posttoday

ประเทศไทยพร้อมกับการลงทุนสีเขียว (Green Investment) แล้วหรือยัง?

17 กุมภาพันธ์ 2567

นักวิชาการ ชี้ทั่วโลกต้องใช้เวลา และงบลงทุนสูงกว่า 9,625 ล้านล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าประสงค์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ พร้อมแนะรัฐบาลไทยกำหนดแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว พร้อมปรับปรุงกม.ให้ทันยุคที่เปลี่ยนแปลงไป

จากสภาวะฝุ่นพิษที่ผ่านมาในประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองหลวงของเราที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ  ไม่ว่าจะเป็นจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ควันเสียจากการจราจรและกระบวนการผลิตในโรงงาน รวมไปถึงการทำอาหารของภาคครัวเรือนและธุรกิจ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดควันจากการเผาพื้นที่เกษตรของประเทศเพื่อนบ้านก็เข้ามาสมทบอีก เหล่านี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องการลงทุนสีเขียวหรือ Green Investment เนื่องด้วยประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งคำ ๆ นี้มีที่มาจากแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่ภาคธุรกิจและภาคการเงินจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมมาภิบาลก่อนการตัดสินใจลงทุนในด้านต่าง ๆ  

 

Green Investment คือการลงทุนหรือความช่วยเหลือทางการเงินในโครงการต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงน้อยนิด โดยเป้าประสงค์หลักของการลงทุนสีเขียวนั้นจะเป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง และที่ขาดไม่ได้เช่นกันก็คือธุรกิจนั้น ๆ ยังจะต้องทำกำไรให้กับนักลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงแนวคิดทางด้านการลงทุนสีเขียวนี้เกิดขึ้นมาได้นับสิบปีแล้ว อันเป็นผลพวงมาจากการให้ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลกในประเด็นของความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง โดยสนธิสัญญาและแนวคิดที่สำคัญที่ถูกนำไปปรับใช้ทั่วโลกจะมีที่เห็นเด่นชัดอยู่ 2 รูปแบบคือ 1) ข้อตกลงปารีสหรือ The Paris Agreement และ 2) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 

 

สำหรับข้อตกลงปารีสนั้นจะเป็นข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะเป็นการวางแนวปฏิบัติให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติตามและส่งรายงานผลความคืบหน้าในทุก ๆ 5 ปี และในประเด็นของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ รวมทั้งหมด 17 ข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขจัดความยากจน การลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม รวมไปถึงการหยุดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศภายในปี 2030 ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว SDGs ไม่ใช่สัญญาผูกมัดแต่จะเป็นเพียงแค่การเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างที่ได้กล่าวไป 


    การเริ่มต้นของความต้องการทางด้านการลงทุนสีเขียวทั่วโลกนั้นได้เกิดมาจากการเพิ่มขึ้นของการให้ความสำคัญผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากกระบวนการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มากไปกว่านั้นภาคธุรกิจและภาครัฐเองเริ่มที่จะมองเห็นศักยภาพของการดำเนินธุรกิจผ่านโมเดลการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ไม่เพียงแค่จะสามารถปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ดีขึ้น แต่โมเดลธุรกิจดังกล่าวยังสามารถเพิ่มยอดขายและกำไรได้เช่นเดียวกันซึ่งไม่ต่างจากโมเดลธุรกิจอื่น ๆ และอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไปในการเติบโตระยะยาวขององค์กร หากเรามองถึงประเภทของธุรกิจที่ได้นำแนวคิดของการลงทุนสีเขียวมาใช้จะมีอยู่มากมายหลายธุรกิจ ผู้เขียนจึงขออนุญาตยกตัวอย่างประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาดังนี้ 


    1. พลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เป็นต้น   

 
    2. เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการอนุรักษ์พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสีเขียว (green building) ที่จะใส่ใจกระบวนการก่อสร้างให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและใช้พลังงานภายในอาคารให้น้อยที่สุด ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid technologies) และระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Energy storage solutions) 
  

   3. การขนส่งแบบยั่งยืน จะเป็นการลงทุนในการขนส่งและยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ หรือพาหนะอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม
    

   4. การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและการดูแลป่า ทางด้านการเกษตรนั้นจะเน้นไปที่การทำเกษตรอินทรีย์ (organic farming) ลดการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชที่มาจากสารเคมี การทำวนเกษตร (agroforestry) แนวคิดนี้เป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ของโลกแต่วนเกษตรได้มีมานานแล้วในประเทศไทย วนเกษตรจะพูดถึงการจัดการทรัพยากรในพื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการผสมผสานรูปแบบพืชพันธุ์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไม้ยืนต้น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เป็นต้น ซึ่งแนวคิดวนเกษตรในประเทศไทยได้เข้ามาช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่พอสมควร และสุดท้ายจะเป็นการให้เงินลงทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า


    5. การกำจัดของเสียและการรีไซเคิล ในปัจจุบันก็มีโมเดลทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็น Circular economy ที่จะเป็นการลงทุนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ การลดของเสียในกระบวนการต่าง ๆ และการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการเพิ่มอายุการใช้งานของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ยาวนานที่สุดอีกด้วย เทคโนโลยีการนำของเสียให้กลับมาเป็นพลังงาน (waste-to-energy technologies) และเทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุมปริมาณมลพิษต่าง ๆ 


บทบาทของภาคเอกชน 
    ภาคเอกชนทั่วโลกในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการลงทุนสีเขียวผ่าน green bonds ของบริษัท Apple จำนวน 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 164,500 ล้านบาท (ซึ่งตลาดของ green bonds มีขนาดใหญ่มากและมีมูลค่าสูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อนำพลังงานสะอาดมาสู่ชุมชน และในช่วงปี 2020-2021 บริษัทApple ก็ได้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและการลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 20 โครงการ โดยผลลัพธ์จากโครงการทั้งหมดได้เข้าไปช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1 ล้านเมตริกตันต่อปีทั่วโลก ซึ่งเทียบได้กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์เกือบ 200,000 คันเลยทีเดียว และอีกตัวอย่างก็คือการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดต่าง ๆ และการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกของบริษัท General Motors (GM) ซึ่ง GM นั้นได้วางแผนไว้ว่าภายในปี 2040 การดำเนินการของทุกสาขาทั่วโลกจะเน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน กล่าวคือบริษัท GM นั้นจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ปล่อยเลย แต่จะปล่อยให้ไม่เกินเครดิตที่มี) รวมไปถึงเป้าหมายในการตัดท่อไอเสียออกสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กภายในปี 2035 และจะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าทดแทนทั้งหมด

 

บทบาทของภาครัฐ
    อย่างที่ทราบกันดีว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ถูกให้ความสำคัญจากภาครัฐในหลายประเทศมาเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งเราจะเห็นได้จากนโยบายต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่ออกมา อาทิเช่น ประเทศสวีเดนที่ได้ออกนโยบายที่มีชื่อว่า “Put a price on carbon” โดยจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางด้านภาษีให้กับธุรกิจ รถยนต์และเครื่องบินตามปริมาณที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดภาษีให้กับแรงงานและการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสีเขียวต่าง ๆ หรือนโยบาย “Ban the bulb” ที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศออสเตรเลียที่ได้มีการประกาศยกเลิกการจำหน่ายหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาในปี 2010 และประเทศแคนาดาในปี 2012 อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแบบ LEDs ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกนโยบายที่มีชื่อว่า “Tax credits for renewables” โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ tax credits กับประชาชนและธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้ รวมไปถึงนโยบาย Circular Economy Vision 2020 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ตลอดจน Zero Pollution Vision for 2050 ในกลุ่มประเทศยุโรป เป็นต้น


    ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลน่าจะต้องเน้นไปที่การสนับสนุนผ่านเครื่องมือที่รัฐมีไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเงินการคลัง อาทิเช่น การลดภาษีให้กับการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศของธุรกิจที่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งการลงทุนโดยงบประมาณของภาครัฐเองผ่านโครงการต่าง ๆ มากไปกว่านั้นกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนสีเขียวก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง McKinsey & Company (2022) ได้ระบุไว้ว่า หากเราต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เท่ากับศูนย์ (zero neutrality) ภายในปี 2050 นั้น จะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 125 – 275 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,375 – 9,625 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกยังคงต้องใช้ความพยายามกันอีกมากทั้งในเรื่องของงบประมาณและระยะเวลาที่จะไปถึงเป้าประสงค์ดังกล่าว 


    สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะฝากไปถึงภาครัฐของไทยว่า รัฐบาลควรที่จะกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและการพัฒนาในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนทั้งระยะสั้น กลาง และยาว มากไปกว่านั้นเราควรจะมีแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ชัดเจนให้สอดคล้องกับภารกิจหลักในการพัฒนาประเทศในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้นเราอาจจะสูญเสียโอกาสในหลายมิติจากการไม่สามารถลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญที่สุดในมุมมองผู้เขียนก็คือการปรับแก้ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันยุคทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการกำหนดกฎระเบียบและการปรับใช้อย่างจริงจัง แม้ว่าบางครั้งอาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มเสียประโยชน์ไปบ้าง แต่ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ดี ประเทศชาติได้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจจากสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว

บทความโดย อ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ