posttoday

จ่ายภาษี AD ออนไลน์ หักค่าใช้จ่ายได้จริงหรือ

22 มีนาคม 2566

จากที่มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับ e-Service ที่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากการซื้อ AD ออนไลน์ เช่น Google Facebook Line@ Youtube Instagram เจ้าของธุรกิจที่ซื้อ AD ออนไลน์ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อ AD ออนไลน์เพิ่มขึ้น ลองมาศึกษาจากข้อมูลดังต่อไปนี้

     การแข่งขันในการประกอบอาชีพทำให้แม่ค้าพ่อค้าหรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการเข้าถึงได้ง่าย และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ถูกจุด เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ถึงข้อดีในตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะนำเสนอขาย หรือเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากนัก

     โดยในปัจจุบันรูปแบบการโฆษณามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เจ้าของธุรกิจมีรายจ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของธุรกิจ และตอนนี้มีการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ มากมาย ทำให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะโฆษณาผ่าน AD ออนไลน์กันมากขึ้น 

     และภายหลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับ e-Service ที่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากการซื้อ AD ออนไลน์ เช่น Google Facebook Line@ Youtube Instagram เป็นต้น จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าหรือเจ้าของธุรกิจที่ซื้อ AD ออนไลน์ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อ AD ออนไลน์เพิ่มขึ้น 

     ดังนั้นทางเจ้าของธุรกิจทั้งหลายเริ่มให้ความสนใจกับรายจ่ายในส่วนนี้ และอาจมีข้อสงสัยว่ารายจ่ายเหล่านี้สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือถ้าโดนหักภาษีไปแล้วสามารถได้คืนหรือไม่ ลองมาศึกษาหาคำตอบกันได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้ 
 

ผู้ประกอบการในรูปแบบบุคคลธรรมดา

     ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาหรือผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีรายจ่ายจากการซื้อ DA ออนไลน์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ 2 กรณี  

          แบบที่ 1 คือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ หากเจ้าของธุรกิจเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา จะไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อ AD ออนไลน์มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายนี้ถูกรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายที่หักแบบเหมาไปแล้วทั้งหมด 

          ส่วนแบบที่ 2 คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หากเจ้าของธุรกิจที่เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง สามารถนำค่าซื้อ AD ออนไลน์ที่จ่ายไปแล้ว มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ แต่จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจจริง พร้อมกับมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ชัดเจน โดยต้องระบุวัน เดือน ปี ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จำนวนเงิน รวมถึงชื่อผู้ซื้อ AD ออนไลน์ ซึ่งต้องเป็นชื่อเจ้าของธุรกิจ
 

ผู้ประกอบการในรูปแบบนิติบุคคล

     ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่มีรายจ่ายจากการซื้อ AD ออนไลน์สำหรับกิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ต้องมีหลักฐานการจ่ายค่า AD ออนไลน์ที่ยืนยันได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและเพื่อธุรกิจ หรือเป็นการจ่ายผ่านบัตรเครดิตในนามกิจการ จึงจะสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากการซื้อ AD ออนไลน์ได้ หรือต้องมีความชัดเจนในชื่อบัญชีที่เป็นผู้รับเงิน

     ในกรณีที่การซื้อ AD ออนไลน์นั้นเป็นการจ่ายเพื่อกิจการ ไม่ได้ถูกจ่ายผ่านบัตรเครดิตในนามกิจการ แต่ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับเป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามกิจการ ก็สามารถนำรายจ่ายนี้มาหักค่าใช้จ่ายของกิจการได้เช่นกัน
 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

     เมื่อเจ้าของธุรกิจมีการซื้อ AD ออนไลน์ ทำให้ผู้ให้บริการต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ AD ออนไลน์ และทางผู้ให้บริการจะออกใบกำกับภาษี เพื่อให้เจ้าของธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยสามารถนำไปใช้ได้ต่างกันดังนี้

     ในกรณีธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษีที่ได้รับจากการซื้อ AD ออนไลน์ จะไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักภาษีขาย เครดิตภาษีขาย หรือขอคืนภาษีได้

     แต่ในกรณีธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำใบกำกับภาษีไปใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ เช่น นำไปหักค่าใช้จ่าย หรือนำภาษีซื้อมาหักภาษีขาย เครดิตภาษี ตลอดจนขอคืนภาษีได้ แต่การขอคืนภาษีซื้อ กิจการจะต้องทราบว่าบริษัทที่จ่ายค่า AD ออนไลน์ไปนั้น เป็นบริษัทในประเทศไทยหรือต่างประเทศ หากซื้อ AD ออนไลน์จากบริษัทในประเทศไทย กิจการสามารถนำใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ได้รับจากผู้ให้บริการ ทำการยื่นขอคืนภาษีได้ตามปกติ 

     ส่วนการซื้อ AD ออนไลน์จากบริษัทต่างประเทศ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จ่ายเงินซื้อ AD ออนไลน์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยบริษัทต่างประเทศจะไม่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กิจการจะต้องทำการยื่น ภ.พ.36 ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่มีการจ่ายค่า AD ออนไลน์ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แทน แต่สามารถนำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้ได้ภายใน 6 เดือนถัดไป

ขั้นตอนและเอกสารที่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้

     เจ้าของกิจการที่ซื้อ AD ออนไลน์ จะสามารถนำรายจ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้เพื่อกำไรของธุรกิจ หรือเป็นรายจ่ายเพื่อมุ่งหวังยอดขายให้ธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าในประเทศ หลักฐานการจ่ายค่าโฆษณาต้องชัดเจน และมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ 

     ทั้งนี้จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ของวันที่ได้ทำการชำระเงินค่าบริการจริง และในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร เจ้าของธุรกิจต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยยื่นแบบ ภ.พ.36 และมีสิทธิ์นำใบกำกับภาษีซื้อมาขอคืนภาษีได้ 

     โดยเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย  ใบเสร็จหรือหลักฐานการจ่ายเงินที่เป็นชื่อเจ้าของบริษัท หรือชื่อบริษัท และแบบ ภ.พ. 36 

     ส่วนขั้นตอนการกรอกข้อมูล ผู้ประกอบการจะต้องกรอกข้อมูลผู้นำส่งภาษีให้ครบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลของเจ้าของกิจการและบริษัท และกรอกข้อมูลการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการให้ครบ พร้อมระบุเป็น ค่าโฆษณา สุดท้ายกรอกภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีสูตรคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กล่าวโดยสรุป ในทุกๆ กิจการถ้าหากมีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในรูปแบบใดก็ตาม ให้เจ้าของกิจการศึกษาช่องทางการหักค่าใช้จ่ายและการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันโลกออนไลน์หมุนไปไวมาก เจ้าของกิจการก็ต้องรู้ทันการจ่ายเพื่อให้ธุรกิจได้รับผลประโยชน์สูงสุดเช่นกัน 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Account