เป็นการทำบุญช่วยให้มีความสุขทางด้านจิตใจ มีแรงใจในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่ แถมมีเงินเหลือจากการเสียภาษีน้อยลงอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting