posttoday

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสาม)

05 พฤษภาคม 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

ในการพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติแค่ไหนนั้น ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนรัชกาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453) จะพบความแตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆ

ด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีความ “อาวุโส” และ “ความเป็นผู้นำ” เพราะส่วนใหญ่ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็น “พระอนุชา” หรือไม่ก็เป็นเสนาบดีที่เคยเป็นผู้อยู่ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์มาก่อน อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นสมควรลงในตำแหน่งต่างๆ

ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วงต้นรัชกาล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน และมีความ “อาวุโส” กว่าพระองค์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางสามัญชน

ข้อความข้างต้นของผู้เขียนได้รับการยืนยันจากคำบรรยายในช่วงเปลี่ยนรัชกาล จากรัชกาลที่ห้าสู่รัชกาลที่หก โดยมีความดังต่อไปนี้

“….ในรัชกาลที่ 6 ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชัณษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ/ผู้เขียน) เป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษณ์ดั่งที่รู้กั้นอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน โดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายไว้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชกาลที่แล้วมา”

ในบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ห้า ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและดำรงตำแหน่งเสนาบดีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่สองพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ประสูติ พ.ศ. 2416) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ประสูติ พ.ศ. 2417)

กรมหลวงราชบุรีฯและกรมพระจันทบุรีทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วยอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในขณะนั้นคือ 18 ปี ดังปรากฎตามหลักฐานของมหาวิทยาลัย โดยให้ไล่ดูตามตัวอักษร S และดูคำว่า Siam

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสาม)

จะพบข้อความว่า “Siam, prince” อยู่สองรายการ

รายการแรกคือ Siam prince Kittiyakara Varalaksana of, born at Bangkok 8 June, 1873; IS. Chulalongkoa, king of Siam. Balliol matri. 1 May, 90 aged 16.

รายการที่สองคือ Siam prince Rabi Bahhanasakti of, born at Bangkok 1874; 2S. Chulalongkoa, king of Siam. Christchurch matri. 27 Oct. 91 aged 17.

Prince Kittiyakara Varalaksana คือ “กิติยากรวรลักษณ์” พระนามเดิมของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ และ Prince Rabi Bahhanasakti คือ รพีพัฒนศักดิ์ พระนามเดิมของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

กรมพระจันทบุรีฯทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดโดยสังกัดคณะเบล์เลียล (Balliol College) เป็นเจ้านายพระองค์ที่สองที่เข้าคณะนี้ได้ โดยก่อนหน้านี้ เจ้านายไทยพระองค์แรกที่สังกัดคณะเบล์เลียลน่าจะได้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ห้า ส่วนกรมหลวงราชบุรีฯทรงสังกัดคณะไครสต์เชิร์ช (Christchurch College)

ตามศักดิ์ศรีของคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คณะเบล์เลียลมีสถานะที่สูงและโดดเด่นกว่าคณะไครสต์เชิร์ช

กรมพระจันทบุรีฯทรงศึกษาที่คณะบูรพคดีศึกษา (Faculty of Oriental Studies) โดยศึกษาในสาขาวิชาบาลี สันสกฤต ส่วนกรมหลวงราชบุรีฯทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law) ทั้งสองพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2437

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบสาม)

      กรมหลวงราชบุรีฯ                        กรมพระจันทบุรีฯ                      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามแหล่งข้อมูลกล่าวว่า กรมหลวงราชบุรีฯทรงจบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม (Bachelor of Arts.Hons (B.A. (Oxon)) ส่วนกรมพระจันทบุรีฯ แหล่งข้อมูลกล่าวเพียงว่า “ได้ทรงศึกษาเสร็จจากวิทยาลัยเบล์เลียล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด”

การจบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ระบบเกียรตินิยมของมหาวิทยาลัยของอังกฤษจะประกอบไปด้วยสี่ระดับ คือ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือ the first class honours รองลงมาคือ the upper second class honours ต่อมาคือ lower second class honours และ the third class honours

คนที่จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจะมีพิเศษขึ้นไปอีกคือ นอกจากได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งแล้ว ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของสาขาหรือของคณะด้วย โดยจะมีสำนวนเรียกผู้ที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งและเป็นที่หนึ่งของสาขาหรือของคณะว่า double first ของไทยเราก็จะมีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง, อันดับหนึ่งเหรียญทองสาขา และอันดับหนึ่งเหรียญทองของคณะ คนที่ได้เหรียญทองของคณะย่อมต้องได้เหรียญทองของสาขาอยู่แล้ว

ส่วนเกียรตินิยมอันดับสองที่มีสองระดับ คือ upper กับ lower จะมีสำนวนเรียกสั้นๆว่า two-one กับ two-two และการที่อังกฤษมีเกียรตินิยมอันดับสาม จึงแตกต่างจากของไทยที่มีเพียงอันดับหนึ่งกับอันดับสองเท่านั้น

double first ถือว่ายากที่สุด รองลงมาคือ first class ซึ่งมีจำนวนน้อยคนที่จะได้ upper ก็ถือว่าเก่งและมีจำนวนน้อย ส่วน lower ถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ และ third จะน้อยลง และ pass จะน้อยมากจริงๆ

ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ จะห้อยท้ายหลังชื่อปริญญาด้วยคำว่า “Hons” เสมอ แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกว่า จบเกียรตินิยมระดับไหน ส่วนนักศึกษาที่จบด้วยคะแนนเพียงผ่าน (pass) จะไม่มีคำว่า Hons ห้อยท้าย

ขณะเดียวกัน การที่กรมพระจันทบุรีฯทรงเลือกศึกษาสาขาบาลี สันสกฤตที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พระองค์ก็ทรงมีพื้นฐานทางนี้มาก่อนตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองไทย

แม้ศักดิ์ศรีของคณะไครสต์เชิร์ชจะสู้เบล์เลียลไม่ได้ แต่กรมหลวงราชบุรีฯจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยม ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วยเช่นกัน โดยสังกัดคณะเดียวกันกับกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นคือ ไครสต์เชิร์ช (Christchurch College) แต่จะต่างจากกรมหลวงราชบุรีฯและกรมพระจันทบุรีฯ ตรงที่พระองค์ไม่สำเร็จการศึกษา อีกทั้งกรมหลวงราชบุรีฯและกรมพระจันทบุรีฯยังมีพระชันษาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภพ พ.ศ. 2424) 8 และ 7 ปีตามลำดับ

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้เงื่อนไขใหม่ หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้น โดยยังไม่มีกฎมณเทียรบาล เงื่อนไขใหม่ที่ว่านี้มาแทนที่หลัก “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่เริ่มขึ้นในครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์และต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ นั่นคือ ได้รับ “การยอมรับและยกให้เสวยราชสมบัติ” โดยเหล่าขุนนางเสนาบดีผู้ใหญ่ มหาเถระและพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เงื่อนไขใหม่คือการเสวยราชย์โดยพระราชโอรสพระองค์ใหญ่

ในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้เงื่อนไขทั้งหลายที่กล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงมีภาวะผู้นำอย่างยิ่ง

(แหล่งข้อมูล: สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ https://rabi.coj.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/154426 ; กรมพระจันทบุรี (เมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ) มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม2559)

****************