posttoday

เฮ็นรี คิสซินเจอร์กับยีน ชาร์ป

27 พฤศจิกายน 2563

โดย...รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

*********************

พวกเราคนสอนจะรู้กันดีว่า การสอนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะเตรียมเนื้อหาคำบรรยายล่วงหน้าได้ประมาณหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อชั้นเรียนดำเนินไป บางทีคำถามของคนเรียน หรือข้อเสนอที่ได้จากกลุ่มอภิปราย จะพาการเรียนเปลี่ยนประเด็นต่อออกไปได้อีกหลายทาง ไม่เป็นไปอย่างที่คนสอนเตรียมมา เมื่อเป็นแบบนั้น คนสอนก็จะสนุกขึ้นมาก เพราะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดจากคำถาม หรือจากการอภิปรายของคนเรียน ช่วยพาเขาออกจากการต้องพูดในเรื่องที่เขาคิดว่ารู้ มาสู่การหาคำตอบในเรื่องที่เขาไม่ได้คิดไว้ หรือพาให้เขาเห็นอะไรแตกต่างออกไป

ในชั้นเรียนของผมเมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นแบบนั้น การเรียนวันนั้น เราเรียนเกี่ยวกับวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์การต่างประเทศของมหาอำนาจในงาน WORLD ORDER ของเฮ็นรี คิสซินเจอร์ (2014) ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของคิสซินเจอร์ที่เราอ่านพบในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เขาเป็นกังวลมากขึ้นในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มาจากกรอบคำถามสำคัญๆ ที่เขาใช้พิจารณาในการคิดทางเลือกสำหรับวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ผมคิดว่ากรอบคำถามทางยุทธศาสตร์ของคิสซินเจอร์ช่วยเฟรมข้อเสนอและใช้ประเมินทางเลือกยุทธศาสตร์ได้ดีทีเดียว ไม่เฉพาะแต่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และทีมต่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ก็คงจะนำไปใช้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ชั้นเรียนวันนั้นของเราจึงเริ่มต้นด้วยการพิจารณากรอบคำถามสำหรับวางยุทธศาสตร์ของคิสซินเจอร์ ซึ่งผมขอเรียบเรียงมาวางไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ

ยุทธศาสตร์กำหนดโดยเป้าหมาย คนสายยุทธศาสตร์จะรู้กันดีในข้อนี้ คิสซินเจอร์คิดเป้าหมายยุทธศาสตร์จากตำแหน่งมหาอำนาจของสหรัฐฯ ดังนั้นเขาจึงไม่ได้มองเพียงระดับการรักษาผลประโยชน์เฉพาะของสหรัฐฯ แบบแคบๆ แต่เขาเลือกกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ สัมพันธ์กับการสร้างและรักษาระเบียบโลก

เป้าหมายนี้จึงเป็นการมุ่งนำคุณค่าที่สหรัฐฯ ยึดถือเป็นอุดมคติและใช้นิยามตัวตนอุดมคติของสหรัฐฯ ไปวางไว้เป็นอุดมคติของระเบียบโลกด้วย และสหรัฐฯ จะผลักดันให้การดำเนินการของรัฐกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐดำเนินไปตามแบบแผนที่คุณค่าเหล่านี้รับรอง และให้สะท้อนถึงการรับและให้การยอมรับคุณค่าที่สหรัฐฯ ยึดถือเหล่านี้

ในการเสนอให้สหรัฐฯ กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์โลกไว้ที่การนำคุณค่าที่สหรัฐฯ ยึดถือและใช้นิยามตัวตนอุดมคติของตนเองไปเป็นหลักการของการจัดและรักษาระเบียบโลกให้สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านั้น เป็นเพราะ คิสซินเจอร์ รู้ดีว่าการครองสถานะผู้นำและการใช้อำนาจต่อคนอื่นๆ มิได้อาศัยแต่เฉพาะส่วนที่เป็นกำลังบังคับ ความมั่งคั่ง หรือทรัพยากรขีดความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้ เช่น ความรู้และเทคนิควิทยาการ เท่านั้น แต่การนำและการใช้อำนาจการนำคนอื่นๆ ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการปกครองภายในจำเป็นต้องมีความชอบธรรมอยู่ด้วยเสมอ ความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปในระเบียบโลกที่มีแต่อำนาจล้วนๆ ไม่อาจเป็นไปโดยราบรื่น ถ้าระเบียบนั้นปราศจากการได้รับการยอมรับในความชอบธรรม

แต่คิสซินเจอร์ก็เสนอด้วยว่า มิใช่ว่าการแข่งขันอำนาจ การขยายและใช้อิทธิพลของฝ่ายหนึ่งเหนือฝ่ายอื่นๆ และความขัดแย้งระหว่างกันจะหมดไปจากการเมืองระหว่างประเทศ แต่ระเบียบโลกที่มีความชอบธรรมจะช่วยตีวงความขัดแย้ง วางขอบเขตการแข่งขัน และจำกัดการท้าทายหรือผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในพิสัยของระเบียบที่มีหลักการและคุณค่ารากฐานยืนเป็นหลักให้ความชอบธรรมอยู่

ในการคิดเกี่ยวกับการสร้างระเบียบสำหรับการเมืองระหว่างประเทศ คิสซินเจอร์จึงพิจารณาทั้ง power และ legitimacy ควบคู่กัน และโดยเหตุที่เขาเห็นว่าความชอบธรรมหรือ legitimacy ของระเบียบโลกมาจากคุณค่าและหลักการที่ได้รับการยอมรับทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน คุณค่าและหลักการอันเป็นสากล การให้ความหมายในทางปฏิบัติ และการวางวิถีปฏิบัติตามคุณค่าเหล่านี้ ยังเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งอยู่มาก มิใช่ว่าเมื่อสหรัฐฯ เสนอว่าหลักการและคุณค่าของตนเป็นสากลแล้ว คนในตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือจีนและเอเชียใต้ จะเห็นพ้องกับความหมายและวิถีปฏิบัติเหล่านั้นด้วยเสมอ

ดังนั้น คิสซินเจอร์จึงรู้ว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการสร้างและรักษาระเบียบโลกให้สอดคล้องกับคุณค่าที่สหรัฐฯ ยึดถือ ย่อมพบแรงเสียดทาน และได้รับการต่อต้านจากประเทศอื่น ในภูมิภาคอื่นๆ ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

เพราะไม่เพียงแต่ประเทศเทศมหาอำนาจอย่างจีน หรือผู้คนจำนวนมากในตะวันออกกลางจะยึดถือหลักการและคุณค่าที่พวกเขาก็เห็นว่ามีความเป็นสากลเหมือนกัน แต่เป็นคุณค่าและหลักการที่ให้ตัวตนอุดมคติแตกต่างจากความหมายที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอย่างฝรั่งเศสยึดถือ จีนและผู้คนจำนวนมากในพื้นที่หลายส่วนของโลกย่อมไม่เห็นพ้องและคงยังไม่ยอมรับโดยง่ายแน่ ที่จะให้สหรัฐฯ นำเอาคุณค่าความหมายตามแนวทางที่พัฒนามาในสังคมของสหรัฐฯ หรือจากแสงสว่างทางปัญญาที่พุ่งออกมาจากสังคมฝรั่งเศส ดัชท์ หรืออังกฤษสก็อตแลนด์ มาเป็นหลักการวางระเบียบโลกและกำหนดความหมายตัวตนอุดมคติให้แก่คนทั้งหมด นอกจากนั้น พวกเขาคงเห็นเยอรมนีของคิสซินเจอร์ หรือเห็นญี่ปุ่นที่กลายเป็นตะวันตกในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยความทรงจำรำลึกหลายแบบอยู่

แต่ประเด็นความสำคัญของหลักการที่ให้ความชอบธรรมแก่ระเบียบโลกของคิสซินเจอร์ยังอยู่ที่บทบาทที่เขาเสนอว่า คุณค่าและหลักการที่ให้ความชอบธรรมจะเป็นรากฐานในการวางกฎเกณฑ์กติกาอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันขึ้นมานิยาม กำหนด และจำกัดการใช้อำนาจรัฐให้อยู่ในเขตพิสัยอันเหมาะสม

ดังนั้น แม้หลักการหรือความหมายของคุณค่าอันพึงประสงค์ทั้งหลายอาจเห็นแตกต่างกัน แต่คิสซินเจอร์เห็นว่าคนทั้งหลายไม่ว่าในสมัยใดจะเห็นตรงกันในความจำเป็นที่จะต้องมีและต้องหากรอบอะไรบางอย่างมาจำกัดการใช้อำนาจปกครอง

ด้วยเหตุนี้ ในการดำเนินยุทธศาสตร์โลก สหรัฐฯ จึงมิอาจคิดแต่เฉพาะสนามยุทธศาสตร์ในทางด้านภูมิรัฐศาสตร์กับการถ่วงดุลอำนาจที่เน้นอำนาจทางวัตถุ แต่ยังมีอีกสนามหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือสนามที่คิสซินเจอร์เรียกว่าสนามทางปรัชญา ที่สหรัฐฯ จะต้องเข้าไปผลักดันหลักการและคุณค่าตามความหมายที่สหรัฐฯ ยึดถือ โดยใช้ความเห็นที่คนทั้งหลายในทุกหนแห่งจะเห็นตรงกันได้มาเป็นช่องทางที่จะสอดหลักการและคุณค่าตามการตั้งค่ากำหนดของสหรัฐฯ เข้ามา นั่นคือการเห็นความจำเป็นที่การใช้อำนาจรัฐต้องมีหลักการมาจำกัด

แต่พร้อมกันนั้น คิสซินเจอร์ก็เตือนให้นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ รู้จำกัดในการผลักดันคุณค่าหลักการของตนไปบังคับคนอื่นๆ และประเทศอื่นๆ ให้เปลี่ยนมาคิดมาเชื่อตามการตั้งค่ากำหนดความหมายของสหรัฐฯ เช่นกัน ในบริบทนี้ คิสซินเจอร์เผยความคิดส่วนที่เป็นอนุรักษนิยมออกมา เขายก Edmund Burke มาเตือนใจนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ว่า การผลักดันคุณค่าในระเบียบโลกให้เป็นไปตามหลักนิยมของสหรัฐฯ นั้น คิสซินเจอร์ว่า “จะเป็นการดีแก่สหรัฐฯ มากกว่าถ้ารู้รับฟังเบิร์กที่แนะให้ ‘acquiesce in some qualified plan that does not come up to the full perfection of the abstract idea, than to push for the more perfect,’ และเสี่ยงวิกฤต หรือความรู้สึกผิดหวังเมื่อพบว่าความจริงกับสิ่งที่คิดไว้นั้นมันไม่เหมือนกันจากการที่เร่งจะให้ได้สูงสุดอย่างที่ต้องการในทันที”

ต่อจากนั้น คิสซินเจอร์ก็เสนอกรอบคำถามสำหรับคนวางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ว่าในการผลักดันยุทธศาสตร์การสร้างและรักษาระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 คนคิดยุทธศาสตร์ต้องเตรียมตอบคำถามต่อไปนี้ให้ดี ผมขอถือโอกาสนี้แปลคำถามของเขามาลงไว้ให้พิจารณาด้วย

* อะไรคือสิ่งที่เราต้องป้องกันรักษาไว้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาอย่างไร และถึงคราวจำเป็น ถ้าจะต้องทำโดยลำพัง ก็ต้องทำ? คำตอบต่อคำถามข้อนี้จะเป็นสิ่งกำหนดสิ่งที่สังคมยึดถือเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำของการอยู่รอดที่คงสังคมนั้นไว้ได้

*อะไรคือสิ่งที่เรามุ่งหมายต้องการทำให้สำเร็จ แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากฝ่ายอื่นๆ เลยก็ตาม? ความมุ่งหมายเหล่านี้จะเป็นสิ่งนิยามเป้าหมายขั้นต่ำของยุทธศาสตร์

*อะไรคือสิ่งที่เรามุ่งหมายต้องการทำให้สำเร็จ หรืออยากป้องกันรักษาไว้ ถ้าหากความพยายามนั้นได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากพันธมิตร? สิ่งนี้จะเป็นตัวนิยามความมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ของประเทศนั้นอย่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกว่าควรมีขีดจำกัดวงไว้ที่ไหน

*อะไรคือสิ่งที่เราไม่ควรเข้าไปยุ่ง แม้ว่าจะได้รับเสียงเรียกร้องและการกระตุ้นจากฝ่ายอื่นๆ หรือจากพันธมิตรของเราเอง? ส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยกำหนดว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการโลกนั้นควรจำกัดเงื่อนไขไว้ที่ไหน

*และเหนือสิ่งอื่นใด อะไรคือลักษณะพื้นฐานของคุณค่าที่เราต้องการผลักดันส่งเสริมให้ขยายออกไป? และการผลักดันให้เกิดผลด้านใดบ้างที่ส่วนหนึ่งจะต้องพิจารณาความเหมาะสมจากสถานการณ์มาประกอบด้วย?

คำถามทางยุทธศาสตร์เหล่านี้ คิสซินเจอร์ว่าอย่าถามอย่าตอบแต่เฉพาะฝั่งของเรา ให้คิดว่าฝ่ายอื่นประเทศอื่นจะตอบคำถามทางยุทธศาสตร์เหล่านี้อย่างไร

******************

การอภิปรายในชั้นต่อจากนี้พลิกไปหาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำหรับส่งเสริมคุณค่าที่นิยามตัวตนอุดมคติของสหรัฐฯ เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นิสิตเห็นว่า การส่งเสริมคุณค่าจากภายนอกแบบยัดเยียดเข้ามานั้นคงไม่ได้ผลแน่ แต่น่าจะมีวิธีอื่นๆ ที่ทำให้คนในอยากได้และเรียกร้องต่อสู้เพื่อคุณค่าเหล่านี้เอง คิสซินเจอร์ก็คงรู้จากประสบการณ์ของเขาเองว่าแบบไหนที่สหรัฐฯ ทำมาแล้วไม่ได้ผล และแบบไหนที่จะได้ผล และวงกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ก็น่าจะรู้กันดีอยู่ คิสซินเจอร์จึงละไว้ได้ ไม่ต้องพูดออกมาให้ชัด

ความเห็นของนิสิตตรงนี้เองที่ทำให้คนสอนนึกถึงพลังทางยุทธศาสตร์ที่รักษาความได้เปรียบของสหรัฐฯ เหนือฝ่ายตรงข้ามขึ้นมา พราะนอกจากคิสซินเจอร์ สหรัฐฯยังมียีน ชาร์ป