posttoday

ตำนานสุนทราภรณ์ (4)

01 กุมภาพันธ์ 2565

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************

เหตุปัจจัยที่ทำให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ยิ่งใหญ่และยืนยงมายาวนาน ได้กล่าวไปแล้ว 6 ประการ จะได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยดังกล่าวต่อไป

ประการที่เจ็ด เรื่องความรัก ซึ่งครูเอื้อ มีประสบการณ์ความรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เพราะเป็นทั้ง “รักต่างชนชั้น” และ “รักต่างวัย” นั่นคือ คุณอาภรณ์ กรรณสูต ที่ครูเอื้อหมายปองตั้งแต่วัยหนุ่ม อายุ 23 ปี เป็นลูกสาวพระยาสุนทรบุรี

ขณะที่ครูเอื้อเป็นเด็กบ้านนอกจากอัมพวาและมีสถานะของ “คนเต้นกิน รำกิน” เพราะมีอาชีพเป็น “เพียง” “นักดนตรี” ที่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเคยเรียกไปพบแล้วบอกว่า “เป็นอธิบดีฉันยังไม่ให้เลยคุณ” (น. 158) และฝ่ายหญิงก็ยัง “เด็กมาก” อายุเพียง 13 ปี เท่านั้น ยังเป็นนักเรียนโรงเรียน ขัตติยานีผดุง และต่อมาเข้าเป็นนักศึกษาเตรียมธรรมศาสตร์ มีหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่มารุมจีบมากมาย ทั้งนักเรียนญี่ปุ่น ทหาร นักเรียนนอก และนักศึกษาธรรมศาสตร์ (น.153) แต่ครูเอื้อมุ่งมั่น ใช้ความมานะพยายามมากมาย จนเกิดตำนานเพลง “บ้านเรือนเคียงกัน” และอื่นๆ เช่น “เพลงยอดดวงใจ” ที่มีเนื้อร้องซึ่งคนแต่งได้สะท้อนความในใจของครูเอื้อ เช่น “ดวงใจคนดี ที่ฉันห่วง โศกรุมเร้าทรวงหน่วงเหนี่ยว ดวงใจที่ฉันชื่นชม กลมเกลียว ฉันฝากรักเธอคนเดียว คนอื่นไม่เหลียว ไม่แล ปองรักก็แต่ดวงใจ ...”

ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ประทับใจคุณอาภรณ์มากที่สุด (เล่ม 3 น.225) เพราะ “... เป็นเพลงที่ครูเอื้อแต่งให้กับดิฉัน สมัยที่เริ่มรักกัน ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. 2485 เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะจับใจ อาจเป็นเพราะเพลงนี้ ที่ทำให้ดิฉันมีความประทับใจในตัวครูเอื้อ และได้แต่งงานกับครูเอื้อในอีก 4 ปี ต่อมา” (เล่ม 4 น.377)

พยานสำคัญที่ยืนยันว่าคุณอาภรณ์ อยู่ใน “หัวใจ” ของครูเอื้อเสมอ คือ เมื่อครั้งครูเอื้อนำวงดนตรีไปเล่นที่โรงภาพยนตร์โอเดียน แล้วจำเป็นต้องตั้งชื่อวงใหม่เพื่อมิให้เป็นปัญหากับวงของ “ทางราชการ” คือ วงของ “กรมประชาสัมพันธ์” เมื่อ พ.ศ. 2486 ครูเอื้อ ก็คิดเสนอชื่อโดยนำคำแรกของนามสกุลบวกกับชื่อคุณอาภรณ์ จนเป็นชื่อ “สุนทราภรณ์” (น.498) และใช้ตลอดมา ก่อนจะได้แต่งงานกันอีก 3 ปีต่อมา

โดยในที่สุด ทั้งคู่ได้เข้าพิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งขณะนั้นวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุได้ราว 6 ปีครึ่งแล้ว

ความสมหวังในรักที่ไขว่คว้าและรอคอยมายาวนาน ย่อมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้ครูเอื้อสร้างทั้งครอบครัว และวงดนตรีสุนทราภรณ์มาได้ด้วยดีอย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับบุรุษที่ยิ่งใหญ่มาแล้วมากมาย เช่น ลีโอ ตอลสตอย นักประพันธ์เอกของโลก ก็สร้างวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่ คือ “สงครามและสันติภาพ” หลังจากผ่านชีวิตวัยหนุ่มอันโชกโชนจนมาตกหลุมรัก สาวน้อยต่างวัย เมื่อ พ.ศ. 2405 โดยตอลสตอยเป็น “หนุ่มใหญ่” อายุ 34 ปี ขณะที่เจ้าสาวอายุเพียง 18 ห่างกันถึง 16 ปี

ตอลสตอยใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องสงครามและสันติภาพเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2408 “ใช้เวลาห้าปีเขียนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกขัดจังหวะ” และทำด้วยความอุตสาหะภายใต้สภาพของชีวิตที่ดีที่สุด

สภาพของชีวิตที่ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เขาแต่งงานกับโซเฟีย อองเดรเยฟนา เมอร์ส ซึ่งมาจากครอบครัวชั้นสูงได้ 3 ปี 15 ปีแรกของชีวิตแต่งงานเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุดของตอลสตอย เขาอุทิศตัวให้กับชีวิตสมรสและครอบครัว โดยมีลูกถึง 13 คน ช่วงที่เขียน “สงครามและสันติภาพ” นั้น ตอลสตอยนับว่ามีความเข้าใจโลก ชีวิต ความรัก และสงคราม ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง โดยเขามีประสบการณ์จริงของสงครามจากการได้ไปเป็นอาสาสมัครในหน่วยทหารที่คอเคซัสตั้งแต่เมื่ออายุได้ 23 ปี ย้ายไปรบที่เซวัสโตโปลในสงครามไครเมีย เมื่ออายุ 26 ปี และลาออกจากกองทัพเมื่ออายุได้ 29 ปี

ตอลสตอยเกิดเมื่อสงครามระหว่างรัสเซียกับนโปเลียนผ่านไปแล้ว 15 ปี เมื่อเริ่มเขียนสงครามและสันติภาพ เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 52 ปี แต่ยังมีคนที่ผ่านสงครามจำนวนไม่น้อยที่ยังมีชีวิตอยู่ ตอลสตอยมีโอกาส “ทบทวนวรรณกรรม” จำนวนมาก เพราะเขามีความสามารถ อ่าน เขียน และพูดได้หลายภาษา ได้พบปะพูดคุยกับผู้ผ่านเหตุการณ์โดยตรงจำนวนมาก และได้ไปดูสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริงหลายแห่ง ฉากสงครามและชีวิตผู้คนจึงโดดเด่นอยู่ในสมองของตอลสตอย

ในเรื่องความรัก ชีวิตรักอันหวานชื่น ทำให้ตอลสตอยสามารถเขียนเรื่องความรักของตัวละครหลายคนได้อย่างลึกซึ้ง และงดงาม

บุคคลสำคัญที่จะขอกล่าวถึงอีกท่านหนึ่ง คือ อัลเบิต ไอน์สไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลกที่นิตยสารไทม์เลือกให้เป็น “บุรุษแห่งศตวรรษที่ 20” (Man of 20th Century)

ช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์ที่สุดของไอน์สไตน์ คือ ปี ค.ศ. 1905 ซึ่งถือว่าเป็น “ปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์” เพราะสามารถตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ “เปลี่ยนโลก” ได้ถึง 4 เรื่องในปีนั้น เมื่ออายุได้เพียง 29 ปี ซึ่งรวมทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะ และสมการ E=mc2

ไอน์สไตน์มีสัมพันธ์รักกับเพื่อนสาวชื่อมิเลวา มาริก ตั้งแต่จบการศึกษาจากวิทยาลัยโพลีเทคนิคในปี ค.ศ. 1900 และได้ลูกสาวชื่อลีเซิร์ล เมื่อปี 1901 แต่เธอพิการหรือป่วยหนัก ก่อนจะถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวหนึ่งและเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ ไอน์สไตน์แต่งงานกับมาริก เมื่อปี 1903 และปี 1905 ฮานส์ลูกชายก็เกิด สตีเฟน ฮอว์กิง อัจฉริยะทางฟิสิกส์ในยุคปัจจุบันเขียนถึงไอน์สไตน์ว่าช่วงนั้น

“เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของไอน์สไตน์ เพื่อนบ้านจำได้ว่ามักจะเห็นคุณพ่อวัยหนุ่มเข็นรถลูกอย่างใจลอยไปตามถนนในเมือง และบ่อยๆ ที่ไอน์สไตน์จะก้มลงไปหยิบแผ่นกระดาษเพื่อจดบันทึกบางอย่าง เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าแผ่นกระดาษจดบันทึกในรถเข็นเด็กนั้นเป็นสูตรและสมการ ที่ต่อมากลายเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพ...”

ไอน์สไตน์ กับครูเอื้อ เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือ ไวโอลิน ไอนสไตน์เริ่มฝึกไวโอลินตั้งแต่เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ และไวโอลินก็กลายเป็นชีวิตจิตใจตลอดชั่วชีวิตของเขา

แน่นอนว่า มันสมองอันล้ำเลิศ เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในงานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และศิลปะ แต่เบื้องหลังความสำเร็จจำนวนมาก คือ รักที่สมหวัง

คุณอาภรณ์ นอกจากเป็น “ดวงใจ” ของครูเอื้อแล้ว ยังเป็นคู่ชีวิตที่เป็น “หลักชีวิต” ให้แก่ครูเอื้อด้วย ดังกรณีที่ครูเอื้อกับมิตรรุ่นน้องคือคุณไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ เจ้าของวงดนตรี “คีตะวัฒน์” ที่มีเรื่องที่ทำท่าจะ “ผิดใจ” กันคุณไพบูลย์ ไปขอพบเพื่อชี้แจงถึงบ้าน แต่ครูเอื้อไม่ยอมลงไปคุยด้วย ก็ได้คุณอาภรณ์ขึ้นไป “อ้อนวอนแกมบังคับ” ทำให้ครูเอื้อยอมลงมาคุยด้วย (เล่ม 2 หน้า 93) จนเข้าใจกันและเป็นมิตรที่ดีต่อกันสืบมา

*******************************