posttoday

กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU จะกอบกู้ให้ยุโรปฟื้นตัวได้จริงหรือ?

11 กันยายน 2563

คอลัมน์ เข็มทิศนักลงทุน โดย...กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ แต่หนึ่งในมาตรการที่มีคนจับตาเยอะที่สุด คือ กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรของสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศสมาชิก

ทำไมมาตรการนี้ถึงกลายเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ของยุโรปไปได้?

นั่นเป็นเพราะโครงการมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถือเป็น 5.4% ของ GDP สหภาพยุโรป ซึ่งขนาดของโครงการนี้ทำให้งบประมาณของยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 4 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังเป็นการกู้ร่วมครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสมาชิกอียู (EU) 27 ประเทศ และกลายเป็นความหวังเชิงบวกให้กับผู้ลงทุนทั่วโลก ทำให้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดต่างขานรับการบรรลุข้อตกลงนี้และซื้อขายกันอย่างคึกคักในระยะสั้นๆ

สำหรับการปล่อยกู้นั้น ผู้นำ EU ตกลงที่จะให้คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กู้ยืมเงินจากตลาด 7.5 แสนล้านยูโรผ่านการออกตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือเงินให้เปล่า 3.90 แสนล้านยูโรเพื่อให้แก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด และส่วนที่ 2 คือปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 3.60 แสนล้านยูโร โดยประเทศสมาชิกนั้นๆจะต้องได้รับการอนุมัติด้านคุณสมบัติจากรัฐบาลของกลุ่ม EU ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและข้อตกลงที่สรุปกันในที่ประชุม ได้แก่ ประเทศที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นดิจิทัล มีแผนการสร้างงานและการเพิ่มความยืดหยุ่นทางสังคมและเศรษฐกิจ และต้องเชื่อมโยงกับคำแนะนำรายปีของ EC หากรัฐบาลของ EU เห็นว่าแผนการใดๆมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถบรรลุผลที่น่าพอใจได้ ก็จะสามารถเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำ EU เปิดการอภิปรายภายในระยะเวลา 3 เดือนได้ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเงินที่ได้ไปจะถูกติดตามและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในส่วนของการจ่ายคืนเงินกู้ 7.5 แสนล้านนี้ จะทำผ่านการเก็บภาษีในรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ เช่น ประเทศสมาชิก EU จะต้องจ่ายภาษีพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และต้องนำส่งภาษีให้กับกองคลัง EU เป็นต้น แต่การเก็บภาษีนี้จะเกิดขึ้นในอีก 38 ปีข้างหน้า จึงทำให้ประเทศที่ได้เงินไปมีเวลามากพอที่จะฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองอย่างเต็มที่ รวมถึงมีเวลาวางแผนและเตรียมตัวในการจ่ายหนี้คืนเช่นกัน

จากมาตรการกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU สู่ความแข็งแกร่งในระยะยาว

บลจ.กสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU เนื่องจาก มองว่าโครงการมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเป็นโครงการระยะยาว ตลอดจนมีการลงทุนในโปรเจกต์ที่มีโอกาสต่อยอดไปได้เรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกลุ่มประเทศที่ต้องการเงินทุนอีกด้วย คาดว่ามาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประเทศที่รวยกว่าและประเทศที่จนกว่าจะลดลง ซึ่งคาดว่ากองทุนฟื้นฟูนี้จะช่วยยกระดับ GDP ของยูโรโซนได้ 0.02% ในปี 2025

การจะลงทุนในยุโรปหลังจากนี้จึงมีความน่าสนใจมาก เพราะยุโรปไม่ได้มีแค่มาตรการนี้เพียงมาตรการเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีมาตรการต่างๆมากมายที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ซึ่งจะช่วยหนุนสภาพคล่องในระบบ ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นยุโรป เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับที่ดี (ซื้อ/ขายที่ระดับถูกกว่าหุ้นสหรัฐฯ) ในขณะที่ราคาหุ้นในหลายภูมิภาคได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่แพงหลังจากฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของปีนี้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและเริ่มมี Upside จำกัด อีกทั้ง Earning growth ที่ยังเติบโตได้อยู่ และด้วยมาตรการหนุนต่างๆ จะทำให้หุ้นขนาดใหญ่ได้ประโยชน์จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า

สำหรับผู้ลงทุนที่มองเห็นทิศทางการเติบโตของหุ้นยุโรปและสามารถรับความผันผวนได้สูง บลจ.กสิกรไทย ขอแนะนำกองทุนเปิด K European Equity Fund (K-EUROPE) ที่ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Allianz Europe Equity Growth, Class AT-EUR บริหารโดย Allianz Global Investors บลจ.ชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์การลงทุนในหุ้นยุโรปและสร้างผลการดำเนินงานได้อย่างโดดเด่น โดยกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) โดยเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีความแข็งแกร่งต่อภาวะตลาดที่ผันผวน จึงเหมาะกับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว นอกจากนี้ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ก็สามารถลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ผ่าน กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KEURMF) ได้เช่นกัน ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KAsset Contact Center 02-673-3888