posttoday

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่หนึ่ง)

18 มิถุนายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองการปกครองสวีเดนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ลงหลักปักฐานในรัชสมัยของ Charles XI (ครองราชย์ ค.ศ. 1660-1697) โดยนับ ค.ศ. 1608 เป็นหมุดหมายของการเริ่มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนักวิชาการก็เห็นพ้องต้องกันอีกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนสิ้นสุดลงไปปี ค.ศ. 1718 ดังนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนจึงมีอายุขัยเพียง 38 ปีเท่านั้น ดังนั้น นักวิชาการไทยที่เคยบอกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปล้วนมีอายุอานามเป็นศตวรรษหรือสองศตวรรษ คงลืมหรือข้ามสวีเดนไป

สาเหตุที่นักวิชาการไทยกล่าวว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุโรปมีอายุเป็นร้อยหรือสองร้อยปีถึงจะอวสาน ก็เพราะต้องการจะบอกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้นมีอายุสั้นมาก โดยส่วนใหญ่นักวิชาการไทยจะเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐไทยเข้าสู่การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ห้าและสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่เจ็ด จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ดังนั้น ถ้าเริ่มนับตั้งแต่รัชกาลที่ห้าปฏิรูประบบราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นหมุดหมายของการเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็มีอายุเพียง 40 ปีเท่านั้น แต่ถ้าเทียบกับสวีเดนก็ดูจะพอๆกัน

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่หนึ่ง)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบเอ็ด ผู้สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การสิ้นสุดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ใครๆก็ทราบดีว่าเกิดจากการที่คณะราษฎรทำการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ จะเรียกว่าปฏิวัติหรือรัฐประหารก็คงแล้วแต่ว่าใครจะนิยามปฏิวัติหรือรัฐประหารกันอย่างไร แต่ของสวีเดน สาเหตุของการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกจะแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของสวีเดน ค.ศ. 1718 การทำสงครามเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สงครามที่ว่านี้คือ “มหาสงครามทางเหนือ” (the Great Northern War) ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1700-1721 อันเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันภายใต้การนำของรัสเซียทำสงครามกับสวีเดน และฝ่ายต่อต้านสวีเดนประสบความสำเร็จในการท้าทายจักรวรรดิสวีเดนที่ครองอำนาจสูงสุดเหนือยุโรปกลาง เหนือและตะวันออก

โดยประเทศที่รวมตัวกันโค่นจักรวรรดิสวีเดน อาทิ รัสเซีย เดนมาร์ก-นอร์เวย์ โปแลนด์-ลิทัวเนีย บริเตนใหญ่ ฯ และการตัดสินใจทำสงครามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นอยู่กับเอกบุคคลผู้เป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้นและไม่มีผู้ใดจะทัดทานได้ แต่จากการรวมตัวกันของหลายประเทศภายใต้การนำของรัสเซีย การตัดสินใจเข้าสู่มหาสงครามทางเหนือของสวีเดนนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงและทะเยอทะยานอย่างยิ่ง และพระมหากษัตริย์ผู้ตัดสินใจนำสวีเดนเข้าสู่สงครามดังกล่าวคือ Charles XII (ครองราชย์ ค.ศ. 1697-1718)

พระมหากษัตริย์สวีเดนผู้ทรงเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่และไม่สนพระทัยในชีวิตสมรสหรือความเพลิดเพลินในกามสุขต่างๆตามที่ผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์จะทรงสามารถเรียกหาได้ แต่ตลอดชีวิตของ Charles XII พระองค์ทรงมุ่งมั่นกับการทำสงครามเพื่อความยิ่งใหญ่ของสวีเดน ในการเข้ามหาสงครามทางเหนือ พระองค์ทรงต้องการจะบูรณาการและขยายความเป็นจักรวรรดิของสวีเดนออกไป จนมีผู้กล่าวว่า พระองค์ทรงปรารถนาจะให้คาบสมุทรบอลติก (the Baltic) เป็นทะเลสาบของสวีเดน

แต่ผลลัพธ์กลับลงเอยด้วยความหายนะอย่างใหญ่หลวง สวีเดนต้องสูญเสียผู้คนไปถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด เศรษฐกิจต้องย่อยยับต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ สูญเสียดินแดนในแถบทะเลบอลติกไปทั้งหมดยกเว้นฟินแลนด์ และเมื่อ Charles XII เสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1718 การพ่ายแพ้สงครามของสวีเดนได้นำมาซึ่งความหน่ายแหนงต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหา กษัตริย์ทรงพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจพาประเทศเข้าสู่สงคราม ระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์สวีเดนจึงตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมลงอย่างถึงที่สุด ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่จะสืบราชสันตติวงศ์ด้วย

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่หนึ่ง)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบสอง

จากข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า เงื่อนไขของการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนมีสาเหตุสองประการสำคัญ นั่นคือ

หนึ่ง การสั่งสมปัญหาความไม่พอใจที่มีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงปกครองอย่างอำเภอใจและมีความทารุณโหดร้าย แม้ว่าในรัชสมัยของ Charles XI ที่สวีเดนได้เข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระองค์จะทรงได้รับความนิยมจากประชาชน อีกทั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของพระองค์ยังให้ความสำคัญกับระบบสภาอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้นก็มีพระมหากษัตริย์ในช่วงที่การปกครองสวีเดนกำลังพัฒนาไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์อย่าง Erik XIV (ครองราชย์ ค.ศ. 1560-1568) ได้ทรงปกครองโดยใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจและทารุณโหดร้าย ทำให้ผู้คนเกิดความไม่พอใจองค์พระมหากษัตริย์และรวมทั้งการปกครองในรัชสมัยของพระองค์ และเมื่อสวีเดนเข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ Charles XII

แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอย่าง Erik แต่จากความพยายามทำสงครามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อรักษาและขยายความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิสวีเดน ทำให้พระองค์นำสวีเดนเข้าสู่สงครามตลอดเวลาสองทศวรรษ อีกทั้งการทำสงครามดังกล่าวนี้ในที่สุดก็ลงเอยด้วยความล้มเหลว นำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย ตลอดจนการสูญเสียประชากรเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสามของประชากร นั่นคือ จากสามล้านเหลือสองล้านคน ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มหน่ายแหนง

แต่แม้ว่า ชาวสวีเดนจะยังคงความนิยมยกย่องในความเป็นวีรบุรุษและคุณธรรมความกล้าหาญขององค์พระมหากษัตริย์อยู่ แต่ตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กลายเป็นระบอบที่ไม่พึงปรารถนาของผู้คนสวีเดนอีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายถึงความต้องการที่จะปฏิเสธสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งกระแสต่อต้านเอกาธิปไตย (autocracy) ที่กดทับอยู่ได้เช่นกัน

สอง การที่ Charles XII สิ้นพระชนม์ในสงครามอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1718 และไม่มีองค์รัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์ เงื่อนไขประการที่สองนี้ถือว่าเป็นความบังเอิญที่โชคร้ายอย่างยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดน แต่กลับเป็นความบังเอิญที่โชคดีสำหรับพวกอภิชนที่ถูกกดทับภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลา 38 ปี เพราะหาก Charles XII ไม่ได้ทรงสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันและ/หรือทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ก็จะไม่มีปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์

ถึงแม้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเสื่อมความนิยมก็ตาม เพราะการสืบราชสันตติวงศ์ก็จะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1680 ที่เน้นการสืบสายโลหิตเท่านั้น และสภาฐานันดร (สภาสวีเดนในขณะนั้น เป็นสภาที่มีตัวแทนของฐานันดรทั้งสี่เข้าร่วมประชุม อันได้แก่ ฐานันดรอภิชน นักบวช พ่อค้าคนเมืองและชาวนา และสวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยเป็นทาสและสามารถก่อตัวเป็นฐานันดรที่มีสิทธิ์มีเสียงในสภา) จะไม่มีอำนาจอันชอบธรรมอะไรที่จะมาแทรกแซงหรือต่อรองในการขึ้นครองราชย์ขององค์รัชทายาท

แต่เมื่อ Charles XII ทรงไม่มีองค์รัชทายาท ทำให้อำนาจในการพิจารณาผู้สืบราชสันตติวงศ์กลับมาอยู่ที่สภาฐานันดรตามกฎหมายและจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนที่กล่าวได้ว่า เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1319 ที่การต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กันภายในสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ จนเหลือแต่ Magnus Eriksson พระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์มาก สถาบันพระมหากษัตริย์ถดถอยอ่อนแอ ทำให้สภาหรือพวกอภิชนในขณะนั้นมีอำนาจในการวางเงื่อนไขในการขึ้นครองราชย์ของยุวกษัตริย์ในขณะนั้น อีกทั้งยังต้องมีการจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อดูแลบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลานาน ทำให้อำนาจของพวกอภิชนเติบโตขึ้นอย่างมากมาย

เงื่อนไขที่กล่าวมานี้ถือเป็นเงื่อนไขที่พิเศษยิ่งและยากที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆในการเมืองการปกครองที่ใดก็ตาม ไม่จำเพาะแต่สวีเดนที่ผู้คนไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และขณะเดียวกันที่พระมหา กษัตริย์ทรงเสด็จสวรรคตกะทันหันโดยไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา และแน่นอนว่า ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ สภาฐานันดรแห่งอาณาจักรจึงต้องรีบฉกฉวยที่จะยืนยันและฟื้นคืนอำนาจของตนกลับคืนมา

สภาฐานันดรใช้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร ? และใครคือผู้สืบราชสันตติวงศ์ ในเมื่อ Charles XII ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ? และระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นตามมาเป็นระบอบอะไร ? โปรดติดตามได้ในตอนต่อไป