posttoday

LGBTQIA+ วางแผนการเงินอย่างไรให้มงลง!

18 กรกฎาคม 2566

โดยภาพใหญ่ LGBTQIA+ จะต้องวางแผนการเงินที่ไม่ต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่อาจมีบางรายละเอียดที่แตกต่าง ซึ่งควรรู้เพื่อจะทำให้การวางแผนทางการเงินในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

วางแผนให้ครบจบที่ 6 ด้าน

 

ภาพใหญ่ของการวางแผนทางการเงินมีด้วยกัน 6 ด้าน

ด้านแรก คือ ด้านสภาพคล่อง  คือ รับลบจ่าย หมายถึงรายรับลบกับรายจ่าย ผลที่ได้ออกมาเป็นอย่างไร  ถ้าบวกคือเราจะมีเงินเก็บออม ซึ่งสามารถนำไปทำอะไรต่อได้ แต่ถ้าติดลบ ก็เท่ากับว่าเรามีปัญหาสภาพทางการเงิน

ด้านที่สอง คือ ด้านหนี้สิน อาทิเช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน  ซึ่ง LGBTQIA+ จะมีข้อจำกัดในส่วนนี้ เช่น หากอยากจะกู้บ้านแบบกู้ร่วมสมัยก่อนคงทำไม่ได้ แต่ว่าในปัจจุบันบางธนาคารสามารถให้กู้ร่วมได้แล้ว แต่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้แก่ธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น เอกสารรับรองว่าอยู่ด้วยกันจริงๆ หรือในบางธนาคารจะต้องการให้ผู้กู้หลักมีรายรับขั้นต่ำที่สูงกว่า หรือมีการกำหนดรายรับขั้นต่ำสำหรับผู้กู้ร่วมทั้งสองคน เป็นต้น อย่างไรก็ตามก็ยังคงแต่ต้องรอตัวกฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องนี้  สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจึงครอบคลุมได้มากขึ้น

ด้านที่สาม คือ การป้องกันความเสี่ยง หมายรวมถึงความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ด้านสุขภาพ อย่างเช่น ความเสี่ยงทางโรคร้ายแรงต่างๆ ซึ่งอาจจะเตรียมพร้อมด้วยการการซื้อประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรง ตัวที่มีปัญหาของ LGBTQIA+ คือส่วนของประกันชีวิต ในกรณีที่จากไปก่อนวัยอันควร บางคนอยากจะส่งต่อค่าใช้จ่ายให้กับแฟนซึ่งเป็น LGBTQIA+ ด้วยกัน ในปัจจุบันทางบริษัทประกันชีวิตหลายบริษัททราบถึงความต้องการนี้ จึงมีการให้ระบุถึงผู้ได้รับผลประโยชน์ สามารถระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นคู่ชีวิตได้  แต่อาจจะมีการขอเอกสารเพิ่มเติมซึ่งต้องถามแต่ละบริษัทในรายละเอียด

ที่แตกต่างคืออาจจะมีการเตรียมเอกสาร มีการถามว่าสุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง แข็งแรงดีหรือไม่ ผ่าตัดแปลงเพศ หรือผ่าตัดอะไรมาหรือไม่?  ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทรับประกันในการพิจารณา หน้าที่ของผู้ทำประกันคือการแถลงความจริง สำหรับการผ่าตัดแปลงเพศมีส่วนในการพิจารณาแต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด และจะขึ้นอยู่ที่การดูแลรักษาตัวเองมากกว่า

ด้านที่สี่ คือเรื่องของภาษี ซึ่งไม่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น การประเมินค่าลดหย่อนต่างๆ  แต่ว่าอาจจะมีดีเทลบางส่วนที่แตกต่าง เช่น สามี-ภรรยา สามารถยื่นร่วมได้ ก็สามารถเอาค่าลดหย่อนของอีกฝั่งเป็นค่าลดหย่อนของเราได้ หากใครไม่ได้ทำงาน  แต่ว่าทาง LGBTQIA+ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนร่วมกันได้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของกฎหมายเช่นกัน

ด้านที่ห้า คือ การลงทุน โดยขั้นตอนไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป  แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของเป้าหมายมากกว่า เช่น บางทีฝั่ง LGBTQIA+ อาจะรู้สึกว่าไม่ต้องแต่งงานก็ได้ หรือไม่มีลูก ก็จะมีเป้าหมายการใช้เงินที่ต่างกัน แต่ว่ารายละเอียดการลงทุน ว่าสามารถลงทุนในอะไรบ้างจะเหมือนกับคนทั่วไป

ด้านที่หก คือ การเกษียณ ต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่ LGBTQIA+ อาจจะมีเปอร์เซนต์ที่จะมีบุตรน้อย บางคู่ต้องดูแลกันเอง บางคนอาจจะอยู่คนเดียว เราอาจจะต้องมีการพิจารณาการใช้บริการบ้านพักดูแลคนชราในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งก็ต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย

 

ข้อไหนสำคัญที่สุด? หากอยากให้การเงินมั่นคง

 

ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงมีอยู่ 2 ข้อคือ ข้อแรก ด้านสภาพคล่อง หากรับลบจ่าย เป็นลบ ตัวอื่นก็จะล้มตามไปด้วย  ข้อที่ 2 คือความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากมีปัญหาด้านสุขภาพ และมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ต้องดึงเงินส่วนอื่นมาใช้ ก็จะส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ เช่นกัน

ถ้าเกิดคนที่อยู่ในช่วงวัย 20-40 ปี ซึ่งมีระยะเวลาพอสมควรก่อนการเกษียณ ควรจะมีการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกิดการเก็บออมเงินที่เยอะขึ้นตามมา หากเรายิ่งเก็บเงินได้มากเท่าไหร่ มีความรู้ในการลงทุนด้วย ก็จะมีผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต และส่งผลต่อการใช้เงินออมน้อยลง

ส่วนคนในช่วงวัย 40-50 ปี จะไม่เน้นเรื่องการลงทุน เพราะมีปัจจัยด้านเวลามาเกี่ยวข้อง  ถ้าไม่เคยลงทุนเลยแต่อยากลงทุนตอน 40 จะมีความเสี่ยงมาก เช่น มีเงินเก็บ 10 ล้าน และอายุงานจะเกษียณแล้วแล้วนำเงินส่วนนั้นไปลงทุน แต่กลับเจอปีที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ เงินที่เก็บออมไว้มีโอกาสเสี่ยงที่จะหายสูง  ช่วงอายุ 40-60 ปี จึงเน้นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ การทำอาชีพเสริม หรือเตรียมตัวเรื่องอาชีพหลังเกษียณ

ส่วนคนในวัยหลังเกษียณ ที่ไม่เคยวางแผนการเงินเลย แล้วอยากจะเริ่มวางแผนอาจจะยากกว่าคนที่วางแผนล่วงหน้า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรต้องเริ่มคือการหางานหลังเกษียณทำหากมีเงินหลังเกษียณไม่พอใช้  อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่มีที่ดิน บ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆในครอบครอง หลังเกษียณจะสามารถทำอสังหาเหล่านั้นไปใช้โปรดักส์ของทางธนาคารที่เรียกว่า Reverse Mortgage คือ เป็นสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี ซึ่งธนาคารให้กู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยต้องนำที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระจำนองมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ และธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือนจนกว่าจะครบสัญญาหรือเสียชีวิต ทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของธนาคารต่อไป  … เพราะฉะนั้นก็กลับมาอีกว่าหากอายุเพิ่ง 30-40 ปีแล้วสามารถมีอสังหาริมทรัพย์เก็บไว้ก็จะมีทางเลือกสำหรับการเกษียณตรงนี้เพิ่มขึ้น

 

การวางแผนจัดการมรดกหลังเสียชีวิตของ LGBTQIA+

 

ในกรณีที่เราเสียชีวิต หากไม่มีการวางแผนจะเป็นไปตามกฎหมายมรดก คือ ทายาทลำดับแรกสุดจะได้รับมรดก ได้แก่ คู่สมรส ลูก พ่อและแม่ แต่ถ้าเป็น LGBTQIA+ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายมารองรับในเรื่องสถานะการเป็นคู่สมรส จะทำให้คู่รักไม่สามารถรับเงินในส่วนนี้ได้

เพราะฉะนั้นการวางแผนสำหรับ LGBTQIA+ จึงมีได้ในสองกรณีคือ การทำพินัยกรรม โดยเขียนพินัยกรรมขึ้นเพื่อมอบผลประโยชน์ให้แก่คู่รักของเรา และสองคือ การทำประกัน โดยคู่รักของเราจะได้ผลประโยชน์เฉพาะประกันฉบับดังกล่าวที่ระบุให้คนรักเป็นผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้อาจจะเร็วกว่าการมอบมรดก เพราะทางบริษัทประกันสามารถมอบให้เงินให้กับผู้รับผลประโยชน์ได้ภายในระยะเวลา 7 วัน

 

LGBTQIA+ วางแผนการเงินอย่างไรให้มงลง!

เกี่ยวกับผู้เขียน

พีรพัฒน์ อัตตะริยะ

นักวางแผนการเงิน CFP