posttoday

อัพเดตข้อมูลการปรับลด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จริงหรือหลอก

29 พฤศจิกายน 2566

จากข่าวล่าสุดในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี

          จากข่าวล่าสุดในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567         

          โดยประกาศทางกฎหมายข้างต้นให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกเรียกเก็บที่ 6.3% ซึ่งต่ำกว่า 7% หรือเท่ากับ 7% อย่างที่เข้าใจหรือไม่ หรือบางข้อมูลบอกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอดีตอยู่ที่ 10% ซึ่งในวันนี้จะทำความรู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่ทุกคนต้องเสียจากการซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าไหร่กันแน่ ได้จากบทความดังต่อไปนี้  

Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) คืออะไรใครรู้บ้าง

          Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นภาษีที่เก็บจากการประกอบธุรกิจ โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐาน ภาษี(รายรับ) เกินกว่า1.8 ล้านบาทต่อปี

          ทั้งนี้ หากผู้มีรายได้ 2 ทาง กล่าวคือ มีรายได้จากงานประจำ คือได้รับเป็นเงินเดือนที่ทำอยู่ และมีรายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง ให้นำแค่รายได้จากการประกอบธุรกิจนอกเหนือจากเงินเดือนมาคิดคำนวณเท่านั้น

แนะแนวทางการคำนวณ Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)

          ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เมื่อมีผลประกอบการก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% โดยมีวิธีคำนวณดังนี้

          ฝั่งภาษีขาย เกิดขึ้นจากการได้เรียกเก็บหรือเรียกเก็บจากกผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อมีการขายสินค้าหรือรับค่าบริการ ตัวอย่างเช่น หากกิจการขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้า 400 บาท จะมีภาษีขาย 28 บาท ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดให้กิจการ 428 บาท ซึ่ง 28 บาท คือภาษีขายที่กิจการเก็บมาจากลูกค้าเพิ่มแทนกรมสรรพากร และ 28 บาทของภาษีซื้อ คือภาษีที่กิจการจ่ายให้กับกรมสรรพากรล่วงหน้า

          ฝั่งภาษีซื้อ จะเกิดขึ้นเมื่อเราจ่ายเงิน (ซื้อ หรือ ขาย) ตัวอย่างเช่น หากกิจการซื้อสินค้ามูลค่า 200 บาท กิจการจะมีภาษีซื้อ 14 บาท จำนวนเงินที่จะต้องเสียให้กับผู้ขายเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจด VAT กิจการจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด 214 บาท

          ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสีย ให้คำนวณจากการนำภาษีขายทั้งเดือนภาษีมาหักด้วยภาษีซื้อทั้งเดือนภาษีหากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ชำระภาษีส่วนต่างนั้น หากมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จะขอคืนภาษีส่วนต่างเป็นเงินสด หรือยกเครดิตภาษีไปในเดือนถัดไปก็ได้

การจด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

          -แบบคำขอที่ใช้ในการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.01

          -เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม เช่น คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ภาพถ่ายสัญญาเช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วน สามัญ หรือคณะบุคคล) หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป เป็นต้น

ลด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีจริงหรือ

          โดยปกติเราจะทราบว่าการเสีย Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ 7% แต่ต้องมาตกใจเมื่อเห็นประกาศล่าสุดที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ที่ให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เท่าเดิมที่อัตราร้อยละ 6.3 นั้น จนทำให้หลายคนสงสัยว่า 6.3% เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แล้วทำไมเรายังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% อยู่ โดยกรมสรรพากรได้อธิบายไว้ครั้งที่ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3 เมื่อปีพ.ศ.2535 โดยมีเนื้อความดังนี้

          “เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากอัตราร้อยละ 10.0 เป็นอัตราร้อยละ 6.3 ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ประกอบกับพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 เป็นต้นไป 

          มอบให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่น ในอัตรา 1 ใน 9  ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 6.3 บวกกับภาษีที่ต้องจัดสรรให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอีกในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ รวมเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นร้อยละ 7.0”

          โดยการจัดเก็บ Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่อดีตนั้น กฎหมายกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนไว้ จึงได้มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือร้อยละ 6.3 หรือ 6.3% แต่เรายังต้องเสียภาษีในส่วนของภาษีท้องถิ่นในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ จึงรวมเป็น 7% ปกติ

          กล่าวโดยสรุป ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วนที่รับภาระในการเสีย Vat ไว้เอง รวมถึงผู้บริโภคอุปโภคทั้งหลาย ทาง ครม. ยังคงตรึงอัตราไว้ที่ 7% เช่นเดิมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 วัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสนับสนุนการอุปโภคบริโภคหมุนเวียนภายในประเทศไทยนั่นเอง 

 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting