posttoday

ส่องทิศทางตลาดอสังหาฯ ยุคหลังโควิด – 19 จะเป็นอย่างไร?

24 มกราคม 2566

หลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มองว่าปีนี้ตลาดแนวราบจะแข่งเดือดขึ้น และให้จับตาโครงการใหม่ราคาขึ้น 5-10% ส่วนดีมานด์ก็คาดว่ายังสูงในทุกกลุ่ม

หลายปีที่ผ่านมาแม้เราอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก ภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ทุกคนก็เรียนรู้ที่จะปรับตัว และจับมือกันก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปด้วยกันอย่างเต็มความสามารถ แล้วตลาดอสังหาฯ จะมีทิศทางเป็นอย่างไรในวันที่เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกหลังโควิด-19 อย่างเต็มตัว

 

จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีสัญญาณบวกจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวทั้งกลุ่มคนไทยเที่ยวภายในประเทศ และกลุ่มต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย อาทิ นักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา เอเชีย และจากทั่วโลก 

 

ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านการแข่งขันในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยหลังโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดแนวราบ คาดว่าจะมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแล้ว 

 

ผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ได้เรียนรู้ ปรับตัว และเตรียมแผนรองรับความเปลี่ยนแปลงไว้อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่น่าจับตามองในปีนี้คงเป็นเรื่องของราคาโครงการที่อยู่อาศัยในราคาต้นทุนใหม่จำเป็นต้องปรับราคาขึ้น 5-10% จากปัจจัยในหลายๆ ด้าน อาทิ ค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 8% 

 

โดยดัชนีชี้วัดทิศทางตลาดอสังหาฯ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  มาตรการของรัฐที่ช่วยกระตุ้นการซื้อบ้าน นโยบายธนาคารในเรื่องดอกเบี้ย การปล่อยสินเชื่อ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภาพรวม ในแง่ของดีมานด์ปี 2566 คาดว่ายังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มตลาด Mass จนถึง Luxury 

 

ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่ และที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2565 อยู่ที่ 16.4 พันหน่วย และ 27.8 พันหน่วย ตามลำดับ แต่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อาจติดปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อ ส่วนที่อยู่อาศัยในกลุ่มราคา 5 - 10 ล้านบาทขึ้นไปเติบโตมากกว่า 

 

ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความแตกต่าง สร้างการรับรู้ถึงตัวตน และคุณค่าของสินค้าหรือบริการ เพราะที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ไม่ได้มีไว้เพียงแค่พักอาศัย แต่กลายเป็นพื้นที่ของการทำงานและใช้ชีวิต ดังนั้นผู้พัฒนาอสังหาฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย และสอดคล้องกับประสบการณ์ร่วมของแบรนด์ 

 

นอกจากเพื่อสร้างความแตกต่าง ยังเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์ ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโปรดักส์ให้มีคุณภาพ การบริการหลังการขายที่ดี เหล่านี้คือการสร้างโอกาสในการแข่งขันที่ทรงพลัง เช่นเดียวกับที่อารียา พรอพเพอร์ตี้ เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้คน หรือ “Lifestyle Property Developer" โดยยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม

 

โดย: วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการอาวุโส บมจ. อารียา พรอพเพอร์ตี้