posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (9)

04 ธันวาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************

“Humor is the dictator killer. - อารมณ์ขันคือผู้ฆ่าเผด็จการ”

ช่วงที่ผมเริ่มทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว. ปราโมช คึกฤทธิ์ใน พ.ศ.2520การเมืองไทยอยู่ในยุคเผด็จการของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหุ่นเชิดของทหาร แรก ๆ บ้านเมืองก็ดูสงบเรียบร้อยดีอย่างที่ทหารต้องการ แม้กระทั่งบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายก็ดูสงบเสงี่ยมเจียมตัวตามสมควร แต่พออยู่มาได้สักระยะก็เริ่ม “ออกลาย”

บางคนออกหนังสือพิมพ์เชียร์รัฐบาลออกมาแข่งกับเอกชน ชื่อ “เจ้าพระยา” ที่ออกไปในแนวแสดงความใหญ่โตโชว์กล้ามตามชื่อ ข่มขู่ผู้คนที่เห็นต่างกับรัฐบาล บางคนก็คิดสร้างเสาธงที่สูงที่สุดในประเทศไทย และบางคนก็เที่ยวเดินสาย “ขายฮา” เหมือนตลกเชิญยิ้ม ขายไอเดียพิสดารต่าง ๆ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำมาเขียนหยอกล้อ จนที่ที่สุดแม้แต่ทหารที่นายกรัฐมนตรีท่านบอกว่าเป็นเปลือกหอย คอยปกป้องรัฐบาลที่เป็นเนื้อหอยอยู่นั้นก็ทนไม่ได้ ต้องเชิญรัฐบาล “คณะหอยเชิญยิ้ม” นั้นออกไป

เรื่องการใช้อารมณ์ขันสู้กับเผด็จการนี้ น่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้รับมาตั้งแต่ที่ไปเรียนในประเทศอังกฤษ (อีกตัวอย่างหนึ่งคือพระจริยวัตรของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่ทรงไปเรียนยังประเทศอังกฤษ ก็โปรดการใช้พระอารมณ์ขันในการสอนวิชาการบ้านการเมืองในสมัยก่อนเช่นกัน เช่น มีการเขียนภาพล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ และการเล่นสนุก ๆ ในการจำลองกิจกรรมทางการเมืองที่ทรงริเริ่มในสมัยนั้น ที่ชื่อว่า “เมืองดุสิตธานี”

ท่านที่สนใจสามารถไปชมได้ที่วังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่มีชมรมคนรักวังดูแลอยู่ เขามีการนำชม ที่ได้รับทั้งความสนุกสนานและความรู้ดีมาก) ซึ่งการล้อเลียนเสียดสีกันและกันในทางสาธารณะถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะบรรดาคนดัง นักการเมือง ไปจนถึงพระราชวงศ์และองค์สมเด็จพระราชินีนาถ และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำวัฒนธรรมเช่นนั้นมาใช้ในการทำงานหนังสือพิมพ์ ควบคู่กันกับการทำงานการเมืองได้เป็นอย่างดี

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งคือเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะได้ใช้การเขียนคอลัมน์ของท่านทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงโรงพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ที่ท่านได้ตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้นมา ที่ว่าท่าน “เลี้ยงโรงพิมพ์” ก็เพราะในหนังสือพิมพ์ยุคเริ่มต้นที่มีเพียง 2 แผ่น พับครึ่ง จำนวน 8 หน้า ท่านต้องเขียนทุกหน้า ตั้งแต่พาดหัวข่าวในหน้าแรก บทนำในหน้าต่อมา คอลัมน์ต่าง ๆ จนถึงหน้าสุดท้าย ตั้งแต่การวิเคราะห์ข่าว การท่องเที่ยว อาหารการกิน เรื่องปกิณกะสัพเพเหระ ไปจนถึงบทกวีและเรื่องขำขัน จึงเป็นการทำงานที่หนักมาก แต่ท่านก็มีความสุขมากเช่นกัน เพราะในช่วงนั้นการเมืองของประเทศไทยก็มีเรื่องที่ให้ชวนทำอะไรสนุก ๆ อยู่ทุกวันเช่นกัน ตอนนั้นรัฐบาลก็เป็นทหาร ทหารควบคุม

ทุกอย่างในประเทศ อย่างเช่นที่ส่งลูกเขยของหัวหน้าคณะปฏิวัติไปเป็นอธิบดีตำรวจ มีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กระนั้นคนหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นก็พยายามหาหนทางที่จะแสดงสิทธิเสรีภาพเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ทำก็คือ พาดหัวข่าวให้ดูขำๆ เขียนข่าวตลก ๆ และใช้การเทียบเคียงเสียดสีล้อเลียน เป็นต้น

ที่จดจำกันได้ในสมัยนั้น ก็เช่นพาดหัวข่าวว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก หรือเขียนข่าวเรื่องนกกระจอกที่สนามหลวงยกพวกตีกัน และหน้าต่างกระทรวงกลาโหมข้างศาลหลักเมืองนั้นมีหน้าต่างกี่บาน เป็นต้น รวมถึงเขียนนิยายและเรื่องสั้นล้อเลียนนักการเมือง ที่โด่งดังมาก ๆ ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คือเรื่อง “โจโฉนายกตลอดกาล” ที่ล้อเลียนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อย่างสุดแสบสันต์

ในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์สยามรัฐถูกปิดหลายครั้ง ภาษาสมัยนั้นเรียกว่า “ล่ามโซ่” คือเมื่อมีการแจ้งข้อหาแก่โรงพิมพ์นั้นแล้ว ตำรวจก็จะเอาโซ่เหล็กขนาดพอประมาณไปพันล่ามล้อมที่แท่นพิมพ์ แล้วใส่กุญแจมัดล็อคไว้ เมื่อพ้นกำหนดโทษ เช่น สั่งปิด 3 วัน หรือ 7 วันแล้ว ตำรวจก็ไปไขกุญแจและเอาโซ่นั้นออก ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาททูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คือตอนนั้นประเทศไทยได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500ที่กล่าวกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรก”

โดยรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ทูตสหรัฐคนนั้นไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นด้วย แล้วหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวกันว่าทูตสหรัฐชื่นชมการเลือกตั้งครั้งนั่นว่าเรียบร้อยดี แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เอามาเขียนในคอลัมน์ของท่านในประโยคหนึ่งว่า “อ้อ เพราะคบกันกับกุ๊ยมะริกันนี่เอง” เลยถูกฟ้องถึงขั้นต้องขึ้นศาล โดยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งตัวเองเป็นทนายแก้ต่างให้กับตนเอง

ซึ่งการต่อสู้ในศาลนั้น อัยการได้แถลงว่าท่านอาจารยคึกฤทธิ์ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย คือคำว่า “กุ๊ย” อันถือว่าเป็นการดูหมิ่นตัวแทนประมุขของต่างประเทศ คือทูตของสหรัฐอเมริกา ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นแก้ต่างว่า คำว่ากุ๊ยนี้ไม่หยาบคาย มาจากภาษาจีน แปลว่า “ผี” และคนไทยก็ไม่ถือว่าหยาบคาย ข้าวต้มที่กินกันตามร้านข้างถนนก็เรียกว่า “ข้าวต้มกุ๊ย” แต่การดำเนินคดีก็ไปไม่ถึงที่สุด เพราะก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่นัดไว้ ก็มี “คำสั่ง” จาก “ท่านผู้นำ” ให้ถอนฟ้อง คดีจึงเป็นอันปิดลง

เรื่องที่จอมพล ป.ให้ถอนฟ้องท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เล่าให้พวกผมที่เป็น “เด็กใต้ถุนบ้าน” ฟังว่า คงเป็นเพราะความสนิทสนมส่วนตัวที่ท่านกับจอมพล ป.มีมาด้วยกันแต่ก่อนนั้น คือพรรคประชาธิปัตย์ที่มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นเลขาธิการพรรค ได้เคยเป็น “หนังหน้าไฟ” รับเป็นรัฐบาลให้ทหารอยู่ช่วงหนึ่งในภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

และรัฐบาลต่อมาของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เป็นนอมินีของนายปรีดี ไม่สามารถคลายความสงสัยให้แก่สาธารณชนในเรื่องการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนนั่นได้ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้ร่วมเป็นรัฐบาลภายหลังการรัฐประหารนั้นด้วย แม้ว่าทหารจะปลดนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “หุ่นไล่กา” ในอี ก4 เดือนต่อมา

แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้เป็นรัฐมนตรีอีก แม้จะไม่มีคนอื่น ๆ ในพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมเป็นรัฐบาลก็ตาม ก็แสดงถึงความ “เอ็นดู” ของจอมพล ป.ที่มีต่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์โดยแท้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าในตอนที่ถูกฟ้องเรื่องหมิ่นทูตนั้น ได้มีนายตำรวจแอบมากระซิบบอกท่านว่า ถ้าท่านติดคุกก็ไม่ต้องห่วง เพราะท่านผู้นำได้สั่งให้ดูแลท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอย่างดี ห้องขังก็ต้องสะอาดและสะดวกสบาย เสียดายที่ไม่ได้ใช้บริการใน “น้ำใจอันประเสริฐ” นั้น

ผมเคยอ่านที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บรรยายเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย มีประโยคหนึ่งท่านพูดว่า “ระบอบประชาธิปไตยนั้นก็เหมือนการชกมวยสากล เขามีกติกามารยาทตกลงกันไว้เรียบร้อย ทุกคนต้องต่อสู้ไปตามกติกานั้น ซึ่งเขาจะไม่ชกกันให้ถึงตาย เมื่อคู่ต่อสู้จนมุมหรือไม่มีทางสู้แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องถอยออกมา แล้วให้โอกาสอีกฝ่ายนั้นได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กันใหม่”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่เคยฆ่าทหารให้ตาย เพียงแต่เอาคมปากกาเฉือนเนื้อและใช้สำนวนตลกขบขันเป็นทิงเจอร์รถราดให้แสบร้อน เพราะว่าทหารที่คนทั้งหลายเห็นว่า “ขึงขังแข็งแรง องอาจมาดดี” นั้น ถ้าทำให้เป็นตัวตลกเสีย ก็อาจจะตายไปจากความรู้สึกของผู้คนนั้นได้ในที่สุด ตอนนี้ยิ่งเป็นยุคดิจิตอล การทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำกันได้ง่ายและหลากหลาย ก็อย่าลืมติดตามชม “คลิปชุด 3 ป.” ไปเรื่อย ๆ นะครับ รู้สึกจะมีหลายค่ายหลายเวอร์ชั่น เพียงแต่ต้องคอยดูว่าอย่าทำให้พี่น้อง 3 ป.นั่นขึ้งโกรธ เอาแค่เบา ๆ ล้อเลียนแค่แสบ ๆ คัน ๆ พอเป็นกระสายให้มีความรื่นรมย์ในเวลาที่โควิดปิดบ้านเมืองอยู่ในทุกวันนี้

พี่ใหญ่ 3 ป.พูดเมื่อวันก่อนว่า “ความตายเท่านั้นที่จะพรากพวกเรา(พี่น้อง 3 ป.)ได้” เราจึงควรสร้างอารมณ์ขันกันเข้าไว้ จะได้อายุยืนอยู่กับพี่น้อง 3 ป.ไปนาน ๆ

******************************