posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (๒๗)

09 เมษายน 2565

โดย... ทวี สุรฤทธิกุล

**************************

ความรักของ “พ่อเปรม” กับ “แม่พลอย” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด การเมืองไทยก็ไม่ได้ราบรื่นฉันนั้น

การที่พลเอกเปรมกลับมาง้อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ เป็นสัญญาณว่า ฐานะในกองทัพของพลเอกเปรมเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะตั้งแต่ที่ทหารมีการแตกคอกันหลังเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย เมื่อตอนต้นเดือนเมษายน ๒๕๒๔ ทำให้พลเอกเปรมต้องหันมาพึ่งพรรคการเมือง แต่พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม ก็มาขัดขากันเสียอีกในกรณีแย่งกันสั่งซื้อน้ำมัน หรือกรณี “เทเล็กซ์อัปยศ” ในกลางปี ๒๕๒๔ นั้น กระทั่งพรรคกิจสังคมต้องถูกเขี่ยออกไป แต่ก็กลับมาร่วมรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว

แต่กระนั้นชะตากรรมของพลเอกเปรมก็อยู่ในฐานะสั่นคลอนมาโดยตลอด ทั้งการถูกลอบสังหารในค่ายทหารที่ลพบุรี การลดค่าเงินบาทใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ต้องแตกคอกับพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นายทหารที่คอยดูแลกองทัพให้รัฐบาล และการรัฐประหารในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๙ ที่แม้ว่าจะล้มเหลว แต่ก็แสดงถึงความมั่นคงที่เคยมีมานั้นกำลังสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาลก็มีปัญหาระหว่างกันไม่หยุด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการแตกกลุ่มกันออกไปในปี ๒๕๒๙ นั้นด้วย และกลุ่มที่แตกออกไปก็ทำท่าจะหันมาแว้งกัดนายกรัฐมนตรี ทำให้พลเอกเปรมต้องยุบสภาและปรับกระบวนทัพในพรรคร่วมรัฐบาลเสียใหม่

แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่จบสิ้น ที่สุดก็เกิดกระบวนการ “เบื่อป๋า” อันเนื่องมาจากการวางตัว “หนีปัญหา” ของพลเอกเปรม อย่างที่เรียกว่า “ลอยตัว” อยู่ให้ไกลความขัดแย้ง แล้วปล่อยให้คนที่สร้างปัญหาแก้ปัญหากันเอง ทั้งปัญหาในกองทัพและในรัฐบาล ที่สุดในปลายปี ๒๕๓๐ ก็ได้มีคณะนักวิชาการ ๙๙ คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึก เรียกว่า “ฎีกา ๙๙ นักวิชาการ” เพราะมีจุดมุ่งหมายที่จะถวาบคำกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้ทรงทราบถึงปัญหาของบ้านเมือง และต้องการให้พลเอกเปรมวางมือออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสีย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พลเอกเปรมได้ประกาศยุบสภาในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๑ จากนั้นก็มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งพลเอกเปรมก็ได้ประกาศที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคำพูดที่ว่า “ผมพอแล้ว”

ในช่วงเวลาที่พลเอกเปรมกำลังโต้มรสุมการเมืองอยู่อย่างหนักนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ทำหน้าที่เป็น “เสาค้ำยัน” ให้กับรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง ทั้งการตอบโต้กับกลุ่มทหารที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในกองทัพ โดยทหารกลุ่มนี้ได้เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาเปรซิเดียม ที่เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ที่ทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล ที่ในรัสเซียเรียกว่า “โปลิตบูโร” นั่นอีกชั้นหนึ่ง ด้วยบทความซอยสวนพลูที่ทรงอิทธิพลของท่าน ในประโยคที่ลือลั่นว่า “กูไม่กลัวมึง” รวมทั้งที่ได้ปกป้องพลเอกเปรมจากกรณีการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในคืนลอยกระทง พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งก็พอดีกับที่ภาพยนตร์เรื่อง “โอชิน” ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวีรกรรมการต่อสู้ชีวิตของหญิงญี่ปุ่นได้ออกอากาศในช่วงนั้นพอดี ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “โอชิน” นั้นด้วย รวมถึงฉายา “เสาหลักประชาธิปไตย” ที่สื่อมวลชนตั้งให้ อันเนื่องด้วยการพยายามประคับประคองให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมั่นคงและอยู่รอด

ทว่าความรักใด ๆ ก็เหมือนกันทุกที่ เมื่อแรกรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ครั้นอยู่ไปนาน ๆ แม้แต่อ้อยที่ว่าแสนหวานก็กลายเป็นบอระเพ็ดอันเข็ดขม คือแม้ว่าพรรคกิจสังคมและท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะได้รับเกียรติจากพลเอกเปรมค่อนข้างมาก แต่การเมืองแบบ “ลูกป๋า” ที่รัฐมนตรีจากภาคใต้และ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ อาศัยความสัมพันธ์แบบ “ภูมิภาคนิยม” กอบโกยเอาความดีความชอบไปมากกว่าใคร ๆ ในขณะที่พรรคกิจสังคมโดยเฉพาะตัวหัวหน้าพรรค คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น รู้สึกว่าหลาย ๆ ครั้งก็ถูกข้ามหัวไป ดังนั้นเมื่อเกิดกรณี “ฎีกา ๙๙ นักวิชาการ” ขึ้น ในตอนต้นปี ๒๕๓๑ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ดูเหมือนว่าจะเอาด้วย

ตอนนั้นผมได้รับโทรศัพท์จากท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ว่าอยากจะขอเข้าพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ทั้งนี้ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ก็มีความสนิทสนมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่พอควร โดยเคยอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุด พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ มาด้วยกัน และก็เคยไปมาหาสู่เข้าออกบ้านสวนพลูอยู่บ้าง นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นอีกด้วย และขณะนั้นผมก็ได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้วด้วย ดังนั้นผมจึงได้นัดหมายให้ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ได้เข้ามาพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์โดยเร็ว

ในวันที่นัดหมาย ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ได้มาพร้อมกับนักวิชาการอีก ๒ ท่าน โดยที่ผมก็นั่งอยู่ร่วมโต๊ะสนทนานั้นด้วย ทำให้ได้ทราบว่าเรื่องของการถวายฎีกาในครั้งนั้นมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน เพราะได้มีเรื่องอารมณ์ “เบื่อป๋า” ของผู้คนในสังคมไทยในตอนนี้นออกมาเป็นระยะ รวมถึงที่เป็นปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวอยู่ในสื่อมวลชนต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว นั่นก็คือเรื่องที่ว่ารัฐบาลมีปัญหาในการควบคุม ส.ส. และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แต่ที่รุนแรงกว่านั้นก็คือปัญหาภายในกองทัพ ที่มีความขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังข้อความในฎีกาฉบับนั้นกล่าวถึงสาเหตุของปัญหาในบ้านเมืองไว้ว่า

“ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น”

ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์และคณะกลับไปแล้ว ดูเหมือนว่าท่าจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ท่านได้บอกผมและลูกศิษย์อีก ๒ คนที่มาขอรับประทานอาหารเย็นกับท่านในวันนั้นว่า “ไปหาอาหารฝรั่งเศสกินกันดีกว่า” ซึ่งก็คือที่ร้าน Charlies’ Kitchen ที่อยู่ริมคลองสาธร เพียงแค่ข้ามไปอีกฟากของถนนสาธร ใกล้ปากทางถนนคอนคอนแวนต์ ไม่ไกลจากบ้านสวนพลูนั้น

หลังอาหารมื้ออร่อย ท่านขอให้ทางร้านเปิดแชมเปญมาดื่มกับผลสตอร์เบอรี่สด ๆ ราดครีมและน้ำตาลผง เหมือนจะฉลองอะไรบางอย่าง ?